การศึกษา / ฝ่าวิกฤตโควิด งาน ‘ศาสนา-วัฒนธรรม’ จับตาปี 2564 จะรุ่ง หรือร่วง??

การศึกษา

 

ฝ่าวิกฤตโควิด งาน ‘ศาสนา-วัฒนธรรม’

จับตาปี 2564 จะรุ่ง หรือร่วง??

 

เปิดศักราชใหม่ 2564 ตอนรับปีฉลู พร้อมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ย้อนดูผลงานกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ภายใต้การกุมบังเหียนของ รมต.ติ๊ก นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ภาพรวมยังคงไม่โชติช่วงชัชวาล คึกคัก กระชุ่มกระชวย อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ แม้จะเข้าสู่ปีที่ 2 ของการทำงาน แต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะการผลักดันงานวัฒนธรรมให้เข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เท่าที่ดูผลงานส่วนใหญ่ ยังเน้นอนุรักษ์ และสานต่องานเดิม อย่างโครงการ “บวร On Tour” แม้จะพยายามเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร

ส่วนการติดตามโบราณวัตถุของไทยจากต่างประเทศคืนสู่ประเทศไทย แทบไม่มีความคืบหน้าจากปีที่ผ่านมา ซ้ำร้ายยังถูกพิษการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 มาทำให้การทำงานในหลายเรื่องต้องชะลอออกไป

ขณะที่การตรวจสอบปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นภายใน วธ.อย่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ “การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ สังกัดกองพระราชพิธีการศพ”

และกรณีมีผู้ร้องเรียนเรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างทำเครื่องเกียรติยศประกอบศพในภารกิจพิธีการศพ” แม้ผลสอบออกมาแล้วว่าไม่พบการทุจริต แต่ก็ยังไม่ทำให้สังคมหายคลางแคลงใจ

ส่วนหนึ่งเพราะท่าทีของรัฐมนตรีว่าการ วธ.เองที่ดูเหมือนไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เท่าที่ควร

 

นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา วธ.ยังเป็นกระทรวงที่เน้นการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมเดิม มีการพัฒนาบ้าง แต่ก็เป็นการพัฒนาในเชิงที่เน้นการอนุรักษ์ ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความเป็นสากล จะมีการปลุกกระแสการสร้างวัฒนธรรมใหม่

เช่น ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ยังไม่เห็นภาพ วธ.สร้างวัฒนธรรมรณรงค์ให้ประชาชนดูแลตัวเอง มีวินัย เคารพสิทธิของผู้อื่น อย่างการสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม

สิ่งเหล่านี้ควรรณรงค์สร้างเป็นวัฒนธรรมใหม่ในชีวิตประจำวัน เพราะวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องระบำ รำ ฟ้อนเท่านั้น แต่รวมไปถึงสร้างความตระหนักรู้ ความไม่เห็นแก่ตัว และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“สำหรับผม สิ่งที่เห็น วธ.ทำมาทั้งปี คือการอนุรักษ์ แต่ไม่มีการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งประเทศเรายังขาดวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมไทย ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ ฉะนั้น จึงผิดหวังต่อการทำงานของ วธ.ค่อนข้างมาก แต่ก็เข้าใจ เพราะ วธ.เป็นกระทรวงที่ต้องรอรับนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนการทำงานของนายอิทธิพลนั้น ภาพรวมยังไม่เห็นการขยับเขยื้อนนโยบายใหม่ๆ เช่นเดิม หากต้องให้คะแนนผลงานในปีที่ผ่านมา คงให้สอบตก เต็ม 10 คะแนน ให้ 4 คะแนน เพราะเป็นปีที่ 2 แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลงานใหม่ๆ ให้เห็น” นายสมฤทธิ์กล่าว

นายสมฤทธิ์ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ส่วนปี 2564 ส่วนตัวไม่คาดหวังกับการทำงานของ วธ.แต่ก็เข้าใจ เพราะเป็นกระทรวงที่ไม่มีใครอยากมาคุม ทั้งที่เป็นกระทรวงสำคัญ ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้

ขณะที่งานด้านศาสนา ก็ถือเป็นปีที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ทั้งกรณีพระภิกษุสงฆ์ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง จนก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาในหมู่ประชาชนผู้พบเห็น และก่อให้สังคมเกิดข้อถกเถียงถึงความเหมาะสม…

 

นายชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) วิเคราะห์สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ต่อวิกฤตศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้ามองจากปัจจุบัน สถานการณ์ของคณะสงฆ์ต่อแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ถือว่าแย่ลงกว่าเดิมมาก ทั้งกรณีพระสงฆ์บางรูปไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หรือกระทั่งกรณีที่พระ-เณรเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

กรณีนี้มองได้หลายมุม มุมหนึ่ง เกิดจากพระ-เณรส่วนหนึ่ง มองเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม น่าเป็นห่วง มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561 เพราะไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทำให้พระ-เณรไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เพื่อแก้ไขเหตุแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งถูกมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ พระ-เณรรูปใดออกมาแสดงความเห็นจะต้องถูกขับออกจากวัด

เป็นสาเหตุให้ พศ.ใช้อำนาจในการจับสึก เพราะถือว่าไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึง มส.ที่ไม่ออกมาปกป้องคณะสงฆ์ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง เท่ากับว่า การทำหน้าที่ของ มส.ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับปัญหา และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย แต่ตอบสนองความต้องการของรัฐเป็นส่วนใหญ่” นายชาญณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ การที่มีพระสงฆ์เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง อาจมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์

แต่โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป โลกสมัยใหม่มีกระบวนการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมซึ่งประเด็นนี้สังคมเองก็ตั้งคำถาม ว่าการที่คณะสงฆ์ไม่แสดงความเห็น ถือเป็นการเพิกเฉยต่อความทุกข์ของคนในสังคมหรือไม่ ทั้งที่ได้รับเงินสนับสนุนที่มาจากภาษีประชาชน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเช่นกัน

“พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้คนให้พ้นทุกข์ มุ่งไปที่การแก้ปัญหาที่เกิดมาจากกิเลสรายวัน แต่สมัยนี้มองความทุกข์ต่างออกไป เชื่อมโยงสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม การเมืองไม่ใช่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคล ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงต้องมองความทุกข์ให้กว้างขึ้น เพราะถ้าเรามุ่งแก้ปัญหาที่มาจากกิเลสรายวัน ให้คนนับถือศีล 5 ห้ามลักทรัพย์ ลักขโมย ห้ามฆ่าสัตว์ แต่ก็ยังมีการทำร้ายคนเห็นต่างเหมือนมือถือสากปากถือศีล หากพระพุทธศาสนาไม่เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไข ก็เหมือนเป็นการเพิกเฉยต่อความทุกข์ของสังคม ถ้าพระไม่มองความทุกข์ของสังคม”

“แล้วแบบนี้จะมาสอนชาวบ้านได้อย่างไร”

 

คงต้องจับตาว่า ในปี 2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม จะฝ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างผลงาน ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ให้ไปสู่รูปธรรมได้อย่างไร

    ขณะที่วิกฤตศาสนาที่ร้อนระอุ จะได้รับการเยียวยา เรียกศรัทธาคืนจากพุทธศาสนิกชนได้มากน้อยแค่ไหน…