ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (13)

เมื่อหลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจเรียกประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 1 พฤษภาคม 1789 แล้ว จึงเกิดประเด็นให้ถกเถียงตามมาในเรื่ององค์ประกอบ จำนวนสมาชิกของแต่ละฐานันดร วิธีการลงมติ และการนับคะแนน

ทั้งนี้ เนื่องจากกษัตริย์ฝรั่งเศสไม่ได้เรียกประชุมสภาฐานันดรอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1614 ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่า การประชุมในอีก 175 ปีให้หลังนั้นจะมีกฎเกณฑ์อย่างไร

ศาลปาร์เลอมองต์เสนอว่า การประชุมสภาฐานันดรในปี 1789 ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามแบบการประชุมสภาฐานันดรตามปี 1614 ทั้งหมด

นั่นคือ จำนวนสมาชิกฐานันดรขุนนางมีมากที่สุดและเป็นสองเท่าของจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สาม และการลงมติของสภาฐานันดรให้ใช้วิธีลงมติแยกกันแต่ละฐานันดร และมติแต่ละฐานันดรเท่ากับ 1 เสียง

พวกฐานันดรที่สามเห็นว่าข้อเสนอของศาลปาร์เลอมองต์นั้นไม่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามเป็นสองเท่า เพราะจำนวนประชากรที่เป็นสามัญชนมีมาก จึงต้องมีจำนวนผู้แทนของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยหากยังคงใช้การลงมติแยกฐานันดรกันและนับคะแนนเป็นรายฐานันดร อย่างไรเสีย ฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางก็จะร่วมมือกันเอาชนะฐานันดรที่สามด้วยเสียง 2 ต่อ 1 เสมอ ทั้งๆ ที่หากนับคะแนนเป็นรายบุคคลแล้ว ฐานันดรที่สามอาจเป็นเสียงข้างมากก็ได้

พวกเขาจึงเสนอต่อไปว่า ต้องแก้ไขให้ลงมติร่วมกันทั้งสามฐานันดร โดยนับคะแนนรายคน

 

ประเด็นปัญหาเรื่ององค์ประกอบและการลงมติของสภาฐานันดรนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนกับพวกกระฎุมพี

ในท้ายที่สุด Necker อัครมหาเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 ได้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามให้ แต่ยังคงยืนยันให้มีการลงมติแยกฐานันดรและนับคะแนนเป็นรายฐานันดร

ฝ่ายฐานันดรที่สามได้ถกเถียงอภิปรายประเด็นดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง มีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ออกมาจำนวนมากเพื่อโจมตีรูปแบบสภาฐานันดรที่ถูกครอบงำโดยขุนนางอภิสิทธิ์ชน

แต่หลายกรณี ก็ยังคงเป็นการตอบโต้ที่อยู่ในกรอบความคิดแบบดั้งเดิม คือ การแบ่งแยกฐานันดร เพื่อให้แต่ละฐานันดรได้ปกป้องประโยชน์ของตนเอง และแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสามัญชนที่เก่าแก่ไม่แพ้กับพวกขุนนาง

อย่างไรก็ตาม มีงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนฐานันดรที่สาม โดยอธิบายให้เหตุผลที่หลุดกรอบไปจากเดิม เป็นงานที่ส่งผลสะเทือนและปลุกเร้าให้เกิดการปฏิวัติ

นั่นคือ Qu”est-ce que le Tiers Etat ? ของ Sieyes

 

Sieyes เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นในช่วงปลายปี 1788 และตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือนมกราคม 1789 โดยหวังว่างานชิ้นนี้จะกระตุ้นเตือนให้ผู้แทนของฐานันดรที่สาม “ตาสว่าง” และร่วมมือกันเป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติ

ผลงานของเขาได้การตอบรับดีมาก ต้องพิมพ์ซ้ำใหม่ถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาไม่กี่เดือน เกิดกระแสปากต่อปากถามไถ่กันเสมอว่า “ได้อ่าน le Tiers แล้วหรือยัง?”

ผู้คนตามถนน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ชุมนุมต่างๆ ต่างก็นำข้อเขียนชิ้นนี้ไปถกเถียงอภิปรายกัน

เขาเริ่มต้นงานชิ้นนี้ด้วยการตั้งคำถามและคำตอบไว้ 3 ข้อ

ข้อแรก ฐานันดรที่สามคืออะไร? คำตอบคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง

ข้อสอง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ฐานันดรที่สามมีอะไรบ้างในระเบียบการเมือง? คำตอบคือ ไม่มีอะไรเลย

ข้อสาม ฐานันดรที่สามต้องการอะไร? คำตอบคือ ต้องการเป็นอะไรบางอย่าง

คำถามและคำตอบทั้งสามข้อนี้ได้นำไปสู่การแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ให้กับฐานันดรที่สามนั่นเอง

 

Sieyes เรียกร้องให้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามให้เท่าเทียมกับฐานันดรพระและฐานันดรขุนนาง และให้ลงมติร่วมกันทั้งสามฐานันดรโดยนับคะแนนเป็นรายคน เขาใช้กฎของจำนวนมาหักล้างกฎเกณฑ์แบบจารีตประเพณีโบราณที่อ้างแต่ความเก่าแก่ โดยเสนอว่า เราไม่อาจยอมรับให้พวกเสียงข้างน้อยสามารถทำลายเจตจำนงของคน 25 หรือ 26 ล้านคน

เมื่อจำนวนประชากรที่เป็นสามัญชนมีมาก ก็ต้องมีผู้แทนจำนวนมาก พระและขุนนางที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ย่อมไม่อาจขัดขวางความต้องการของสามัญชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ได้

ไม่เพียงแต่ข้อเรียกร้องเรื่องการให้ฐานันดรที่สามได้มีบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในสภาฐานันดรเท่านั้น Sieyes ยังไปไกลกว่างานอื่นๆ ตรงที่เขาสร้างคำอธิบายให้ฐานันดรที่สามอยู่เหนือพระ ขุนนาง และกษัตริย์ โดยผ่านความคิดเรื่อง Nation

เขาเริ่มต้นจากการเสนอให้ยุติการพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยต้องผูกมัดกับแนวทางที่ทำกันมาในอดีต แต่ต้องเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเสียใหม่ สำหรับ Sieyes แล้ว แนวปฏิบัติในอดีต ไม่มีอะไรมากไปกว่าสิทธิที่จะไม่อดทนต่อเรื่องเดิมๆ อีกต่อไป เราต้องแตกหักกับเรื่องราวในอดีต และต้องย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ นับแต่นี้ ต้องเริ่มต้นจากการค้นหาว่าแท้จริงแล้ว “ชาติ” คือใคร อัตลักษณ์ทางการเมืองอันแท้จริงของ “ชาติ” คืออะไร

พวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนและพวกศาลปาร์เลอมองต์มักอธิบายให้ชาติเป็นองคภาวะทางการเมืองที่มีแต่ละชนชั้นเข้ามาประกอบร่วมกัน

คำอธิบายเช่นนี้ทำให้ชนชั้นขุนนางมีบทบาททางการเมืองเคียงคู่ไปกับกษัตริย์ได้

Sieyes ปฏิเสธคำอธิบายเช่นนี้ และมุ่งไปสู่คำอธิบายใหม่เพื่อเปิดทางให้ฐานันดรที่สามเข้ามากำหนดเจตจำนงในนามของชาติ

 

สําหรับ Sieyes แล้ว “ชาติ” หรือ “Nation” คือ การแสดงออกให้ปรากฏของกฎหมายธรรมชาติ ชาติคือการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลในสภาวะธรรมชาติเพื่อดำเนินชีวิตในสังคมการเมืองด้วยการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้น ชาติเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ด้วยความจำเป็นที่มนุษย์ต้องมารวมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ชาติจึงไม่ใช่ผลผลิตจากสัญญาประชาคมหรือข้อตกลงระหว่างปัจเจกบุคล แต่มันเป็นผลธรรมดาจากกฎแห่งความจำเป็น

ชาติไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มของคนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในดินแดนเดียวกันและปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่มันประกอบขึ้นจากคนที่เป็นหุ้นส่วนของวิสาหกิจของสังคม อันได้แก่ คนที่ผลิตและมีส่วนร่วมกับผลผลิตอันเป็นประโยชน์และใช้ร่วมกัน ดังนั้น ชาติจึงไม่ยอมรับทั้งกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์หรือกลุ่มคนที่ยากจนข้นแค้น เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ไม่ได้ร่วมผลิตใดๆ

จากคำอธิบายส่วนประกอบที่ก่อตัวเป็นชาติเช่นนี้เอง ทำให้ “ชาติ” ของ Sieyes มีแต่พวกฐานันดรที่สาม เพราะพวกเขาผลิต แบ่งปัน และมีทรัพย์สินของตน ในขณะที่พวกอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายไม่อาจถูกนับรวมเข้ามาอยู่ในชาติได้ เพราะเป็นพวกไร้ประโยชน์ ไม่ทำงาน ไม่ผลิต แต่กลับดูดซับทรัพยากรและผลผลิตของผู้อื่นเสมือนเป็นกาฝากหรือปรสิต

เมื่อ “ชาติ” ประกอบไปด้วยฐานันดรที่สามแล้ว ชาติจะมีบทบาทอย่างไรในการสถาปนารัฐธรรมนูญ และชาติจะแสดงออกซึ่งเจตจำนงได้อย่างไร

ในตอนหน้าจะอภิปรายถึงประเด็นนี้กันต่อ