ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล : การตีความ “ก้าวสู่สมัยใหม่ของไทย” ใน “ปากไก่และใบเรือ”

*สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ การแสวงหาห้วงเวลาแห่งการกำหนดตัวเอง สู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย ในผลงาน ปากไก่และใบเรือ (2)

การศึกษาผลงานประวัติศาสตร์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่ในสภาวะน่าแปลกใจในสองประการ

ประการแรกคือ แม้จะมีบทความ งานวิจัย หนังสือ ว่าด้วยเรืjองนิธิและปากไก่ใบเรืออยู่พอสมควร

หากแต่แนวการตีความกลับมีลักษณะรวมศูนย์ และงานแทบทุกชิ้นที่ผ่านมาแทบไม่มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนิธิกับปากไก่แลใบเรือ หรือก็คือไม่มีการย้อนกลับไปอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Fiction as History : A Study of Pre-War Indonesian Novels and Novelists (1920-1942) (1976) ซึ่งนิธิเขียนส่งต่อมหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor

โดยในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ นิธิศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสมัยใหม่ของอาณานิคม Dutch East Indies (ต่อมาคือประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งจะมีผลในก่อรูปโลกทัศน์ วิธีคิดของปัญญาชน-นักเขียนชาตินิยมอินโดนีเซียรุ่นแรก

ความน่าแปลกใจประการที่สองคือ ตัวนิธิเองก็ไม่ใคร่อยากกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ของตนเองมากนักว่าเชื่อมโยงอย่างไรกับงานศึกษาประวัติศาสตร์ไทยของตนเอง

แม้จะได้เคยเล่าไว้บางแห่งว่าตนเองไม่มีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูลที่ประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องทุนวิจัยซึ่งทำให้จำเป็นต้องทำวิจัยด้วยข้อจำกัด

(แม้ว่านิธิจะมีทักษะการใช้บาฮาซาอินโดนีเซีย ภาษาดัตช์ เพียงพอที่จะทำงานภาคสนามแล้วก็ตาม)

 

หากแต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองว่าวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวคือหลักฐานที่เป็นร่องรอยสำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจวิธีวิทยาของนิธิในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ดังที่ผู้เขียนได้แสดงความเห็นเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ในโอกาสได้รับเชิญให้ร่วมวิจารณ์ร่างหนังสือ คราสและควินิน : รื้อสร้างปากไก่และใบเรือ งานวิชาการที่มุ่งวิพากษ์วิธีวิทยาของนิธิในปากไก่และใบเรือ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยผู้เขียนได้เน้นความสำคัญของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเล่มดังกล่าวที่มีต่อการสร้างกรอบโครงการวิเคราะห์ในผลงานปากไก่และใบเรือผ่านสามประเด็นสำคัญคือ

1) ปัญหาเรื่องการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของสังคมสยามบนฐานของกรอบแนวคิดว่าด้วยความทันสมัย (modernization theory) ท่ามกลางประวัติศาสตร์นิพนธ์สองกระแสคือ อนุรักษนิยม (สกุลดำรงราชานุภาพ) ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้นำความเจริญและสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิรูปประเทศ กับอีกกระแสคือประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบฝ่ายซ้าย-เศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีคำถามใหญ่อยู่ที่เรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐทุนนิยม จักรวรรดินิยม ชนชั้น

2) ปัญหาการกำหนดเงื่อนไขความเป็นสมัยใหม่ (precondition of modernity) ผ่านมโนทัศน์เหตุผลนิยม (rationalism) มนุษยนิยม (humanism) และสัจนิยม (realism) ซึ่งงานวิชาการด้านสังคมวิทยาในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นคุณสมบัติที่แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่ และนิธิได้ทดลองปรับใช้มโนทัศน์เหล่านี้กับการศึกษาวรรณกรรมอินโดนีเซียมาก่อนแล้ว

3) การนำเข้ามโนทัศน์ autonomous history ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งแนวคิดและอุดมคติของนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้ผ่านการฝึกจากสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 2510 ถึง 2520

ซึ่งในกระบวนการนำเข้ามโนทัศน์ดังกล่าว นิธิได้ตีความและปรับแปลงมันสู่คำซึ่งจะกลายเป็นลายเซ็นของเขาในภายหลังคือ “ปัจจัยภายใน”

ทั้งนี้ เพื่อค้นหาลักษณะกำหนดตัวเองได้ของสังคมไทยในขั้นตอนเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ผ่านการก่อตัวของโลกทัศน์กระฎุมพีซึ่งเป็นทั้งสำนึก วิธีคิด และวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นในชนชั้นศักดินาและพ่อค้าจีนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

นิธิได้ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาของยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ยึดโยงอยู่กับปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมหลากหลายมิติ

เช่น การค้าสำเภาจีนกับบทบาทตัวแสดงภายในสยาม การรับเอาจารีตวรรณกรรมระหว่างหลวงกับราษฎร์ การเติบโตของเมืองอันเป็นผลจากการขยายตัวของการค้า ทัศนคติที่มองออกสู่โลกภายนอกของชนชั้นนำ ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นผ่านกรณีศึกษาตัวบทวรรณกรรมและศาสนาซึ่งถูกเขียนขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในแง่นี้ “ยุคต้นรัตนโกสินทร์” ในฐานะวาทกรรมวิชาการแห่งทศวรรษ 2520 ซึ่งเดิมมีนัยความหมายสำคัญในแง่ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่มีทั้งความสืบเนื่องทางภูมิปัญญาและแบบแผนทางสังคม-เศรษฐกิจจากสมัยอยุธยา

 

สําหรับนิธิแล้วเขากลับมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่เกิดจากการค้าสำเภากับจีน อันนำไปสู่ความจำเป็นต้องขีดเส้นนิยามความเป็นสยามเก่า-สยามใหม่เสียใหม่

ผลสะเทือนในการตีความใหม่ของนิธิที่กล่าวมานี้ยังทำให้ยุคต้นรัตนโกสินทร์สามารถพิจารณาในฐานะรัฐสยามใหม่ที่แยกขาดจากอยุธยา ซึ่งต่อมาตัวมันเองได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวระบอบครั้งใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการปฏิรูปการปกครองและการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการปฏิวัติในปี 2475

ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ขณะที่การฉลองกรุงฯ ครบรอบ 200 ปีเป็นวาระอันสำคัญที่นักวิชาการทั้งมนุษยศาสตร์ร่วมกันทบทวนปัญหาทางประวัติศาสตร์ในหลากหลายมิติ

สำหรับนิธิแล้วได้ทำให้ยุคสมัยดังกล่าวถูกยกระดับเป็นโครงการทางประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมจารีตสู่สังคมสมัยใหม่ในช่วงแรกเริ่ม (early modern)

ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้าย (relocate) จักรวาลวิทยาแบบใหม่ของชนชั้นนำศักดินาและกระฎุมพีจีนให้ขึ้นไปอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เป็นการวิพากษ์กรอบวิธีวิเคราะห์ในทฤษฎีความทันสมัยที่นักประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมในช่วงทศวรรษ 2510 ถึง 2520 รับเข้ามาใช้ตีความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ซึ่งนิยมปักหมุดหมายไว้ที่บทบาทการรับความทันสมัยของรัชกาลที่ 4, การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 แนวการตีความที่ผสานร่วมกันระหว่างประวัติศาสตร์นิพนธ์สกุลดำรงราชานุภาพ และประวัติศาสตร์ว่าด้วยการสร้างความทันสมัย การรับอิทธิพลตะวันตก (westernization) และการสร้างความเป็นชาติ (nation building) ของสยาม ซึ่งมีต้นธารจากนักวิชาการอเมริกันสมัครเล่นผู้เดินทางมาพำนักในสยาม (ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมตามแนววิเคราะห์ของธงชัย วินิจจะกูล)

ได้กลายเป็นเป้าหมายของนิธิในการวิพากษ์ความเป็นสมัยใหม่ไปพร้อมกัน

เหตุเพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ดังกล่าวให้น้ำหนักยิ่งยวดต่อแรงกดดันจากมหาอำนาจตะวันตกในฐานะปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้ชนชั้นนำและสังคมเริ่มปรับตัวภายใต้การชี้นำของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

นิธิได้กล่าวเน้นในคำนำของปากไก่และใบเรือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ว่า การมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นช่วยให้เข้าใจยุคสมัยปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 ได้ดีกว่าการมองว่าเป็นความสืบเนื่องจากสมัยอยุธยา แน่นอนว่ารวมถึงการทำความเข้าใจการเปิดประเทศและการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งด้วย