ในประเทศ : เปิดใจ “น้องหมวย” “เหยื่อ” ถูกคุกคาม จาก “ครู” ในโรงเรียน ถึง “นักการเมือง” ในสภา

“หนูถูกครูทำอนาจาร โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” 2 ประโยคสั้นๆ ในหน้ากระดาษเอสี่ที่หญิงสาวสวมชุดนักเรียน มีเทปกาวปิดปากชูขึ้นกลางม็อบนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างมาก

หญิงสาวคนนี้ปัจจุบันอายุ 20 ปี นามสมมุติว่า “น้องหมวย” เรียนอยู่ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

“น้องหมวย” ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปการออกมาเรียกร้องถึงการคุกคามภายในโรงเรียนว่า การเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาเคยออกมาเคลื่อนไหวแล้วหลายครั้ง รวมถึงการเรียกร้องในโซเชียลมีเดียด้วยเกี่ยวกับประเด็นการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชน และโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย

สาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เคยถูกครูทำอนาจารหลายครั้ง ด้วยการสัมผัสร่างกาย แต่ไม่กล้าบอกใคร

และจากเหตุการณ์เหล่านั้นมันส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตจนถึงปัจจุบัน จึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้สังคมได้ตระหนักถึงเรื่องนี้

 

“คือหนูไม่ได้มองในเรื่องของวุฒิภาวะ และอายุน้อย เพราะว่าคนที่โดนในลักษณะนี้ หากโดนในวัย 30 หรือ 40 บางคนก็ยังไม่กล้าบอกใคร หนูรู้สึกว่ามันคือการหล่อหลอมทางสังคม ที่เราโยนความผิดไปให้เหยื่อคือการโทษเหยื่อ แล้วก็ลักษณะของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่คนที่มีอำนาจจะมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้กับคนที่อำนาจน้อยกว่า”

“น้องหมวย” เล่าว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ตนเองก็รู้สึกกลัว หากพบคนที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับครูคนดังกล่าวก็จะวิ่งหนีทันที จากนั้นก็พบว่าตนเองมีอาการทางจิตเวช โดยมีภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือว่าสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรง และกลายเป็น Panic Disorder และยังพบอาการจากโรคไบโพลาร์ชนิดอ่อนด้วย

“คือแค่เห็นข้างหลังคล้ายๆ ก็วิ่งหนีแล้ว วิ่งไม่หยุด จนกระทั่งตั้งสติว่าไม่ใช่ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้อยู่เดือนสองเดือน จนเป็น Panic Disorder คือมีอาการชัก มีภาพหลอน เวลาจะหลับก็จะเห็นภาพเหตุการณ์นั้นโผล่ขึ้นมา แล้วก็ชักหายใจไม่ออก ชักเกร็ง หรือแม้กระทั่งรู้สึกอยากจะตายตลอดเวลา รู้สึกอยากให้พาตนเองออกจากตรงนี้ เหมือนจะเป็นคนบ้า รู้สึกกลัวว่าเราจะบ้า หรือกลัวว่าเราจะตายอะไรแบบนั้น”

ส่วนการแก้ปัญหา “น้องหมวย” เห็นว่า เราต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถแก้ได้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรหลายแห่งในประเทศไทยที่มีไว้เพื่อรับแจ้งเรื่องราวของนักเรียน แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเด็กๆ ไม่กล้าเข้าไปแจ้งเรื่องที่ตนเองถูกกระทำ

“ต้องย้อนกลับไปว่าทำไมถึงไม่กล้าแจ้ง หนึ่งกลัวอาย หรือสองไม่รู้ว่าต้องแจ้งที่ไหน ดังนั้น การกลับมาแก้ปัญหาตรงนี้ ควรจะเริ่มจากหลักสูตรการสอน ที่ทำให้เด็กรู้จักสิทธิเสรีภาพในตัวเอง”

“ถ้าเด็กรู้จักสิทธิเสรีภาพในตัวเองจริง จะไม่มีเหตุการณ์ที่นักเรียนชายวิ่งเปิดกระโปรงนักเรียนหญิง ในเหตุการณ์ที่ใหญ่ขึ้นมา เด็กจะรู้จักการปฏิเสธ ในพฤติกรรมที่เขาไม่พึงพอใจ ไม่ยินยอม”

 

“น้องหมวย” เห็นว่า การแก้ปัญหาจากจุดเริ่มต้นคือหลักสูตรการศึกษาที่สอนให้เด็กรู้จักสิทธิเสรีภาพของตนเอง นอกจากนี้ มันยังเป็นเหมือนเกราะที่คอยป้องกันเด็กๆ จากอันตรายต่างๆ รอบตัวที่อาจจะเกิดในสังคมได้

นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอน ส่วนตัวยังเสนอให้ตั้งองค์กรเกี่ยวกับการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของนักเรียนไว้ในรั้วโรงเรียน โดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทนายความ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ คอยประสานงานกับภาครัฐ และขอให้ล้มเลิกความคิดโทษเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ เช่น การแต่งกาย การเดินทางในที่เปลี่ยวว่าเป็นต้นเหตุนำไปสู่การก่อเหตุเสียที เพราะมันไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

และหลังออกมาเปิดเผยเรื่องตนเองถูกทำอนาจารจากครูในโรงเรียน “น้องหมวย” ก็ถูกชาวเน็ตบางคนมาตอบโต้ว่าทำให้เกิดภาพเหมารวมว่าครูเป็นคนไม่ดี

และมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองถึงการแต่งกาย และกล่าวโทษน้องหมวยที่เป็นผู้เสียหายด้วย

“ถามว่ามีคนออกมาขุดรูปเซ็กซี่ สิ่งที่อยากจะบอกก็คือการแต่งตัวเซ็กซี่ไม่ใช่ใบเบิกทางให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่ใบเบิกทางในการทำอนาจาร แล้วก็ไม่ใช่ใบเบิกทางในการข่มขืน เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนบอกว่าคุณสามารถข่มขืนเขาได้ถ้าเขาแต่งตัวโป๊ คุณควรเลิกวัฒนธรรมการโทษเหยื่อได้แล้ว ถ้าวัฒนธรรมการโทษเหยื่อมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงนะ มันจะไม่มีข่าวข่มขืนผู้สูงอายุหรอก ไม่มีข่าวข่มขืนเด็กก่อนวัยเรียน ไม่มีเหตุการณ์พวกนี้เกิดขึ้น ถ้ามันทำได้จริง”

 

ส่วนกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ปารีณา ไกรคุปต์” โดยระบุว่า ได้เดินทางเข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับน้องหมวย กรณีใส่ชุดนักเรียนนั้น เห็นว่าการใส่ชุดนักเรียนไม่ได้ผิดกฎหมายข้อไหน นอกจากผิดความรู้สึกของคุณเอง และไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าผู้ที่พ้นสภาพความเป็นนักเรียนแล้วไม่สามารถใช้ชุดนักเรียนได้

“น้องหมวย” ยังบอกอีกว่า การออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ในช่วงแรกพ่อ-แม่ของตนเองก็อยากให้เราหยุด เพราะท่านรู้สึกว่าเรากำลังเปลืองเนื้อเปลืองตัวกับสิ่งนี้มากเกินไป แต่ตอนนี้ท่านเข้าใจมากขึ้น จึงอยากขอบคุณพ่อกับแม่ที่ท่านอยู่เคียงข้างเราเสมอ

“ขอบคุณที่อยู่เคียงข้างหนูที่หนูออกมาเรียกร้อง อยากให้รู้ว่าหนูไม่ได้เรียกร้องสิ่งนี้เพื่อตนเอง หนูเรียกร้องเพื่ออนาคตของหนู หนูหวังว่าวันหนึ่งถ้าหนูมีลูก ลูกหนูก็จะไม่ต้องอยู่ในสังคมที่น่าหวาดกลัวขนาดนี้ และหนูขอบคุณมากๆ ที่อยู่เคียงข้างกัน ทุกวินาที หนูอาจจะไม่ได้ทำถูกใจพ่อ-แม่ไปทุกเรื่องหรอก แต่ขอบคุณที่ยังไม่ทิ้งกัน”

นอกจากนี้ “น้องหมวย” ยังฝากถึงผู้ปกครองท่านอื่นๆ ว่า การออกมาเคลื่อนไหวของตนเองในครั้งนี้ เพื่อให้คนตระหนักว่าโรงเรียนไม่ใช่บ้านหลังที่สอง ครูก็เป็นคนธรรมดา ความไม่ปลอดภัยในโรงเรียนมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้เสมอ สถานศึกษาไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป และเราควรจะสร้างมันให้ปลอดภัยได้แล้ว

“คืออย่างแรกนะโรงเรียนไม่ใช่บ้านหลังที่สอง โรงเรียนคือสถานศึกษา ต่อมาครูที่สอน ไม่ใช่แม่พิมพ์ของชาติที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่นางฟ้านางสวรรค์ ไม่ใช่เทวดามาจากไหน เป็นคนเหมือนกับคุณ ดังนั้น เหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในรั้วโรงเรียนมันเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว อยากให้ฟังลูกสาวลูกชายคุณให้มากๆ อย่าละเลยเสียงของเขา”

“ขอให้คุณเป็นคนแรกที่เขากล้าบอก แล้วก็ขอให้คุณเป็นคนแรกที่โอบกอดเขา”

 

สุดท้าย “น้องหมวย” ได้ฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งในโรงเรียนและในสภา ว่าให้หยุดนำเรื่องราวของตนเองไปใช้เป็นเครื่องมือเสียที

การออกมาเรียกร้องคือสิ่งที่เยาวชนทุกคนในประเทศนี้ควรได้รับ และหวังว่าท่านจะนำเสียงของประชาชนเข้าสู่สภา

“สิ่งที่หนูอยากบอกก็คือ ต่อให้หนูจะยืนอยู่คนละฝั่งกับท่าน หรือยืนอยู่ฝั่งเดียวกับท่าน หน้าที่ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในประเทศนี้ทุกคนยังคงเป็นหน้าที่ของท่านอยู่เสมอ”

“ท่านไม่สามารถปฏิเสธมันได้”