ศัลยา ประชาชาติ : การกลับมา ของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 รัฐเงื้อง่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

วิกฤตฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ได้หวนกลับคืนมาอีกครั้งตามวงรอบของฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านจากหน้าฝนสู่หน้าหนาวในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า อยู่ในช่วง “ลมนิ่ง” ไม่มีฝน ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) อีกครั้ง

ความจริงปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีไม่ได้หายไปไหน และนับวันก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย เพียงแต่ที่ไม่เกินค่ามาตรฐานเป็นเพราะกระแสลมและฝนช่วยพัดพาฝุ่นออกไปจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิด

ดังนั้น เมื่อหมดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ฝุ่น PM 2.5 จึงไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายพัดพากระจัดกระจายออกไป มีผลทำให้ค่าฝุ่นในแต่ละพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเป็นเขตก่อสร้างเกินกว่าค่ามาตรฐานในเขตเมืองใหญ่

ส่วนในพื้นที่ชนบทห่างไกลก็จะถูกผสมโรงกับการ “เผา” ทั้งเผาไร่ ไฟไหม้ป่า ไปจนกระทั่ง การเผาอ้อยเพื่อส่งโรงงาน

กลายเป็นจุด “Hot Sport” แดงไปทั่วทั้งในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

แน่นอนว่า ตัวการใหญ่ในการผลิตฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ต่างก็ทราบกันดีว่า เกิดจากกิจกรรมการขนส่งทางถนน (Road Transport) มากกว่า 54% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ไม่ว่าจะเป็นรถปิกอัพ รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถบัส และรถที่ใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร

จากสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ของ กรมการขนส่งทางบก พบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2563) มีรถปิกอัพและรถแวน “ป้ายแดง” ทั้งหมด 191,721 คัน เมื่อรวมกับรถที่จดทะเบียนมาก่อนนี้ก็จะมีรถปิกอัพวิ่งอยู่บนท้องถนนในประเทศทั้งหมด 6,856,963 คัน ในขณะที่รถบรรทุกจดทะเบียนใหม่มีทั้งหมด 58,019 คัน หรือรวมรถบรรทุกในประเทศทั้งหมด 1,187,328 คัน

โดยตัวเลขรถปิกอัพและรถบรรทุกเหล่านี้ไม่ได้ลดลงเลย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมอายุการใช้งานรถออกมาบังคับใช้

จนอาจกล่าวได้ว่า รถยนต์เก่าแค่ไหน ถ้าตรวจสภาพผ่านก็สามารถต่อทะเบียนออกมาวิ่งใช้งานได้

 

ในขณะที่การรรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในปีนี้ก็เหมือนกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ยังคงมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ด้วยการยึดโยงกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ทำการขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 มีทั้งแผนระยะสั้น-ระยะกลาง และระยะยาว ด้วยการใช้กลไกจัดการดูขึงขังที่เรียกกันว่า การจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ตามปริมาณฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ถูกกำหนดไว้ 3 ระดับด้วยกัน

ระดับที่ 1 ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. โดยรถบรรทุกหกล้อถึงสิบล้อวิ่งได้ถึงถนนวงแหวนรัชดาฯ และรถบรรทุกสิบล้อขึ้นไปให้วิ่งเฉพาะถนนกาญจนาภิเษก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ 3 เดือนเต็ม

ระดับที่ 2 ค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะมีการปิดโรงเรียนไม่เกิน 3 วัน/ครั้ง เพิ่มความเข้มงวดในการกระทำผิดที่เกิดจากการเผา ให้งดกิจกรรมการก่อสร้างทุกประเภท ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักสายรอง ให้รถเก็บขยะมูลฝอยออกเก็บขยะให้เสร็จก่อน 04.00 น. จัดให้มีบริการออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่

และระดับที่ 3 ค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะมีคำสั่งให้หยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5-7 วัน ให้ปิดการเรียนการสอนไม่เกิน 15 วัน/ครั้ง จัดให้มีการเหลื่อมเวลาการทำงานและให้งดการใช้รถยนต์ส่วนตัว การใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่องยนต์ ประสานงานในหน่วยงานราชการในระบบขนส่งมวลชน

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการเผา และการตรวจวัดควันดำรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน

 

ส่วนหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม ดูจะ “ฮือฮา” ไปกว่าคนอื่นด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบกิจการโรงงาน เพื่อ “ขอความร่วมมือ” ให้โรงงานอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตลงหรือควบคุมดูแลการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้

จนร้อนไปถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ถึงกับต้องออกโรงมาชี้แจงว่า โรงงานอุตสาหกรรมนั้น “ไม่ใช่ตัวการหลัก” ในการปล่อยฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน

เพราะต้นตอที่แท้จริงของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหน่วยงานราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมควบคุมมลพิษ ต่างก็ทราบกันดีว่า มาจากกระบวนการเผาไหม้ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการขนส่ง (Road Transport)

ในขณะที่กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Combustion) นั้นคิดเป็นสัดส่วนแค่ 14%

 

หันมาดูด้านของกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ดำเนินการให้สิ่งที่เรียกว่า การ “ทบทวน” แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองด้วยการกำหนด 12 มาตรการเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ซึ่งยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เต็มไปด้วยการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง การสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร-จิตอาสาเพื่อติดตามและเฝ้าระวัง การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า การพัฒนาระบบการคาดการณ์และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ การใช้งาน Application ในการบัญชาการดับไฟป่า และจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้และลดการเผาป่า เป็นต้น

ดูเหมือนว่า ทุกหน่วยงานล้วนแล้วแต่พยายามที่จะ “บูรณาการ” แผนงานเฉพาะหน้าปีแล้วปีเล่า แต่กลับไม่มีใครที่คิดจะผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอหรือทำแผนระยะยาวให้เป็นความจริงขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมปริมาณรถยนต์ภายในประเทศด้วยการ “จำกัด” อายุของรถยนต์ที่เป็นปัญหาหลักของฝุ่นมลพิษอยู่ทุกวันนี้

การควบคุมการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไร่เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า การเผาอ้อยเพื่อตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีมาตรการใดออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง

การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้ปลอดจากการปล่อยมลพิษ และการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ EURO 6 และบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันไม่เกิน 10 ppm พร้อมกันทั่วประเทศ

โดยการขจัดต้นตอสาเหตุหลักของการปล่อยฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการทันที ไม่ใช้งานบูรณาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ทำๆ กันอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นมลพิษที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เป็นการบั่นทอนทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องยาวนาน