ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อนาคตประเทศ ที่รัฐต้องปฏิรูปก่อนประชาชนปฏิวัติ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การเมืองไทยหลังกำเนิดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นการเมืองที่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะเกิดความรุนแรง และในเมื่อผู้ชุมนุมคือพลเรือนไม่มีอาวุธที่พฤติกรรมชุมนุมไม่มีวี่แววใช้ความรุนแรง ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นย่อมมาจากฝ่ายที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่ผู้ชุมนุมโจมตี

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่สังคมเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะฆ่าหรือกวาดล้างผู้ชุมนุม สะท้อนมุมมองว่าผู้มีอำนาจทำตัวเหนือกฎหมายจนทำร้ายเพื่อนร่วมชาติได้ตามใจชอบ ความเชื่อเรื่องชุมนุมจะจบแบบมีเรื่องจึงเป็นผลของสังคมที่มีเรื่องอยู่แล้วระหว่างรัฐ-ผู้ชุมนุม

ในยุคที่การชุมนุมยังมีเวทีปราศรัยจนเกิดความเข้าใจว่าคนจับไมค์คือแกนนำ “เพนกวิน” คือคนที่พูดเรื่องการมีเรื่องเพื่อตอกย้ำว่าใครคือคนที่ก่อเรื่องกับประชาชนมากที่สุด มิหนำซ้ำการยัดคดีเพื่อลากเข้าคุกในกรณีเพนกวิน, รุ้ง, อานนท์ ฯลฯ

ก็ยิ่งตอกย้ำความจริงว่ามีคนพร้อมก่อเรื่องกับผู้ชุมนุมจริง

โดยปกติแล้วการมีเรื่องมักเกิดในเวลาซึ่งคู่ขัดแย้งเผชิญหน้าถึงจุดที่ผู้ก่อเรื่องรู้สึกว่าทนไม่ได้ต่อไป และถึงแม้การสลายชุมนุมราชดำเนินวันที่ 13, ทำเนียบวันที่ 15 รวมทั้งแยกปทุมวันวันที่ 16 คือหลักฐานว่าฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุมทนไม่ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ในที่สุดการกวาดล้างก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย

ถ้าการชุมนุมที่เริ่มต้นพูดเรื่องสิบข้อเสนอปฏิรูปในวันที่ 10 สิงหาคม คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรื่องที่ทะลุเพดาน การชุมนุมในเดือนพฤศจิกายนก็เข้าสู่จุดที่ทะลวงชั้นบรรยากาศโลกไปแล้ว แต่การณ์กลายเป็นว่าสัญญาณของการลงมือก่อเรื่องจากฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุมกลับลดลงอย่างน่าประหลาดใจ

ด้วยบรรทัดฐานของพฤติกรรมที่รัฐไทยทำกับประชาชน 10 สิงหาคม คือวันแรกที่มีความเสี่ยงในการเกิดเรื่องมากที่สุด ถัดจากนั้นคือ 14 ตุลาคม ช่วงที่มีการปลุกปั่นเรื่องขบวนเสด็จ แต่หลังจากนั้นการชุมนุมที่หน้าสถานทูต รวมทั้งการยื่นจดหมายใกล้พระบรมมหาราชวัง กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

ไม่มีใครยืนยันได้ว่าการไม่มีเรื่องในวันนี้คือสัญญาณของการไม่มีเรื่องต่อไป แต่ที่พูดได้แน่ๆ ก็คือการชุมนุมที่ยกระดับต่อเนื่องเผชิญการตอบโต้ต่ำกว่าสมัยซึ่งการชุมนุมยังไม่ยกระดับขนาดนี้ และสาเหตุที่เป็นไปได้มีทั้งเป็นสัญญาณของการ “ประนีประนอม” หรือการรอคอยเพื่อกวาดล้างทั้งยวง

รัฐไทยไม่ใช่รัฐที่เป็นมิตรกับประชาชน และเมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชน ประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงร่องรอยของรัฐในการ “ประนีประนอม” เพื่ออยู่ร่วมกับคนเห็นต่างมีน้อยกว่าประวัติศาสตร์ของการปราบปรามจนแทบไม่ต้องเปรียบเทียบกันเลย

ไม่ว่ามูลเหตุที่แท้จริงของการยังไม่เกิดเรื่องในจังหวะที่มีโอกาสเกิดเรื่องมาแล้วหลายครั้งหลังวันที่ 14 ตุลาคม คืออะไร ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

และนั่นแปลความได้อย่างเดียวว่าประเทศอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ดุลกำลังระหว่างฝ่ายต่างๆ เปลี่ยนไป

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ คำพูดแห่งยุคสมัยที่มีคนพูดมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น” และ “อะไรที่เคยเห็น ก็จะไม่ได้เห็นอีกต่อไป” และไม่ว่าคำพูดเรื่อง “อะไรที่ไม่เคยเห็น” และ “อะไรที่เคยเห็น” ที่แต่ละคนพูดนั้นหมายถึงอะไร ตัวคำพูดก็สะท้อนถึงสำนึกว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลง

คำถามที่ไม่มีใครตอบได้คือการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีจุดจบเช่นไร แต่ด้วยสถานการณ์ที่ประชาชนสู้ทะลุเพดานจนทะลวงเข้าชั้นบรรยากาศ ส่วนรัฐไม่สามารถปราบประชาชนได้ในจังหวะที่อาจปราบแบบในอดีต สิ่งที่เราพูดได้คือประชาชนเป็นฝ่ายมีอำนาจมากขึ้นในการคุมสถานการณ์ทางการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์และพลังเบื้องหลังเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์โจมตีมาตลอดว่า “ประชาชน” รอบนี้เป็นม็อบมุ้งมิ้ง มาเพราะรุ่นพี่บังคับ ถูกธนาธรหลอก เป็นขี้ข้าต่างชาติ ฯลฯ แต่ความจริงที่ทุกคนรู้คือม็อบรอบนี้ Organic, Authentic, ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง, ไม่มีเส้น และบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมี

ถ้าพันธมิตรฯ และ กปปส.คือม็อบมีเส้นที่มีพลังเพราะรัฐมาเฟียและพรรคการเมืองหนุนหลังให้ทำลายประชาธิปไตย

ม็อบปลดแอกและขบวนการแบบคณะราษฎร, แฟลชม็อบ, ม็อบนักเรียน, ขอนแก่นพอกันที ฯลฯ ก็คือม็อบไร้เส้นที่มีพลังเพราะเป็นตัวแทนความต้องการแห่งยุคสมัยในสังคม

พิธาเคยอภิปรายในสภาว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์พูดเรื่องสิบข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน เพราะปัญหา “ความจริงอันกระอักกระอ่วนของสังคม” แต่สามเดือนจากวันนั้นทำให้เรื่องนี้ถูกพูดบนท้องถนนท่ามกลางการจับกุมโดยต่อเนื่องด้วยเหตุผลเดียวคือเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะของสังคม

ท่ามกลางการด้อยค่า, ใส่ร้ายป้ายสี และยุยงปลุกปั่นที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อผู้ชุมนุม ปฏิกิริยาของสังคมต่อการชุมนุมสะท้อนว่าผู้ชุมนุมเป็นตัวแทนสำนึกบางอย่างในสังคมขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐเป็นฝ่ายตั้งรับ อยากปราบก็ปราบไม่ได้ ทั้งที่ยิ่งนานผู้ชุมนุมยิ่งพูดเรื่องที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนพูดมาก่อนเลย

คุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่อดีตนายกฯ ที่เก่งและมีคนรักที่สุด แต่ในบรรดาอดีตนายกฯ ที่ประเทศยังยอมให้แสดงความเห็นสาธารณะได้อยู่ คุณอภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในคนที่ประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำที่สุดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสร้างความขัดแย้งให้ทันทีที่เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง และความขัดแย้งยิ่งนานจะยิ่งลุกลาม

ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมซึ่งการสลายการชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 13 ยังไม่เกิดขึ้น คุณอภิสิทธิ์พูดว่าประเทศไทยไม่มีทางปฏิเสธความต้องการของคนรุ่นใหม่และสังคมได้ตลอด รัฐต้องทำความเข้าใจให้ได้ รัฐธรรมนูญต้องมีทางออก รวมทั้งการบริหารปัญหาละเอียดอ่อนที่ทุกคนรู้ว่าคืออะไร

รัฐบาลพยายามสกัดการชุมนุมโดยจับผู้นำหรือปลุกผีธนาธร แต่การชุมนุมที่ต่อเนื่องโดยไม่มีผู้นำซึ่งจบลงโดยสงบทุกครั้งคือเครื่องยืนยันว่าผู้ชุมนุมไม่ได้มาเพราะผู้นำ ไม่เคยมาเพราะผู้นำ และจะไม่หยุดมาเพียงเพราะไม่มีผู้นำ หรือกล่าวอีกนัยคือคนเป็นล้านทั่วประเทศมีสำนึกบางอย่างอยู่ในใจ

การชุมนุมบนท้องถนนเป็นเพียงการรวมตัวเพื่อแสดงออกของอิสรชนที่คับข้องใจกับสภาพประเทศไทยในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลทั้งที่แพ้เลือกตั้ง, ขวางแก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นนายกฯ เพื่อปกป้องสถาบันคือต้นตอของปัญหาที่ทำให้คนออกมาเต็มแผ่นดิน

ด้วยพฤติกรรมหวงอำนาจที่ทำให้ตัวเองเป็นเรื่องเดียวกับการจรรโลงสถาบัน พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ความไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ลามไปเรื่องอื่นจนน่าตระหนก

พล.อ.ประยุทธ์ทำให้เรื่องที่คนไม่กล้าพูดกลายเป็นเรื่องที่คนตะโกนบนท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่รัฐไม่สามารถปราบใครได้เลย

ไม่ว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจะถูกต้องหรือทำได้หรือไม่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการที่คุณประยุทธ์ใช้วุฒิสภาและพลังประชารัฐขวางแก้รัฐธรรมนูญคือชนวนให้ประเทศมาถึงจุดนี้มากที่สุด เรื่องที่คนไม่กล้าพูดกลายเป็นเรื่องที่คนพูดอย่างเปิดเผยขั้นที่ถึงเวลาแล้วที่ใครต้องตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง

การไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนในจังหวะที่ในอดีตโดนปราบคือสัญญาณการประนีประนอมที่ดี แต่การประนีประนอมต้องตามมาด้วยการเจรจาบนความตระหนักว่าอีกนิดสถานการณ์จะเลยจุดที่คุณประยุทธ์ลาออกหรือแก้รัฐธรรมนูญแล้วจบ การรับฟังและคุยเพื่อหาทางออกจึงต้องทำทันที

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และทุกรุ่นที่มากขนาดนี้คือหลักฐานว่าประเทศไทยเป็นแบบหลังปี 2557 ไม่ได้อีกแล้ว การประนีประนอมของผู้มีอำนาจคือทางออก เพราะถ้าไม่ประนีประนอม สังคมก็จะเผชิญหน้า และจุดจบของความขัดแย้งระดับนี้คือการพังกันทั้งสังคม

ช่วยกันหาทางคุยกันให้ได้ก่อนถึงจุดที่ทุกฝ่ายจะไม่คุยกันอีกต่อไป