รู้จักความหมายที่ซ่อนอยู่ของ “กาสะลอง” ของคนล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ก๋าสะลอง”

กาสะลองคือดอกปีบ

วิถีล้านนาโบราณนิยมปลูกกาสะลองไว้เพื่อความสวยงาม เพื่อเก็บดอกสีขาวเอาไว้ถวายพระ ทั้งยังใช้กาสะลองเป็นยามาช้านาน

สำหรับสรรพคุณทางยา ทุกวันนี้เรารู้ว่ามีสารไฟโตนิวเตรียนต์หลายตัวในดอกปีบ เช่น ฮีสปิฟูลิน เมื่อเอาดอกแห้งมาสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม หรือสกัดด้วยน้ำ ปรากฏว่ามีฤทธิ์ขยายหลอดลม

ซึ่งน่าสนใจ เพราะไปตรงกับที่หมอโบราณนิยมเอาดอกปีบแห้งมาเคล้ากับยาเส้นมามวนเป็นบุหรี่สูบ ช่วยทำให้หายใจคล่องขึ้น

นอกจากนี้ ยังใช้รากมาทำยาบำรุงปอดและรักษาวัณโรคอีกด้วย

ในแง่ของความเชื่อและศรัทธา คนล้านนานิยมเอาดอกกาสะลองมาบูชาพระในพิธีสวดเทศน์มหาชาติที่เรียกว่าการ “ตั้งธรรมหลวง” ในช่วงประเพณียี่เป็ง โดยนำเอาไม้ไผ่ขัดแตะจำนวนสองแผ่นกระหนาบดอกกาสะลองไว้เป็นแผง แขวนไว้รอบๆ ธรรมาสน์ อันมีที่มาจากคัมภีร์ “ทุติยมาลัย” ตอนที่พระมาลัยสอบถามพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า หากคนเราอยากเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า สมควรต้องทำบุญอย่างไร

พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ให้ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดก อันประดับด้วยคาถาพันหนึ่งภายในวันเดียว พร้อมกับบูชาด้วยประทีปพันดวง ดอกบัวพันหนึ่ง นิลุบลพันหนึ่ง ดอกผักตบพันหนึ่ง ดอกกาสะลองพันหนึ่ง ช่อพันผืนและข้าวพันก้อน”

หมายความว่า ขณะฟังเทศน์มหาชาติให้ตั้งใจฟัง พร้อมกับจุดประทีปพันดวง บูชาด้วยดอกบัว ดอกบัวสาย ดอกผักตบ ดอกกาสะลองอย่างละพันดอก ปักธงสามเหลี่ยมเล็กๆ พันหนึ่ง และถวายข้าวเหนียวพันก้อน

ดังนั้น คนล้านนาจึงนิยมใช้ดอกกาสะลองบูชาพระโดยเฉพาะในการฟังเทศน์มหาชาติดังกล่าว

นอกจากนี้ คนล้านนายังเล่าสืบต่อกันมาว่า ดอกกาสะลองเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่า ใช้บูชาพระแม่ธรณี เนื่องจากเมื่อหล่นลงมาเกลื่อนพื้นจึงจะมีกลิ่นหอม ถือกันว่าดอกกาสะลองนี่แหละคือดอกปาริชาต ดอกไม้จากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลิ่นหอมเย็นจรุงใจไปทั้งแผ่นดิน กระทั่งสวรรค์ชั้นพรหม ตลอดจนยมโลก

ในวาระขึ้นปีใหม่อันเป็นมงคลดิถี สมาชิกชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอส่งคร่าวปีใหม่กาสะลองมาอวยพรผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้