ความหวัง

คนที่ได้ดูคลิปชาวบ้านที่เดือดร้อนบุกกระทรวงการคลังทวงสิทธิ์การได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจากรัฐบาล

หลายคนน้ำตาซึม

“ความจริง” นั้นเศร้ายิ่งกว่าบทละครที่จินตนาการขึ้นมาเสียอีก

จนยิ่งกว่าจน

โดยเฉพาะคุณป้าที่ร่ำไห้ บอกแบบไม่อายใครว่าไม่มีเงินแล้ว น้ำก็จะถูกตัด จะกินน้ำในส้วมอยู่แล้ว

“แน่จริงก็เปิดตลาดสิ จะไม่มาเอา 5,000 จะไม่มาง้อเลย”

เธอกำลังบอกว่าไม่ได้งอมืองอเท้าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

คุณป้าพร้อมจะทำมาหากิน ขายของ

แต่ที่ทำมาหากินไม่ได้เพราะรัฐบาลห้ามไม่ให้ตลาดนัดขายของ

เงิน 5,000 บาท สำหรับคนบางคนคือ อาหารแค่มื้อเดียว

แต่สำหรับคนจนที่จนยิ่งกว่าจน

มันคือการเลี้ยงชีวิตทั้งเดือน

“โควิด-19” ครั้งนี้ทำให้เราเห็นชัดถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย

ประโยคไพเราะที่เรียกร้องให้คนไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นั้นแม้จะถูกต้องในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส

แต่ “ความเดือดร้อน” ของคนนั้นแตกต่างกัน

คนที่ “บ้านมีรั้ว” มีเครื่องปรับอากาศ

แค่อึดอัดที่ไม่ได้ไปไหน

แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีเงินออม

และห้องเช่าที่อาศัยอยู่ร้อนตับแตกจนอยู่ในบ้านช่วงกลางวันไม่ได้

การหยุดงานอยู่บ้าน คือการนั่งรอ “ความตาย”

“ความอิ่ม” คือ “มายา”

ยังกินต่อได้

แต่ “ความหิว” คือ “ความจริง”

ไม่มี คือ ไม่มี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงสะเทือนใจในภาพที่เห็นมากพอสมควร

ถึงขั้นยอมหลุดปาก “ขอโทษ” ออกมา

แต่สุดท้าย “ลุงตู่” ก็ยังเป็น “ลุงตู่” คนเดิม ที่ยังติดในระบบราชการ และกล้าๆ กลัวๆ ในการใช้เงิน

เพราะหาเงินไม่เก่ง

แทนที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ “คนจน” ว่าจะรีบอัดฉีดเงินให้อย่างเร่งด่วน

กลับบอกว่าเงินในกระเป๋าตอนนี้มีให้แค่เดือนเดียว

เงิน 5,000 เดือนที่ 2 และ 3 นั้นต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้ก่อน

เขาลืมไปว่าการออก พ.ร.ก.นั้นอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี

การกู้เงินก็สามารถเร่งรัดได้ ไม่ว่าจะออกพันธบัตรรัฐบาล หรือใช้เครื่องมือการเงินอื่นๆ เพราะอยู่ในอำนาจของรัฐบาล

“ลุงตู่” ลืมไปว่า “คนจน” ที่ไม่มีกินกับคนที่กินเงินเดือนประจำมาทั้งชีวิต

“เวลา” ในความรู้สึกของแต่ละคนแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ไม่มีเงินในกระเป๋ายังพอทน

แต่ไปทำลาย “ความหวัง” ของเขาอีก

พูดได้อย่างไรว่าเงินเดือนหน้ายังไม่มี

มันเกินไปจริงๆ