จับตา…ระบบใหม่รับเด็กเข้ามหา’ ลัยปี ’61 ตอบโจทย์สังคม-แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ?

ช่วงนี้นักเรียนที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2561 ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

ซึ่งล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบการปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป

โดยกำหนดให้มีการรับสมัคร 5 รูปแบบ

ดังนี้

รูปแบบที่ 1 รับด้วยแฟ้มสะสมงาน โดยไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควต้า นักเรียนเครือข่าย ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 ประกาศรับและคัดเลือก 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2560 ประกาศผลวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ครั้งที่ 2 ประกาศรับและคัดเลือก 22 ธันวาคม 2560-28 กุมภาพันธ์ 2561 ประกาศผลวันที่ 26 มีนาคม 2561

รูปแบบที่ 2 การรับแบบโควต้าที่มีการสอบข้อเขียนหรือการสอบภาคปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค โควต้าโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ สถาบันอุดมศึกษาประกาศหลักเกณฑ์การสอบ ยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา รับสมัครและดำเนินการ ธันวาคม 2560-มีนาคม 2561 ประกาศผลวันที่ 8 พฤษภาคม 2561

รูปแบบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนโครงการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป ทปอ. เป็นหน่วยงานกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบไม่มีลำดับ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลางร่วมกันในเวลาเดียวกัน รับสมัครระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 ประกาศผลวันที่ 8 มิถุนายน 2561

รูปแบบที่ 4 การรับแบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์ สำหรับนักเรียนทั่วไปโดย ทปอ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับสมัคร ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกสมัครได้ใน 4 วิชา รับสมัครระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2561 ประกาศผลวันที่ 13 กรกฎาคม 2561

และรูปแบบที่ 5 การรับตรงอิสระ สถาบันอุดมศึกษารับโดยตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง โดยจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อธิบายว่า ระบบการคัดเลือกแบบใหม่นี้ มีข้อดีคือ ผู้สมัครจะต้องยืนยันสิทธิ์ในสาขาวิชาที่ต้องการรอบใดรอบหนึ่ง เพียง 1 ครั้ง แต่ถ้าผู้สมัครยืนยันสิทธิ์แล้วแต่เปลี่ยนใจ จะต้องสละสิทธิ์ก่อนถึงจะมีสิทธิ์เลือกสมัครในรูปแบบต่อไป ทั้งนี้ ถ้าผู้สมัครไม่เข้าไปยืนยันสิทธิ์หรือสละสิทธิ์ก็สามารถสมัครรอบต่อไปได้ เชื่อว่าระบบนี้จะช่วยสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างเด็กที่มีฐานะดี กับฐานะยากจน ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ โดยทุกวันนี้ยอมรับว่า เด็กวิ่งสอบเยอะ หากใครที่ครอบครัวพอจะมีฐานะ ก็จะวิ่งสอบหลายที่ เป็นการกันสิทธิ์คนอื่น ดังนั้น ระบบใหม่นี้ จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้เด็กได้สอบพร้อมกันเพียงครั้งเดียวแล้วนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือก ซึ่งในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ทปอ. จะประกาศปฏิทินในการคัดเลือก พร้อมรายละเอียดการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยทางเว็บไซต์ของ ทปอ. ขอให้นักเรียนทุกคนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

สำหรับปฏิทินการสอบเริ่มจากวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) สอบวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สอบประมาณวันที่ 3-4 มีนาคม 2561 สอบวิชาสามัญ 9 วิชา วันที่ 17-18 มีนาคม 2561 ส่วนการสอบวิชาเฉพาะ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเป็นผู้ประกาศรายละเอียดการจัดสอบเอง โดยการสอบทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 เมษายน

แม้ระบบการรับเด็กเข้าเรียนแบบใหม่นี้ จะตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้สังคมที่ค้างคามานาน ไม่ว่าจะเป็น ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ฯลฯ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตที่ ทปอ. อาจจะต้องเตรียมวางแนวทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า…

โดย นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบคัดเลือกใหม่ มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น อันดับแรกคือ ให้เด็กได้มีสิทธิ์เลือกเพียง 1 สิทธิ์ มีวิธีการคัดเลือกเด็กหลายวิธี ทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่หลากหลาย รวมถึงยังแก้ปัญหาหลายอย่างที่สังคมคาใจ แต่ส่วนตัวยังเห็นว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กลดลง รูปแบบการคัดเลือก 5 วิธี อาจจะไม่เป็นธรรมกับมหาวิทยาลัยกลุ่มเล็ก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชน

ที่สำคัญจะทำให้เกิดปัญหาการแย่งเด็ก เพราะระบบใหม่นี้ยังไม่มีมาตรการในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน ดังนั้น อาจจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะการรับตรงรูปแบบที่ 5 ที่เปิดให้มหาวิทยาลัยรับเองโดยอิสระ อาจจะทำให้มหาวิทยาลัยกั๊กจำนวนการรับนักศึกษาในรูปแบบที่ 1-4 ไว้ เพื่อมารับเต็มที่ในรูปแบบที่ 5 ซึ่งตรงนี้ ทปอ. ควรจะมีมาตรฐานป้องกัน โดยควรจะลดรูปแบบการสอบให้น้อยลง เพราะดูๆ แล้ว การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนระบบใหม่นี้ เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ. รับเด็กได้ไม่อั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยในกลุ่มอื่นๆ…

ประเด็นหลักที่ ทปอ. ควรคำนึงในการปรับระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้มากที่สุดคือ การรักษาสิทธิ์ให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด

ซึ่งต้องจับตามองว่า การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนระบบใหม่นี้ จะตอบโจทย์ของสังคมได้ทุกคำถามหรือไม่ และที่สำคัญจะสามารถแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานให้หมดไปได้จริงหรือ!!