ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (14)

ย้อนอ่านตอนที่  13   12   11

“ชาติ” หรือ “Nation” ในความเห็นของ Sieyes ซึ่งประกอบไปด้วยฐานันดรที่สามนั้น มีบทบาทในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะ “ชาติ” แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ทรง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (pouvoir constituant) เมื่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจอันอิสระเสรีจากทุกรูปแบบทางกฎหมาย ดังนั้น “ชาติ” (Nation) ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์ภาวะที่อยู่สูงสุด และไม่ตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อยืนยันว่า “ชาติ” เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และ “ชาติ” เป็นผู้ที่ตัดสินใจก่อตั้งและกำหนดรัฐธรรมนูญขึ้นมา “ชาติ” จึงมาก่อนรัฐธรรมนูญ และเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐ

เจตจำนงของ “ชาติ” จึงชอบด้วยกฎหมายเสมอ เพราะ “ชาติ” คือกฎหมายโดยตัวมันเอง หากจะมีอะไรที่มาก่อน “ชาติ” และอยู่เหนือ “ชาติ” ก็คงมีแต่เพียง “กฎหมายธรรมชาติ” เท่านั้น

“ชาติ” ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ “ชาติ” เป็นอิสระจากทุกรูปแบบทางกฎหมายในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

“ชาติ” สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เพราะอำนาจที่ “ชาติ” ใช้เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) ที่ไร้ขีดจำกัด มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญนั่นเอง

เมื่อรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นแล้ว บรรดาองค์กรต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญได้ตั้งขึ้นก็จะใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitue) การแบ่งแยกอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant)

และอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitue) นี้ ส่งผลให้ “ชาติ” อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือรัฐธรรมนูญ และเหนือทุกองค์กร

คําอธิบายของ Sieyes ที่ยืนยันว่า “ชาติ” เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่องค์กรอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นนี้

เมื่อนำไปประกอบกับคำอธิบายเรื่อง “ชาติ” คือการประกอบรวมตัวกันขึ้นของฐานันดรที่สามแล้ว ย่อมส่งผลให้ฐานันดรที่สามกลายเป็นผู้ทรงอำนาจในการกำหนดระบบการเมืองการปกครอง สถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใช้ในรัฐ และก่อตั้งองค์กรอื่นๆ ขึ้น

ในขณะที่สภาฐานันดรเป็นเพียงองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ ดังนั้น สภาฐานันดรจึงเป็นเพียงองค์กรที่ใช้อำนาจในระดับที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitu?) ไม่ใช่องค์กรที่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นองค์กรที่มาจากรัฐธรรมนูญตามระบอบของกษัตริย์ด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สภาฐานันดรไม่สามารถก่อตั้งรัฐธรรมนูญได้ มีแต่ “ชาติ” ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของฐานันดรที่สามเท่านั้นที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของระบบแบบใหม่

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ ชาติจะแสดงออกซึ่งเจตจำนงได้อย่างไร? เราจะทราบได้อย่างไรว่าชาติได้ตัดสินใจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น?

ต่อประเด็นปัญหานี้ Sieyes เสนอว่า ชาติเป็นองคภาวะเพียงหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ ชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นที่รวมกันของประชาชนทั้งหลาย

ดังนั้น คนแต่ละคนจึงไม่อาจแสดงเจตจำนงออกมาได้ แต่ต้องหลอมรวมให้เป็นเจตจำนงหนึ่งเดียวของชาติ

วิธีการที่จะแสดงออกซึ่งเจตจำนงของชาติจึงต้องใช้ระบบผู้แทน ประชาชนต้องเลือกผู้แทนของตนเข้ามา เพื่อให้ผู้แทนทั้งหลายร่วมกันแสดงเจตจำนงในนามของชาติ

สำหรับกลุ่มคนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทน และบุคคลที่มีสิทธิเป็นผู้แทนได้นั้น Sieyes ใช้หลักการแบ่งงานกันทำ (la division du travail) มาอธิบายว่า คนที่มีบทบาทในทางการเมืองและสามารถกำหนดเจตจำนงของชาติร่วมกันได้นั้น ต้องเป็นคนที่ผลิตและสร้างประโยชน์ส่วนรวมให้แก่สังคม

ดังนั้น จึงมีแต่พวกฐานันดรที่สามเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตัวแทนและถูกเลือกให้เป็นตัวแทน

ความคิดของ Sieyes ในเรื่องนี้ คือ การนำความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในยุคสมัยนั้นที่เน้นการผลิต มาประยุกต์ใช้ในแดนทางการเมือง

ทำให้การผลิตซึ่งเป็นพลังในทางเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองด้วย

กลุ่มคนที่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจผ่านการผลิตและการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง กำหนดระบบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งองค์กรต่างๆ ผ่านการสถาปนารัฐธรรมนูญ

Sieyes ปฏิเสธประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนแต่ละคนมาออกเสียงประชามติ

เขาเห็นว่าประชาธิปไตยทางตรงอาจไปได้ดีในสังคมบุพกาลหรือรัฐขนาดเล็ก

แต่เมื่อรัฐขยายตัวขึ้น ย่อมไม่มีทางที่จะนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ได้ รัฐขนาดใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้างขวางและมีจำนวนประชากรที่มากขึ้น ไม่สามารถที่จะหามติร่วมกันของชาติได้

เขายังอธิบายต่อไปอีกว่า ระบบผู้แทนไม่ได้หมายความว่า พลเมืองทั้งหลายได้โอนเจตจำนงของตนไปให้แก่ผู้แทนเพื่อแสดงออกแทนตนเอง

แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือกผู้แทนเข้าไปเพื่อแสดงเจตจำนงอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่ง

เมื่อผู้แทนได้เข้ามารวมตัวกันเพื่อลงมติตัดสินใจ การลงมติก็เป็นวิธีการในการสกัดเอาประโยชน์ทั่วไปหรือประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชาติออกมา เจตจำนงที่ผู้แทนแสดงออกมาจึงเป็นเจตจำนงของชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เจตจำนงของผู้แทน เพื่อประโยชน์ของผู้แทน

และไม่ใช่เจตจำนงของผู้เลือกผู้แทน เพื่อประโยชน์ของผู้เลือกผู้แทน

ความคิดของ Sieyes ได้ส่งผลทางการเมืองสองทางไปพร้อมกัน

ด้านหนึ่ง คือการเปิดฉากปฏิวัติ ด้วยการปลุกเร้าให้ฐานันดรที่สามเห็นความสำคัญของตนเอง ยกระดับฐานันดรที่สามให้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง มีอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบหรือกฎเกณฑ์แบบที่เคยเป็นมาในอดีต

อีกด้านหนึ่ง คือการปิดล้อมประชาชน-คนชั้นล่าง ด้วยการอธิบายผ่านเศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบผู้แทน

มีแต่เพียงฐานันดรที่สามซึ่งผลิตและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเท่านั้นที่มีบทบาทในทางการเมือง

ประชาชน-คนชั้นล่าง ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้

ระบบผู้แทนได้กีดกันประชาชน-คนชั้นล่างออกไป พวกเขาไม่สามารถเลือกหรือถูกเลือกได้

ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่อาจแสดงออกผ่านการออกเสียงประชามติแบบประชาธิปไตยทางตรงได้อีกด้วย

Qu”est-ce que le Tiers Etat? คือ งานแห่งสถานการณ์ ออกมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะกับช่วงเวลา และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ปลุกเร้าให้พวกกระฎุมพีกล้าที่จะลุกขึ้นปฏิวัติ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อขุนนางอภิสิทธิ์ชน พระ และกษัตริย์ พร้อมกันนั้น มันยังเป็นงานที่กีดกันประชาชน-คนชั้นล่าง ออกไปด้วย

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า Qu”est-ce que le Tiers Etat? เป็นงานปฏิวัติ แต่เป็นปฏิวัติที่สงวนไว้ให้พวกกระฎุมพีเท่านั้น