หัวหน้า พปชร. ‘ยึด’ใช้คงรูป / ฉบับประจำวันที่ 5-11 มิถุนายน 2563

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอดพ้นจากมรสุม “นาฬิกาเพื่อน” หวุดหวิด ด้วยข้ออ้างทางกฎหมาย “ยืม” ใช้คงรูป
ตอนนี้ พล.อ.ประวิตรกำลังถูกจับตาว่า จะปฏิบัติการ “ยึด” (พรรคพลังประชารัฐ-พปชร.) ให้ “คงรูป” ไม่แตกร้าว หลังจากปฏิบัติการ “ยึดพรรค” ดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งก็น่าสนใจยิ่ง
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรพยายามใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว
โดยพยายามปฏิเสธว่าการลาออกของกรรมการบริหารพรรค พปชร.จำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้นายอุตตม สาวนายน พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พปชร. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พ้นจากเลขาธิการพรรค พปชร.นั้น
“ไม่มีอะไร”
และ “นิ่งเฉย”
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีที่หลายเสียงใน พปชร.สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ก็พยายามทำให้ปัญหาใน พปชร.เป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นกัน
“เป็นเรื่องของการเมืองในระดับพรรคการเมือง”

คําถามก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นใน พปชร.และน่าจะลามไปถึงการปรับ ครม. เป็นเรื่อง “เล็ก” และ “ไม่มีอะไร” จริงหรือ
เพราะหากติดตามความเคลื่อนไหวใน พปชร. มาจนถึงการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน
เป็นไปอย่างสลับซับซ้อน เข้มข้น หักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างดุเดือด
จนไม่อาจเห็นพ้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรได้ว่า นี่คือเรื่องเล็ก
ตรงกันข้าม กลับเป็น “เรื่องใหญ่”
ที่อาจชี้ชะตาพรรคแกนนำรัฐบาลเลยได้ทีเดียวว่า จะสามารถประคองตัวต่อไปได้หรือไม่
ความเป็นเอกภาพจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ หลังจากมีการเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรค และการปรับคณะรัฐมนตรี

ต้องไม่ลืมว่า เป้าแห่งการเปลี่ยนแปลงคราวนี้มุ่งไปยังนายสมคิดและสี่กุมาร ซึ่งมีบทบาทในการสร้างพรรค พปชร.มาตั้งแต่ต้น
และว่าไปกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พรรค พปชร.ที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร คสช.ไม่มีภาพเป็นพรรคทหารเหมือนอย่างพรรคสามัคคีธรรม ที่สืบทอดจากคณะรัฐประหาร รสช.
ด้านหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า สถานะการเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็ทำให้กลุ่มสี่กุมารมีแนวร่วมในพรรคอยู่ไม่น้อย
และกำลังถูกจับตาว่า หลังจากโครงการเงินกู้ 1.9 ล้านล้านผ่านออกไปสู่การปฏิบัติ อาจจะทำให้ฝ่ายฟากนี้เป็นพยัคฆ์เสียบปีกได้ เพราะกุม “ทุน” เอาไว้มหาศาล
นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมการหักโค่นจึงเกิดขึ้นทันทีหลังจาก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวผ่านสภา
ด้านหนึ่ง กลุ่มนายสมคิดและสี่กุมารมีกำลังหนุนจากนอกพรรค มากกว่ากลุ่มการเมืองในพรรค ที่ถูกมองว่า ตั้งก๊ก หรือก๊วนขึ้นมาแย่งอำนาจเพียงอย่างเดียว
โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และทีมงาน ให้มีกำลังในการสู้ปัญหา
แต่กลับมาแย่งชิงอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงชาวบ้าน
“แนวร่วมเชียร์รัฐบาล” นอกพรรคเหล่านี้ ต่างโจมตีฝ่ายที่เข้ามาช่วงชิงอำนาจในพรรคอย่างรุนแรง
และกลายเป็นผนังทองแดงให้ฝ่ายนายสมคิดและสี่กุมารอยู่ตอนนี้

แน่นอนว่าหากฝ่ายนายสมคิดและสี่กุมารสู้ การต่อสู้ภายในพรรคก็ย่อมต้องเป็นไปอย่างรุนแรง
เพราะฟากที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร ก็คงไม่ยอมถอยอีกแล้ว
เนื่องจากได้ทุ่มเททุกอย่างในศึกครั้งนี้
การรุกคืบถึงขนาดทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้โอกาสเปลี่ยนขั้ว เปิดกว้างขึ้นอย่างไม่มีมาก่อน
โดยเฉพาะการดึงเอา พล.อ.ประวิตรมาเป็นฝ่ายของตน ด้วยการหนุนให้เป็นหัวหน้าพรรค
ยิ่งจะทำให้โอกาสที่จะได้รับชัยชนะในศึกครั้งนี้ก็มีสูงยิ่ง
กระนั้นถามว่า จะราบรื่นหรือไม่
ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมองไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ไม่น่าราบรื่นนัก
ภาพพจน์ พล.อ.ประวิตรก็ใช่จะสดใสสุกสกาว
ขณะที่แนวร่วมในพรรค ล้วนถูกมองในด้านลบว่าเป็นนักการเมือง “เขี้ยวลาก” ไม่น่าไว้วางใจ
ถึงที่สุด บิ๊กป้อมอาจจะ “ยึด” พปชร.ได้
แต่จะ “คงรูป” พรรค ไม่ให้แตก หรือให้เป็นที่น่าศรัทธาได้ต่อไปหรือไม่
ยังเป็นปัญหา!