หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘โลกใบเดิม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ชะนี หน้าที่พวกมัน คือการแพร่กระจายพันธุ์พืช ยังใช้ชีวิตและทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งอยู่ในโลกใบเดิมอย่างที่เป็นมาเนิ่นนาน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘โลกใบเดิม’

 

ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 ฉลามหัวบาตรตัวหนึ่ง ถูกตั้งค่าหัว ให้รางวัล 1,000 บาท กับผู้ที่จับมันได้ “ข้อหา” ของมันคือ ทำร้ายคน กัดเข้าที่ฝ่าเท้าเด็ก ซึ่งนั่งห้อยขาเล่นอยู่แถวท่าน้ำ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฉลามหัวบาตรจะเข้ามาในบริเวณน้ำกร่อย การหาเหยื่อของมันแถวๆ น้ำขุ่น คือเรื่องปกติ ธรรมชาติไม่ได้ออกแบบให้มันมองเห็นในสภาพน้ำขุ่นดีนัก เข้าโจมตีโดยจับความเคลื่อนไหวจากเหยื่อ

หลายครั้งเป็นวัตถุต่างๆ แต่ครั้งนี้เป็นคน

แน่นอนว่า ความโชคร้ายของเด็กชาย ย่อมไม่ใช่เรื่องดี และยิ่งไม่ใช่เรื่องความ “ดุร้าย” ของฉลาม

ในความโชคร้ายของเด็กชาย เขาควรรู้ว่า นี่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในบริเวณซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนและสัตว์อยู่ร่วมกัน

ทว่า สิ่งที่เด็กชายได้เห็นคือ ผู้ใหญ่ตั้งค่าหัว ออกหมายจับให้คนออกล่าฉลาม…

 

ฉลาม, ช้าง, เสือ รวมทั้งเหล่าสัตว์ป่าทั้งหลาย สำหรับคน พวกมันเป็นทั้ง “เหยื่อ” และ “ผู้ร้าย”

ช้างถูกฆ่าเพื่อเอางาและอวัยวะ บางครั้งเป็นข่าวใหญ่ เมื่อ “ผู้ใหญ่” เอาจริง ขบวนการฆ่าสัตว์ป่าเพื่อเอาอวัยวะถูกแฉรายวัน

สัตว์ป่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับช้าง อันเป็นสัตว์ที่คนรู้สึกผูกพัน จึงคล้ายกับว่า ความสลดใจจะมากขึ้น

ผู้ดูแลพื้นที่ในป่าอนุรักษ์บอกเล่า ถึงปัญหาเดิมๆ ที่คนในป่าต้องเผชิญ ผืนป่ากว้างเกินกว่าคนดูแลจะปกป้องสัตว์ป่าไว้ได้ทุกตัว

อวัยวะหลายส่วนของช้างมีมูลค่าสูง ผู้มีความต้องการนำมาใช้ตามความเชื่อ ช้างงาในป่าหาไม่ได้ง่ายๆ ช้างในเมืองจึงพลอยรับเคราะห์ บางตัวถูกเลื่อยตัดงา ช้างได้แต่ยืนน้ำตาไหล

อาจไม่ใช่เพราะความเจ็บปวด น้ำตาไหลเพราะมันเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนที่มันคุ้นเคยและวางใจ

 

ไม่เวลาเดียวกับที่มีข่าวช้างถูกฆ่า ข่าวช้างฆ่าคน ก็แทรกขึ้นมา พระภิกษุเคราะห์ร้ายถูกช้างป่าขี้โมโหทำร้ายจนมรณภาพ อีกรายบาดเจ็บ สาเหตุเพราะนำอาหารไปวางให้ช้าง แล้วช้างตกใจแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป

ช้างพุ่งเข้าชน ใช้ตีนเตะ ก่อนเดินจากไป

เหตุการณ์ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งคล้ายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ที่หมู่บ้านชายป่า หรือบนถนนที่ตัดผ่านมา คนกับสัตว์ป่าจะ “มีเรื่อง” กัน

การกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นเสมอ เส้นทางหากินของช้างโดนตัดขาด ถูกปรับปรุงเป็นพื้นที่เกษตร เป็นเมือง ช้างเข้ามารบกวนพืชผลเสียหาย เหล่านี้คือปัญหา ซึ่งคนพยายามแก้ไขมายาวนาน ช้างบางตัวขี้โมโห หงุดหงิด อารมณ์เสีย มันพุ่งเข้าใส่คนที่พบ หลายตัวชินกับเสียงประทัด บางตัวเตลิดหนี

ช้างทำร้ายคน ย่อมเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เหตุการณ์นี้ตอกย้ำให้รู้ว่า ชีวิตใดก็ตาม เมื่อถูกรุกไล่กระทั่งจนมุม การหันกลับมาสู้คือเรื่องธรรมดา

ถึงวันที่เราต้องยอมรับ ระหว่างเรา สัตว์กับคน ต้องอยู่ร่วมกัน แม้ว่าจะ “ไม่รัก” กันก็เถอะ

วางข้อหาว่าใครถูก ใครผิด คนรุกที่ช้าง ช้างทำลายพืชผลคน

คนเลิกถกเถียง ช่วยกันหาวิธีอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม

 

เสือ นักล่าที่อยู่บนสุดก็เถอะ แม้จะอยู่ในบทบาทพระเอก เป็นนักล่าที่ได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับงาน มีทักษะสูง แต่หลายครั้งพวกมันก็เป็น “ผู้ร้าย”

วันหนึ่งคนออกไปกรีดยางตั้งแต่เช้ามืด พบกับอาการบาดเจ็บสาหัส เพราะการโจมตีจากเสือ

ผู้คนพร้อมอาวุธครบมือจำนวนมากออกไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมติดตามเพื่อจัดการกับเสือสัตว์ดุร้ายอันตราย

เสือหลงออกมาจากป่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มันอาจเป็นเสือที่เพิ่งแยกจากแม่กำลังแสวงหาพื้นที่ หรืออาจเป็นเสือที่เริ่มอ่อนล้า ถูกเสือตัวที่แข็งแกร่งกว่าเบียดออกมา

และเป็นไปได้มากเช่นกันว่า ในพื้นที่ไม่มีเหยื่อให้ล่า ชีวิตเสือจะอยู่ได้เพราะการล่าที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น

ชีวิตเสือขึ้นอยู่กับเหยื่อ แต่ในหน้าที่ของผู้ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช

ชีวิตเหยื่อย่อมขึ้นอยู่กับเสือเช่นกัน

 

ถึงวันนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรารู้เช่นนั้น วันนี้คือโลกยุคใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งเทคโนโลยี ไม่ควร “ยึดติด” อยู่กับวิถีชีวิตเดิมๆ อีกต่อไป

แต่ความจริงที่ว่า โลกไม่ได้เป็นเพียงแหล่งอาศัยของคนเท่านั้น ยังมีชีวิตมากมายมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะอาศัยอยู่ด้วย

สิ่งนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่หลายคนอาจหลงลืม

 

ฉลามถูกตั้งค่าหัว ช้างถูกฆ่าทารุณ คนออกไล่ล่าหาฆาตกร

เสือโคร่งทำร้ายคน คนจำนวนมากออกไล่ล่า

ฉลาม, เสือ, ช้าง นั้น บทบาทหน้าที่พวกมันต่างกัน

เขี้ยวเล็บของพวกมันคือ “เครื่องมือ” ไม่ใช่เครื่องหมายของสัตว์ร้าย

เรื่องบางเรื่องนั้นอยู่ “ข้างใน” ลึกเกินกว่าเทคโนโลยีจะเข้าถึง

ฉลามหัวบาตรถูกตั้งรางวัลนำจับ ในฐานะผู้ร้ายในปี พ.ศ.2563

นี่บอกให้รู้ว่า กระทั่งถึงวันนี้ คนกับสัตว์ป่าจะอยู่ร่วมกันได้ คงเป็นเพียงในความฝัน

 

ระหว่างการ “ไหล” ไปกับโลกใหม่

การเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับชีวิตใน “โลกใบเดิม” ก็จำเป็น…

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่