วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ถึงเวลา ‘เชิดชูศาสนา’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ถึงเวลา ‘เชิดชูศาสนา’

การ “แบ่งปันความรู้” ของคนทำหนังสือพิมพ์ “มติชน” ยังดำเนินการต่อไปไม่มีสิ้นสุด

แม้วันใดวันหนึ่ง “หนังสือ” ทั้งหนังสือพิมพ์กระดาษและหนังสือเล่มจะไม่มีการผลิตผ่านเครื่องพิมพ์ออกมาเป็นฉบับ ออกมาเป็นเล่ม

แต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอื่นทางอิเล็กทรอนิกส์คงดำเนินต่อไป

ตราบเท่าที่วิถีแห่งอินโนเวชั่น ผ่านจินตนาการแห่งการเขียนของคนทำหนังสือพิมพ์อาจย้อนกลับไปสู่การใช้ดินสอใช้ปากกาเขียนแล้วเผยแพร่ออกไปผ่านผู้อ่านทีละบรรทัดทีละหน้าผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

จะเรียกว่าอะไรก็ตามในอนาคต อาจไม่ต้องมีปากกา กระดาษ หากแต่เป็นญาณวิถี ผ่านเข้าสู่จิตวิญญาณเดี่ยวหรือจิตวิญญาณกลุ่ม

แล้วแต่ว่าการเจริญสติวิปัสสนาสมาธิของมนุษย์ก้าวหน้าไปถึงไหนต่อไหน

 

จากโครงการ “แบ่งปันความรู้” เรา-บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท เมื่อครั้งเดินทางสำรวจเพื่อการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก้าวเข้าไปเรียนก่อนสองสามปี ทั้งไปในนามคณะโบราณคดี และในนามสองกุมารสยามผู้มิได้หยุดนิ่งที่จะสืบค้นตั้งแต่เริ่มแรกอยุธยา เรื่อยไปถึงวัดศรีโคมคำ พะเยา สำรวจกว๊านพะเยา อาศัยข้าวก้นบาตรท่านเจ้าอาวาส

แล้วเลยเมื่อกลับมาสร้างงานโรงพิมพ์พิฆเณศ พ.ศ.2515 จน พ.ศ.2521 กำเนิดหนังสือพิมพ์มติชน กระทั่ง พ.ศ.2527 กลับไปอาสางานสร้างพระอุโบสถใหม่กลางน้ำกว๊านพะเยา ทอดผ้าป่าวัดศรีโคมคำหลายครั้งหลายหน กระทั่งพระอุโบสถเสร็จลง เป็นโครงการ “เชิดชูศาสนา” ที่ประธานขรรค์ชัย บุนปาน มีฉันทานุมัติให้ดำเนินการต่อไป

ภายในผนังพระอุโบสถเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ “ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์” ที่ชาวศิลปากรยกย่องเรียกขาน ต่อด้วยฝีมือของภาพตะวัน สุวรรณกูฏ และกลุ่มลูกของ “ท่านไพบูลย์ สุวรรณกูฏ” จนสำเร็จลงด้วยความสวยงามถึงทุกวันนี้

 

จากนั้น “โครงการเชิดชูศาสนา” ต่อเนื่องไปอีกหลายวัดทั้งการเชิญชวนทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เนื่องในโอกาสครบวันขึ้นรอบปี 9 มกราคม แต่ละปีของหนังสือพิมพ์มติชน และร่วมกับพี่เพื่อนน้องในหลายครั้งหลายคราว อาทิ พ.ศ.2550-2552 ร่วมดูแลวัดหนังราชวรวิหาร ซ่อมอุโบสถ ปลูกต้นตะโก ทั้งสร้างเหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เพื่อการนี้ ทั้งเหรียญทองคำจำนวนหนึ่ง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงสมนาคุณผู้ร่วมบริจาคเงินซ่อมสร้างดูแลวัดหนัง

งานใหญ่ในโครงการ “เชิดชูศาสนา” คือการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญไม้สักทองแกะสลักทั้งหลัง และยกขึ้นเป็นสองชั้น เสร็จสมบูรณ์ให้อุบาสกอุบาสิกาได้ทำบุญทำกุศลทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ เมื่อปี 2555 วาระขึ้นสู่ปีที่ 35 ของหนังสือพิมพ์มติชน

เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2558 อันเป็นปีมหามงคลที่กรมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558

การนี้ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2561 นับเป็นสิริมงคลแก่ชาวมติชน ชาวละแวกวัดแก้วไพฑูรย์ ชาวบางขุนเทียน และปวงชนชาวไทยถ้วนหน้า

 

ระหว่างที่วัดสระเกศมีการบูรณะซ่อมแซม ขรรค์ชัย บุนปาน ยังเชิญชวนพี่เพื่อนน้องไปร่วมกันบูรณะหอพระไตรปิฎกกลางน้ำที่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับสมบูรณ์ขึ้นมา พร้อมกับซ่อมแซมภาพฝาผนังศาลาฌาปนสถานให้ผู้ร่วมฌาปนกิจ ณ ฌาปนสถานแห่งนี้ได้ชมภาพฝาผนังลายไทยดังเทวดาเชิญวิญญาณผู้ล่วงลับสู่สรวงสรรค์

หลังจากนั้น ขรรค์ชัย บุนปาน ยังเชิญชวนพี่เพื่อนน้องชาวมติชน ร่วมกันก่อสร้างศาลาท่าน้ำวัดนางนอง ตามภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 บนพื้นที่เดิมริมคลองด่าน บางขุนเทียน และบูรณะศาลาเก๋ง 2 หลัง ริมคลองด่านหน้าวัดนางนอง เมื่อ พ.ศ.2559

ใช่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่มีโอกาสไปตระเวนเยี่ยมเยียน ทั้งจากรายการปลูกต้นไม้ของหนังสือพิมพ์ข่าวสดตามวัดหลายแห่ง และไปร่วมในรายการ “ทอดน่องท่องเที่ยว” กับสุจิตต์ วงษ์เทศ และชาวคณะมติชนทีวี ยังได้ร่วมบริจาคเงินเป็นทุนการศึกษาให้โรงเรียนในบริเวณนั้น และหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนเป็นประจำ

 

อีกครั้งหนึ่งที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีโอกาสเป็นหนึ่งในขบวนผู้ร่วมโครงการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ท่านทั้งหลายคงรู้จัก “โลหะปราสาท” โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร หลังจากโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวถนนราชดำเนินกลาง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศรื้อออกไปแล้ว ผู้ที่ผ่านไปมาโดยเฉพาะจากถนนราชดำเนินนอก ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มองเฉียงไปทางซ้ายมือ จะเห็นกลุ่มยอดปราสาทหลายองค์ ตรงนั้น โดยเฉพาะยอดสูงงดงามเด่นเป็นสง่า

เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองเพิ่งปรับตัวจากการเสียกรุง พระมหากษัตริย์ทั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ทรงพระราชอุตสาหะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานาเพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคง เป็นปึกแผ่น พระกำลังสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจคือพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงนำสำเภาไปค้าขายกับจีนนำรายได้มาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบิดาเพื่อทำนุบำรุงประเทศบ้านเมืองให้สงบสุขร่มเย็น

ด้วยพระปรีชาสามารถนี้ พระราชบิดาจึงขานพระนามว่า “เจ้าสัว”

 

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นแผ่นดินต้องทำสงครามปกป้องพระราชอาณาเขต เป็นเวลา 15 ปี

การศึกแม้จะยาวนาน ราษฎรก็มิได้เดือดร้อน เศรษฐกิจมั่งคั่งบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะพระอัจฉริยภาพปรีชาญาณในการปกครอง ทรงรวมพระราชทรัพย์แผ่นดินใส่ “ถุงแดง” เก็บไว้ในพระคลังหลวง

เล่ากันว่ามีพระราชดำรัสไว้ “เงินถุงแดงนี้ เก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองเถิด”

จึงอัศจรรย์ยิ่งนัก หลังจากนั้น 52 ปี รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเงินนี้ไถ่บ้านไถ่เมืองจันทบุรีจากฝรั่งเศส เมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ไทยรอดจากการคุกคามอธิปไตยเป็นอิสรภาพสืบมา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาล้ำลึก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้นในรัชกาลเป็นจำนวนมาก