รายงานพิเศษ / จับอาการ ‘บิ๊กตู่’ จับท่าที ‘บิ๊กบี้’ หลังม็อบเล็งรัง ร.1-ร.11 จับตา ‘บิ๊กแดง’ ในความเงียบ

รายงานพิเศษ

 

จับอาการ ‘บิ๊กตู่’

จับท่าที ‘บิ๊กบี้’

หลังม็อบเล็งรัง ร.1-ร.11

จับตา ‘บิ๊กแดง’ ในความเงียบ

แม้ทหารในกองทัพอาจจะยังไม่เห็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารก็ตาม

แต่ทว่าแกนนำคณะราษฎรกลับได้กลิ่นรัฐประหารและใช้การต่อต้านรัฐประหาร เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวปลุกการชุมนุม และพุ่งเป้ามาที่กองทัพมากขึ้น

ทั้งการแฉระบบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร Information Operations (IO) ของกองทัพ และนายทหารที่เกี่ยวข้องสถาบัน

ทั้งการทำศึกกับกองทัพโซเชียล และนักรบไซเบอร์ซึ่งมีทหารเป็นลูกไม้ลูกมือ และมีระดับนายทหารในการช่วยวางแผน โดยถูกนำมาตีแผ่และโจมตีว่าใช้ทหารรบกับประชาชน

โดยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมีการเล็งเป้าหมายไปที่นายทหารที่ทำงานจิตอาสา

พบว่ามีเอกสารราชการและข้อความทางไลน์ที่หลุดออกมาเสมอๆ จนทำให้ฝ่ายรัฐบาลเริ่มพูดถึงทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศอีกครั้ง

ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้มีการตรวจสอบและระมัดระวังเรื่องเอกสารราชการหลุดแล้วฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้ประโยชน์

 

กองทัพยังคงเป็นเป้าหมายทางการเมืองต่อไป เพราะถูกมองเป็นฐานอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลพี่น้อง 3 ป.

โดยเฉพาะการเล็งไปที่หน่วยทหารสำคัญ อย่าง ทม.ร.1 รอ. และ ทม.ร.11 รอ. ที่ได้ย้ายโอนไปเป็นหน่วยทหารในพระองค์ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (นถปภ.รอ.)

จึงเปลี่ยนนามหน่วยเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.ร.1 รอ.) และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.ร.11 รอ.) และกลายเป็นเขตพระราชฐานในพระองค์

แต่ไม่รวมพื้นที่บ้านพักนายทหาร ที่มีบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ทม.ร.1 รอ. จึงเคยเป็นสถานที่นัดชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2563 แต่เมื่อฝ่ายความมั่นคงนำตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามมาปิดทางรอบหน่วยอย่างแน่นหนา ผู้ชุมนุมก็เปลี่ยนไปชุมนุมที่หน้า ทม.ร.11 รอ. แทน

ไม่ใช่แค่ต้องการแสดงสัญลักษณ์ในการยึดหน่วยทหารที่ถูกย้ายโอนไปกลับมาเป็นของราษฎรเท่านั้น

แต่ยังรำลึกถึงเหตุกระชับพื้นที่คนเสื้อแดง 99 ศพ เมื่อปี 2553 ที่ใช้ ทม.ร.11 รอ. เป็นกองบัญชาการ ในนาม “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” (ศอฉ.)

 

แน่นอนว่า อีกเป้าหมายคือ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง อดีต ผบ.ทบ. ที่มีบ้านพักอยู่ใน ทม.ร.11 รอ. มายาวนาน ตั้งแต่เป็นนายทหารหนุ่ม จนเป็น ผบ.ทบ.

จนมาเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง เป็นข้าราชบริพารในพระองค์ ที่ไม่มีเกษียณ และบ้านพักอยู่ใน ทม.ร.11 รอ. ที่เป็นเขตพระราชฐานได้

โดยมีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ได้มาควบคุมการดูแลหน่วยด้วยตนเอง

ก่อนหน้านั้น 25 พฤศจิกายน 2563 คณะราษฎรก็เคยนัดหมายที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ก็เปลี่ยนเป็นห้าแยกลาดพร้าวแทน

แต่ทว่าฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงเฝ้าระวังว่าผู้ชุมนุมจะมาที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อีก

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์ยังมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วย

พล.อ.อภิรัชต์เป็นเป้าหมายของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมายาวนานตั้งแต่ก่อนเป็น ผบ.ทบ.ด้วยซ้ำ

และยิ่งเมื่อพ้นจาก ผบ.ทบ. มาถวายงานใกล้ชิดสถาบัน ในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ

จึงทำให้นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้กลิ่นรัฐประหาร และพาดพิง พล.อ.อภิรัชต์ ว่ากำลังเดินสายขอความเห็นเรื่องการทำรัฐประหาร เพื่อเป็นทางออก

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงตอบโต้ใดๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานภาพที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถออกมาให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวได้

พล.อ.อภิรัชต์ใช้ยุทธวิธี การอยู่ในความเงียบ เคลื่อนไหวในความเงียบ คล้ายกับกลยุทธ์ในการปิดไฟใน ทม.ร.11 รอ. วันที่ม็อบบุกประชิด เพื่อไม่ให้เห็นความเคลื่อนไหวภายใน

ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ยังคงมีบทบาทในราชสำนักและมีเพาเวอร์ในกองทัพ เพราะสนิทสนมกับ ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นทั้งเพื่อน ตท.20 และรุ่นน้อง จึงตกเป็นเป้า

แต่ทว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ยังคงแนบแน่น

ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ไฟเขียวให้เป็นนายกฯ ต่อไป ก็ยากที่จะก่อรัฐประหารล้มล้าง พล.อ.ประยุทธ์ได้

เพราะแม้แต่คดีอยู่บ้านพักในค่ายทหารใน ทม.ร.1 รอ. ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังชี้ว่าไม่ผิด สามารถอยู่ได้ตามระเบียบ ทบ.

แม้ว่าคดีนี้มีช่องโหว่ทางกฎหมายหลายจุด ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจาการเป็นนายกฯ ได้แบบแนบเนียนที่สุด แบบไม่ต้องรัฐประหาร

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็รอด

 

ซึ่งก็ต้องยกให้ พล.อ.อภิรัชต์ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำเรื่องบ้านพักรับรองให้เรียบร้อย ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบต่างๆ ในช่วงที่เป็น ผบ.ทบ.

เพราะไฮไลต์ของคดีนี้อยู่ที่กองทัพบกได้มีการเปลี่ยนสถานภาพบ้านจากบ้านพักสวัสดิการทหารบกเป็นบ้านพักรับรองไว้แล้วเมื่อปี 2555 ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. พักอาศัยอยู่ได้ ไม่ใช่ในฐานะนายกรัฐมนตรี

ในเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งนายทหารที่สนิทสนมไปคุยกับบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. ซึ่งเกษียณราชการไปหลายปีแล้ว แต่บ้านส่วนตัวยังสร้างไม่เสร็จเสียที จึงยังไม่ยอมย้ายออกจากบ้านรับรองใน ร.1 รอ. โดยขอให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ย้ายออกไป จากนั้นก็มีการทุบบ้านหลังนี้และทุบรั้ว เพื่อรวมเชื่อมต่อกับบ้านหลังเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อสร้างเสร็จก็เปลี่ยนสถานะบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักรับรอง

แม้จะถูกตั้งข้อกังขาหลายประเด็นในเรื่องห้วงเวลา เพราะในเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็น ผบ.ทบ. และจะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่าตัวเองจะต้องพักอาศัยอยู่ที่นี่นานหลังเกษียณ และรู้ได้อย่างไรว่าตนเองจะต้องรัฐประหาร และเป็นนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญคือ มี พล.ต.วีระ โรจนวาศ คุมคดีนี้ในการชี้แจงให้ ในฐานะที่นายทหารสายพระธรรมนูญ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในยุค คสช. ก่อนที่จะมาช่วยกับรัฐบาล

จากคดีนี้สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงได้ไฟเขียวให้ทำหน้าที่ต่อไป

และไม่ต้องห่วงว่าจะถูกปฏิวัติรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ก็มีการจับตามองถึงสายสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์กับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะกับบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่คุมกำลังเหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด

ด้วยเพราะรุ่นที่ห่างกัน ระหว่าง ตท.12 กับ ตท.22 หรือ จปร.23 และ จปร.33 จึงไม่ทันกันในโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อย จปร.

และรับราชการต่างยุคสมัยกัน แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะเคยอยู่ พล.ร.2 รอ. แต่ก็ไม่ทันได้สนิทสนมกับพี่น้อง 3 ป. ป้อม ป๊อก ประยุทธ์ เท่าใดนัก

ก่อนที่จะมาเติบโตใน ร.31 รอ. ใน พล.1 รอ. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์โตจาก ร.21 รอ. และ พล.ร.2 รอ.

จึงจะมาทันกันตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ากรุงมาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพภาคที่ 1 เท่านั้น

จึงเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานในกองทัพเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกิดกระแสข่าวลือการรัฐประหารในช่วงที่มีการชุมนุม

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเอ่ยปากเช็กกระแส เช็กท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์เมื่อพบหน้า

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้พูดตรงๆ เรื่องปฏิวัติรัฐประหาร แต่คำพูดทำให้คนฟังเข้าใจว่า น่าจะต้องการสื่อถึงเรื่องนี้

“ไม่มีใครมาทำอะไรนายกฯ ใช่มั้ย” บิ๊กตู่เปรยๆ

แต่ทว่าไม่ได้รับคำตอบหรือท่าทีใดจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ที่นิ่งจนน่าเกรงขาม

ที่อาจจะเป็นเพราะเข้าใจไม่ตรงกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะถาม พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงนิ่ง

 

น่าสังเกตว่า ในระยะหลังมานี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ไม่ได้มาร่วมประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานถึง 2 ครั้ง ในระยะ 2 เดือน

ครั้งก่อน เพราะติดงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่อยุธยา และมาครั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ติดประชุม แต่ส่งบิ๊กเป้ง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รอง ผบ.ทบ. มาแทน

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์มีประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) และประชุมหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) ในฐานะที่เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

โดยมีบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธรรมนูญ วิถี ผช.ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นนายทหารคอแดง และเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ร่วมประชุมด้วย

กล่าวกันว่า ทีมงานนายกฯ ต้องตรวจสอบ โทร.เช็กเลยว่า ทำไม พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่มาประชุม

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ให้ความสำคัญกับภารกิจของ ฉก.ทม.รอ.904 อย่างที่สุด

ไม่แค่นั้น ยังมีการจับตามองถึงความสัมพันธ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ที่ก็ห่างเหินกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์มากขึ้น

อาจเป็นเพราะสถานภาพรองเลขาธิการพระราชวัง จึงทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ต้องทิ้งระยะห่างกับกองทัพ โดยเฉพาะกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพราะเกรงว่าจะถูกมองว่าเข้ามาแทรกแซง

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะได้ชื่อว่าสนับสนุน พล.อ.ณรงค์พันธ์ให้เป็น ผบ.ทบ.แทน แต่ก็รู้ดีว่า ถ้าเลือกได้ พล.อ.อภิรัชต์ก็สนับสนุนบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เป็น ผบ.ทบ. เพราะสนิทสนมมากกว่าและคุยกันได้

ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์มีความเป็นตัวของตัวเองมาก และเป็นนายทหารที่ยึดระเบียบวินัยอย่างมาก เรียกได้ว่า สั่งได้ยาก

ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงมีกระแสข่าวการสลับตัว ผบ.ทบ. ให้ พล.อ.เฉลิมพลเป็น ผบ.ทบ.แทน พล.อ.ณรงค์พันธ์มาแล้ว

แต่ทว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์มาถึงจุดนี้ได้ย่อมไม่ธรรมดา และย่อมมีกองหนุนที่ดี และเข้มแข็งด้วย โดยเฉพาะในสายราชสำนัก

 

ความหวาดระแวงว่าจะเกิดการรัฐประหารเพื่อล้ม พล.อ.ประยุทธ์อาจเกิดขึ้นได้ เพราะรู้กันดีว่า การปฏิวัติรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เช่นที่ผ่านมาอีก แต่จะเป็นในรูปแบบพิเศษ

โดยในยุคนี้ผู้ที่รัฐประหาร อาจจะไม่ใช่ ผบ.ทบ.ที่ตัดสินใจได้โดยลำพัง แต่อาจจะกลายเป็นแค่ผู้รับคำสั่งและปฏิบัติตามนั้นในที่สุด

จึงไม่แปลกที่ในขณะที่แกนนำม็อบได้กลิ่นรัฐประหารแรงมาก แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ออกมาสยบกระแสข่าวรัฐประหาร

ถึงขั้นที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์บอกให้ลบ ให้ตัดคำว่าปฏิวัติรัฐประหารออกไปจากหน้าสื่อและโซเชียลอย่าให้ปรากฏ สื่อก็อย่าพูดถึงอีก

หลังจากที่เคยประเมินสถานการณ์แล้วว่าเงื่อนไขในการรัฐประหารยังคงเป็นศูนย์ และถึงขั้นติดลบ

หากแต่ก็ไม่มีใครอาจที่จะยืนยันได้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ที่กำลังถูกละเมิด

กองทัพจะต้องช่วยกันปกป้องพิทักษ์รักษาและเทิดทูน ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรที่ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบัน และเคลื่อนไหวหนักขึ้น

 

แม้โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารขึ้นในอนาคตมีน้อย

พล.อ.ณรงค์พันธ์ถึงขั้นบอกให้ลบ ให้ตัดคำว่าปฏิวัติรัฐประหารออกไปจากหน้าสื่อ และโซเชียล อย่าให้ปรากฏ สื่อก็อย่าพูดถึงอีก

แถมสำทับด้วยการถามว่า ทำแล้วมันดีมั้ย ดีกับประเทศชาติหรือไม่ดี ดีกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนมั้ย ถ้าไม่ดี แล้วจะทำทำไม

แต่กระนั้น คำพูดของ ผบ.ทบ.ในเรื่องปฏิวัติรัฐประหารมักจะมีน้ำหนักน้อยและไม่ได้รับการเชื่อถือ ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ตระหนักในข้อนี้ดี

“เชื่อผมน้อยกว่าเชื่อสื่อ ผมพูดเนี่ยไม่เชื่อ ผบ.ทบ. หลายคนพูดมาก็ไม่เชื่อ แต่สื่อเขียนก็เชื่อสื่อ ผมพูดคนเดียวคนไม่เชื่อผมหรอก ผมพูดคนในกองทัพอาจจะเชื่อแค่คนในกองทัพ แต่ประชาชนจะเชื่อสื่อ” บิ๊กบี้ระบุ

พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงยังคงนิ่งกับสถานการณ์ทางการเมืองและกระแสข่าวต่างๆ

อาจเพราะรู้ดีว่า มันยังไม่ถึงเวลา