รายงานพิเศษ / วัดพลัง ตท.20 ชิงปลัด กห.-ผบ.ทร. 3 ฉลามอ่าวไทย-อันดามัน กับข้างหลังภาพ ชุมนุมแม่ทัพฟ้า กับระยะห่างทางใจ ของ ‘มานัต-แอร์บูล’

รายงานพิเศษ

 

วัดพลัง ตท.20 ชิงปลัด กห.-ผบ.ทร.

3 ฉลามอ่าวไทย-อันดามัน

กับข้างหลังภาพ

ชุมนุมแม่ทัพฟ้า

กับระยะห่างทางใจ

ของ ‘มานัต-แอร์บูล’

 

แม้จะยังไม่ถึงฤดูกาลโยกย้ายใหญ่ จะมีแค่โยกย้ายกลางปี ที่จะเริ่มทำกันในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เสร็จทันภายในเดือนมีนาคมก็ตาม

แต่ที่กองทัพเรือก็เริ่มมีการจับตามองกันแล้วว่าใครจะเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ เพราะอีกแค่ 8-9 เดือน บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ก็จะเกษียณราชการแล้ว

หากดูแค่แคนดิเดตใน ทร. จะพบว่า เห็นแรงสปีดของเสธ.โต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ที่ออกงาน ออกสื่อมากขึ้นมากกว่าแคนดิเดตคนอื่น

อาจเพราะโดยตำแหน่ง พล.ร.อ.ธีรกุลเป็นเลขาธิการ ศรชล. ด้วย จึงมีภารกิจที่รับผิดชอบมาก รวมทั้งออกงานแทน ผบ.ทร. ทั้งการลงพื้นที่ ตรวจน้ำท่วมภาคใต้ และเรื่องการตั้งโรงพยาบาลสนามของ ทร. เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยโควิด

ทั้งนี้เพราะ พล.ร.อ.ชาติชายต้องการเปิดทางให้ พล.ร.อ.ธีรกุลแสดงฝีมือและมีผลงาน

เพราะในเวลานี้ทั้งบิ๊กโต๊ะ พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผช.ผบ.ทร. และบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ ต่างก็เร่งกันทำงานในสายงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่

แต่ พล.ร.อ.ทรงวุฒิอาจเสียเปรียบตรงที่ตำแหน่ง ผช.ผบ.ทร. รับผิดชอบสายงานกำลังพลและงานโครงการต่างๆ อาจจะไม่ได้ออกสื่อ และเหลืออายุราชการแค่ปีเดียว

ในจำนวนแคนดิเดตคนใน ทร.ทั้ง 3 คนนี้ พล.ร.อ. ธีรกุล (ตท.21) และ พล.ร.อ.สุทธินันท์ (ตท.22) เบียดกัน แถมเกษียณ 2566 พร้อมกัน ส่วน พล.ร.อ.ทรงวุฒิ (ตท.22) เกษียณกันยายน 2565

ทว่าทั้ง 3 คนไม่มีใครเป็น ผช.ทูตทหารเรือมาก่อนเลย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะแม้ว่าเส้นทางเหล็กของทหารเรือจะต้องเป็นผู้บังคับการเรือ และ ผช.ทูตทหารเรือประจำในต่างประเทศก็ตาม

แต่ก็ไม่มีข้อกำหนดว่า ผบ.ทร.ต้องเคยเป็น ผช.ทูตทหารเรือ เพราะย้อนกลับไป บิ๊กตั้ม พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ และ พล.ร.อ.ลือชัย ก็ไม่เคยเป็น ผช.ทูตทหารเรือ

เป็นที่รู้กันดีว่า พล.ร.อ.สุทธินันท์เป็นน้องเลิฟของบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร.

ดังนั้น พล.ร.อ.ชาติชายจึงต้องการให้ทั้ง 3 แคนดิเดตทำงานแข่งกัน และยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ

 

แม้จะมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม จะขอส่งบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหม กลับมากองทัพเรือก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน

อีกทั้ง พล.ร.อ.ชาติชายก็ยังคงนิ่งๆ กับกระแสข่าวที่ออกมา แม้ว่าจะเป็นเพื่อนรัก ตท.20 กับ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็ตาม

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐที่ก็เป็นเพื่อน ตท.20 เห็นว่า พล.ร.อ.สมประสงค์อาวุโสสูงสุด เพราะเป็นรองปลัดกลาโหม ครองอัตราพลเรือเอกพิเศษมา 2 ปีแล้ว ควรจะกลับมา ทร.

เพราะเก้าอี้ปลัดกลาโหม มักจะเป็นทหารบก ไม่มีทหารเรือเป็นปลัดกลาโหมมานานมากแล้ว

ในการโยกย้ายปลายปี คาด ทบ.จะส่งเสธ.หน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสธ.ทบ. ตท.20 คนสุดท้อง ข้ามมาเป็นปลัดกลาโหมต่อจาก พล.อ.ณัฐ ที่จะเกษียณหลังนั่งมา 3 ปี จึงจำเป็นต้องย้าย พล.ร.อ.สมประสงค์ออกเพราะ พล.อ.วรเกียรติจะอาวุโสน้อยกว่า

การกลับมา ทร.ก็มีแค่ตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ทร. ที่มีอัตราพลเรือเอกพิเศษอยู่แล้ว และ ผบ.ทร.เท่านั้นรองรับ

พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พล.ร.อ.ชาติชายจะตัดสินใจรับเพื่อนรักกลับมาเป็น ผบ.ทร. เพราะก็ต้องพิจารณาคนใน ทร.ด้วย

แม้จะมีสูตรอำนาจสะพัดว่า ให้ พล.ร.อ.สมประสงค์กลับมาเป็น ผบ.ทร. 1 ปี แล้วต่อด้วย พล.ร.อ.ธีรกุล หรือ พล.ร.อ.สุทธินันท์ ที่เกษียณ 2566 เป็นต่อก็ตาม

แต่ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็อาจจะอยู่กลาโหมต่อไปก็ได้ เพราะปัจจุบันเรื่องอาวุโสลดความสำคัญลง เพราะหาก พล.อ.วรเกียรติได้เป็นปลัดกลาโหม ก็จะครองอัตราพลเอกพิเศษเช่นกัน แม้ พล.ร.อ.สมประสงค์จะอาวุโสกว่าก็ตามที

จึงน่าจับตามองพลังของ ตท.20 ที่ยังมีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการฯ และอดีต ผบ.ทบ. และ พล.อ.ณัฐเป็นแกนนำรุ่น และการตัดสินใจของ พล.ร.อ.ชาติชายเป็นสำคัญ

จึงเป็นเสมือนการชิงชัยกัน 3 ฉลามทัพเรือ คนใน ทร.ที่เปรียบเสมือนอยู่ในอ่าวไทย กับ พล.ร.อ.สมประสงค์เป็นฉลามอันดามัน ที่เป็นทหารเรือคนนอก ทร. ที่ออกไปอยู่กลาโหมมาแล้วถึง 2 ปี

พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย

ขณะที่กองทัพเรือมีเรื่องให้รอลุ้น ที่กองทัพอากาศก็ต้องลุ้นเช่นกัน เพราะเค้าลางของปัญหาปรากฏให้เห็นเป็นระยะ

ดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ทำให้บรรดาลูกทัพฟ้าตระหนักถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้น และจะเกิดปัญหาตามมาคือ งานเลี้ยงแสดงความยินดีกับบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนใหม่

ที่ไม่มีบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ.มาร่วมงาน ที่ถือเป็นงานแสดงมุทิตาจิตในโอกาสปีใหม่ด้วย

ทั้งๆ ที่มีอดีต 9 ผบ.ทอ.มาร่วมงาน และในจำนวนนี้มี 2 องคมนตรี ที่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของ ทอ.เลยทีเดียว

ทั้งบิ๊กหม่อม พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ วัย 84 ปี อาวุโสสูงสุด ที่เกษียณราชการไปตั้งแต่ปี 2539

พล.อ.อ.อมร แนวมาลี บิ๊กบิ๊ก พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี

บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง

บิ๊กตู่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง บิ๊กจอม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี และบิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย

งานนี้หาก พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีต ผบ.ทอ.ยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะมา เพราะช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มาร่วมงาน ทอ.ตลอด

ส่วนการที่บิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล อดีต ผบ.ทอ.ไม่มาร่วมงานนั้น ก็ไม่เป็นที่จับตามอง เพราะ พล.อ.อ.เกษตรอายุ 87 แล้ว สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก ขาไม่ค่อยดี

ส่วน พล.อ.อ.สนั่น ทั่วทิพย์ พล.อ.อ.ปอง มณีศิลป์ และ พล.อ.อ.ธนนิตย์ เนียมทันต์ นั้นก็ไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมของ ทอ.เท่าใดนักอยู่แล้ว

แต่ที่ถูกจับตามองกันมากที่สุดคือการที่ พล.อ.อ.มานัตไม่ได้มาร่วมงาน ทั้งๆ ที่เป็นคนเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ. ท่ามกลางกระแสต่อต้าน

เพราะ พล.อ.อ.แอร์บูลมาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. และอยู่เหนือความคาดหมายที่จะได้ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. แต่ พล.อ.อ.มานัตเป็นผู้เนรมิตเก้าอี้ ผบ.ทอ.ให้ แม้จะต้องผิดใจกับเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 ที่สนับสนุนบิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี เป็น ผบ.ทอ.ในเวลานั้น

แต่ พล.อ.อ.มานัตก็ไม่ได้มาร่วมงานแสดงความยินดีกับ พล.อ.อ.แอร์บูล ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า ไม่ได้รับเชิญ

มีรายงานจาก ทอ.ว่า งานนี้ได้เชิญอดีต ผบ.ทอ.ทุกคน แต่ พล.อ.อ.มานัตแจ้งว่า ไม่มาเพราะติดภารกิจอื่น

งานนี้ เดิมริเริ่มโดย พล.อ.อ.มานัตเองที่หารือกับ พล.อ.อ.เกษตร เพื่อจัดงานให้ พล.อ.อ.แอร์บูลที่อาจขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. โดยที่อดีต ผบ.ทอ.หลายคนข้องใจ และบางคนก็ไม่เห็นด้วย แต่ พล.อ.อ.มานัตอาศัยบารมีของ พล.อ.อ.เกษตร ที่อดีต ผบ.ทอ.ทุกคนเกรงใจ “พี่เต้” เชิญอดีต ผบ.ทอ.มาร่วมงาน

แต่ถึงเวลาจริงๆ พล.อ.อ.มานัตกลับไม่มาร่วมงาน

 

สําหรับอดีต ผบ.ทอ.คนอื่นๆ แล้ว เมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.แล้วก็ยอมรับตามประเพณี เพราะผ่านการโปรดเกล้าฯ จึงมาร่วมงาน และเกิดภาพประวัติศาสตร์ขึ้น แม้จะไม่ครบ แต่ก็ถือว่าเยอะที่สุด

แต่คนในกองทัพอากาศรู้ดีว่ามีบางอย่างไม่ปกติเกิดขึ้น นอกจากรอยร้าวในใจ ในอดีตอันยาวนานระหว่าง พล.อ.อ.มานัต กับอดีต ผบ.ทอ.บางคนแล้ว ยังจับตามองกันว่า ระหว่าง พล.อ.อ.มานัต กับ พล.อ.อ.แอร์บูล เกิดอะไรขึ้นหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวถึงเสียงบ่นของ พล.อ.อ.มานัตที่ถูกรื้อโครงการที่ทำไว้ โดยเฉพาะการแก้ไข TOR ในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่ยังไม่ได้ทำสัญญา ที่ พล.อ.อ.แอร์บูลต้องการทำให้รอบคอบมากขึ้น แต่ พล.อ.อ.มานัตมองอีกมุมหนึ่ง

โดยเฉพาะการที่ พล.อ.อ.แอร์บูลจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทอุตสาหกรรมการบินของ ทอ. หรือ TAI รวมทั้งตัวประธานบอร์ด

ทั้งๆ ที่ พล.อ.อ.มานัตควรจะเป็นอดีต ผบ.ทอ.ที่สนิทสนมที่สุดของ พล.อ.อ.แอร์บูล เพราะเป็นผู้เสนอชื่อเป็น ผบ.ทอ. ที่ในเวลานั้น อดีต ผบ.ทอ.หลายคนก็ไม่เห็นด้วย ถึงขั้นที่เรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เลยทีเดียว แต่ก็ไม่อาจล้วงลูกได้ เพราะมีกระแสข่าวเรื่องสัญญาณพิเศษด้วย

พล.อ.อ.มานัตอาจคิดว่า แม้ตนเองเกษียณแล้ว แต่ พล.อ.อ.แอร์บูลคงจะสานต่อแนวทางของตนเอง และฟังคำแนะนำของตนเอง

แต่ทว่า พล.อ.อ.แอร์บูลก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและมีทีมงานส่วนตัว ทั้งเพื่อน ตท.21 และรุ่นน้อง ตท.22 ช่วยงานอยู่ จึงอาจไม่ต้องฟัง พล.อ.อ.มานัตในทุกเรื่อง

ถ้าจะมองไม่ให้เป็นความขัดแย้ง ก็อาจจะบอกว่า เป็นแค่การ “งอน” กันเท่านั้น

แต่อุณหภูมิใน ทอ.เวลานี้เริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจตามมาด้วยการล้างบาง

เพราะหลายตำแหน่งถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม บางคนจากที่เป็นตัวเต็ง เป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเตะออกนอก ทอ. หรือเข้ากรุ บางคนก็ต้องขอลาไปบวชเลยทีเดียว

มีรายงานว่า เหตุผลหนึ่งที่ไม่มาร่วมงานเพราะ พล.อ.อ.มานัตเป็นคนพูดตรงๆ จึงรู้ตัวเองว่าไม่ควรมาร่วมงานนี้ และรู้สึกว่าตนเองทำบางอย่างผิดพลาดไว้กับกองทัพอากาศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ พล.อ.อ.แอร์บูล

ขณะที่ พล.อ.อ.แอร์บูลก็รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับกองทัพอากาศ จึงพยายามที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนในแนวทางของตนเอง

นายทหารอากาศสายพิราบอยากให้ พล.อ.อ.มานัต กับ พล.อ.อ.แอร์บูล เคลียร์ใจกันตามลำพัง จะได้เกิดความสงบสุข

ขณะที่นายทหารอากาศสายเหยี่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการจัดวางตำแหน่งของ พล.อ.อ.มานัตนั้นอยากให้ พล.อ.อ.แอร์บูลคืนความชอบธรรม และปรับเปลี่ยนสิ่งที่ พล.อ.อ.มานัตได้ทำไว้

    เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็นประเด็นเมาธ์กันในกองทัพอากาศ ทุกระดับชั้นเลยทีเดียว