คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “พระธรรมบาล”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งกลับจากดอยหลวงเชียงดาว เพื่อไปร่วมงาน sacred mountain festival ซึ่งมีมิตรสหายหลายคนช่วยกันจัดขึ้น ณ ค่ายเยาวชนเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

งานนี้เป็นงานเฉลิมทางจิตวิญญาณของผู้คนนักแสวงหา ตลอดหลายวันมีเวิร์กช็อปจากวิทยากรซึ่งเป็นตัวจี๊ดๆ เช่น นิ้วกลม, อาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์, วิจักขณ์ พานิช, ถิงชู, ณัฐรส วังวิญญู, หมอมะเดื่อ ฯลฯ และใครต่อใครที่ล้วนเป็นนักแสวงหาเช่นเดียวกัน

เย็นย่ำก็มีคอนเสิร์ต ร่ายรำ ดื่มกิน และพูดคุย

ที่สำคัญ งานนี้เรามีการประกอบพิธีกรรมอย่างร่วมสมัย ในปีที่ผ่านมาผมและวิจักขณ์ได้ตั้งศาลพญานาคขึ้น เพื่อจะชวนให้ผู้คนได้กลับมาเข้าสัมพันธ์กับสายน้ำ (ซึ่งมีพญานาคเป็นตัวแทน) ดังที่ได้เคยเล่าไปแล้ว

และเหตุที่ต้องจัดที่เชียงดาวก็เพราะเราอยากกระตุ้นเตือนให้ผู้คนเคารพธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์นั่นแล

มาปีนี้ วิจักขณ์คิดว่าอยากเชื้อชวนให้ผู้คนกลับมาสัมพันธ์กับธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไฟ ลม อวกาศ) เพื่อจะได้กลับมาสำนึกในความศักดิ์สิทธิ์และสายใยที่เรามีต่อธรรมชาติ อีกทั้งในปีที่ผ่านมานั้น ดอยหลวงเชียงดาวประสบปัญหาไฟป่าที่รุนแรงมาก

ส่วนปีนี้เองก็ดูเหมือนว่าโลกทั้งโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

 

สุดท้ายเราก็ช่วยกันคิดพิธีกรรมขึ้นมาครับ โดยกำหนดให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่เป็นตัวแทนธาตุต่างๆ ให้ศาลเจ้าหลวงคำแดงอารักษ์แห่งดอยหลวงเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ ศาลนาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ เจดีย์หินและธงมนต์ซึ่งเราจะถวายซัง (ควันหอมตามประเพณีทิเบต) เป็นธาตุลม และเขาวงกตในค่ายเป็นธาตุดิน

ที่ศาลนาคและเจดีย์หินเรายังพอนึกออกว่าจะทำอะไร แต่ที่ศาลเจ้าหลวงคำแดงนั้น นอกจากการกราบไหว้ตามประเพณีแล้วยังจะทำอะไรได้อีก จู่ๆ ผมก็แวบขึ้นมาว่า เราน่าจะตั้งท่านขึ้นเป็น “พระธรรมบาล” แล้วจะได้ฝากภาระการดูแลพื้นที่นั้นแก่ท่าน ทั้งเรื่องคน ทั้งเรื่องไฟ เยี่ยงประเพณีพุทธฝ่ายวัชรยาน

พระธรรมบาล (สันสกฤตว่า ธรฺมปาลมฺ, Dharmapala) หมายถึง ผู้ปกป้องหรือพิทักษ์พระธรรมคำสอน ซึ่งท่านเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่อาจเป็นเทพ นาค คนธรรพ์ กินนร ยักษ์ เรื่อยไปจนถึงภูตผีและเจ้าที่เจ้าทางต่างๆ ก็ได้ มีใจเคารพพระรัตนตรัย ยอมรับหน้าที่ที่จะดูแลคำสอน ธรรมสมบัติ ขับไล่ผีร้ายและอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรม และช่วยเหลือผู้ปฏิบัติ

ฝรั่งจึงเรียกว่า Dharma Protector

 

ฟังดูเพี้ยนๆ และประหลาดหน่อยนะครับที่คนธรรมดาอย่างเราจะไปตั้งเทพหรือผีให้เป็นอะไรได้ กระนั้นผมคิดว่าแต่ไหนแต่ไรมา พิธีกรรมแบบนี้เราก็ทำกันอยู่แล้วในประเพณีและวัฒนธรรมเดิมของเรา ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เช่น ที่เขาตั้ง “เสื้อวัด” หรือตั้งผีให้ดูแลวัดวาอารามทั้งหลายในภาคเหนือและอีสานนั่นแหละ

ที่สำคัญ พวกเรามีเจตนาที่ดีและบริสุทธิ์ใจ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด

อีกทั้งการแต่งตั้งพระธรรมบาลครั้งนี้ก็ไม่ใช่ด้วยอำนาจอะไรของเราหรอกครับ เราขออาศัยเอาพุทธานุภาพและพรของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะท่านคุรุปัทมสมภพหรือคุรุริมโปเช มหาสิทธาจากแคว้นอุฑฑิยานผู้มีอานุภาพเหนือภูตผีปีศาจทั้งหลายและอาจกำราบสรรพสัตว์ใดๆ ผู้มีมิจฉาทิฐิได้มาเป็นประธาน

ดังนั้น ฉบับนี้ผมจะถือโอกาสขอเล่าเรื่องพระธรรมบาลที่มีในประเพณีพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน แล้วจะเล่าไปถึงสิ่งที่เราได้ทำต่อไปนะครับ

 

ทิเบตก่อนพุทธศาสนาจะเข้าไป ชาวบ้านนับถือศาสนาผีหรือ “เพิน” (Bon) อยู่แล้วเช่นเดียวกับบ้านเรา ครั้นพุทธศาสนาเข้าไป บรรดาผู้นับถือศาสนาเดิมก็ต่อต้าน ในตำนานว่าภูตผีเหล่านี้ก็พากันต่อต้านด้วย พุทธศาสนาจึงเผยแผ่อย่างยากลำบาก

ต่อมาคุรุริมโปเชรับนิมนต์จากกษัตริย์เข้าไปดินแดนนั้น ท่านก็ใช้อิทธิฤทธิ์ทำให้ภูตผีทั้งหลายยอมรับพุทธศาสนา แล้วได้ให้สัญญาว่าจะดูแลทั้งพุทธศาสนาและบรรดาผู้ปฏิบัติธรรม คืออยู่ในฐานะที่เรียกว่าพระธรรมบาลนั่นเอง

ที่จริงธรรมเนียมเรื่องพระธรรมบาลมีมาตั้งแต่พุทธศาสนายังมีในอินเดียแล้ว ในสมัยมหายานแพร่หลาย มีการรับเอาบรรดาเทพเจ้าของฮินดูมาเป็นผู้ปกป้องพระธรรม

ทุกวันนี้หากเราไปในวัดจีนนิกายก็จะพบ “พระเวทโพธิสัตว์” หันหน้าถืออาวุธมองไปยังวิหารประธานหรือพระอุโบสถ ที่จริงท่านคือ พระสกันทกุมารหรือขันทกุมารของฮินดูนั่นเอง

และคณะสงฆ์จีนนิกายยังมีประเพณี “กงจู้เทียน” หรือการบูชาพระธรรมบาล ซึ่งส่วนมากคือเทพฮินดูเป็นประจำปีอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาวัชรยานแพร่หลาย ก็ได้รับเอาเทพที่ดุร้ายน่ากลัวของชาวบ้านมาเป็นธรรมบาลเพิ่มเติม เช่น ท้าวมหากาล, หัยครีวะ, พระยมราช ฯลฯ เพราะถือว่าอาการแห่งพระธรรมบาลนั้นต้องดุดันเด็ดขาด กำราบได้ทั้งอุปสรรคภายนอกและอุปสรรคภายในคืออุปสรรคทางใจ

เมื่อพุทธศาสนาไปสู่ทิเบต ธรรมบาลจากอินเดียก็เข้าไปแพร่หลายในทิเบตด้วย

ธรรมบาลมีทั้งที่เป็นบุรุษและสตรีเพศ ธรรมบาลบุรุษก็เช่นที่กล่าวไปแล้ว

ส่วนธรรมบาลสตรีที่มีชื่อเสียงมากก็เช่น ปัลเดนลาโม (ศรีเทวี) ซึ่งเป็นธรรมบาลสตรีที่ดูแลองค์ทะไลลามะพระองค์นี้เป็นพิเศษ หรือเอกชฏิ ซึ่งนับถือกันในนิกายกาจูร์ เป็นต้น

ในแต่ละนิกายก็อาจมีธรรมบาลที่แตกต่างกันตามสายปฏิบัติสืบทอดมา พุทธศาสนาในทิเบตเองมีการทำให้ภูตผีปีศาจท้องถิ่นกลายเป็นพระธรรมบาลอีกไม่น้อย เช่น เนจุง หรือพระทิเบตเทวาธิราชซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชกิจขององค์ทะไลลามะ

 

คนทิเบตถือว่า ในเมื่อพระธรรมบาลมีระดับที่แตกต่างกัน จึงมีพระธรรมบาลที่บรรลุธรรมแล้ว (enlighten being) หรือมีสถานภาพเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นภาคพิโรธของพระพุทธะบางองค์ ถือกันว่าพระธรรมบาลจากอินเดียเกือบทั้งหมดอยู่ในหมวดนี้ (ยกเว้นท้าวจตุโลกบาล) พระธรรมบาลเหล่านี้จะมีรูปแบบการปฏิบัติและบำเพ็ญสมาธิขั้นสูงมาเกี่ยวข้อง และไม่เพียงสามารถขจัดอุปสรรคภายนอก ยังสามารถขจัดอุปสรรคภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติได้ด้วย

ส่วนพระธรรมบาลของทิเบตเองซึ่งคือผีของชาวบ้าน มักไม่ใช่พระธรรมบาลที่บรรลุธรรมแล้ว จึงมีบางองค์ที่ดุร้ายมาก ให้คุณให้โทษแก่ผู้คนได้

เช่น สามนางแม่มดแห่งนิกายสาเกียที่ว่ากันว่ามักทำให้คนเจ็บป่วยหรือเป็นบ้า ต้องให้คุรุชั้นสูงเท่านั้นดูแล ธรรมบาลเหล่านี้ส่วนมากมักบูชาเพื่อผลในทางโลก

ดังนั้น คติธรรมบาลในทิเบตและอินเดียคือความสัมพันธ์แบบ “ผีพราหมณ์พุทธ” นั่นเอง เพียงแต่ในทิเบต พุทธศาสนาครอบงำทั้งพราหมณ์และผีได้มากกว่าที่เป็นในบ้านเรา เพราะพระธรรมบาลเหล่านี้แม้จะถูกสักการบูชาก็ยังมีสถานะต่ำกว่าพระรัตนตรัย มีน้อยมากที่ชาวบ้านจะนับถือพระธรรมบาลเหล่านี้แยกเด็ดขาดจากการนับถือพุทธศาสนา

กล่าวคือ ธรรมบาลทั้งหลายยังคงได้รับการนับถือภายใต้ท่าทีหรือมโนทัศน์แบบพุทธศาสนา

ผมคิดว่า นอกจากความเข้มข้นของพุทธศาสนาในดินแดนนั้นแล้ว เทพ-ผีเหล่านี้ไม่ได้ถูกเบียดขับออกไปหรือต้องไปซ่อนอยู่ข้างหลัง

แต่พุทธศาสนาทิเบตจัดแจงหาที่ทางให้อยู่พร้อมจัดระบบความสัมพันธ์ให้ใหม่ด้วยเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องสับสนหรือคิดเอาเอง ทั้งยังนำคติหรือคำสอนในพุทธศาสนามาใช้กับธรรมบาลเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

 

กระนั้นเรื่องพระธรรมบาลในทิเบตก็ไม่ได้ราบรื่นนัก มีความขัดแย้งระหว่างนิกายหรือกลุ่มต่างๆ ในเรื่องพระธรรมบาลอยู่เรื่อยๆ กรณีที่โด่งดังที่สุดคือกรณีพระธรรมบาล “ดอร์เจ ชุกเด็น” (dorje shugden) ซึ่งเดิมเคยนับถือกันในนิกายเกลุค ต่อมาองค์ทะไลลามะที่สิบสี่ประกาศให้เลิกการนับถือพระธรรมบาลองค์นี้ ทำให้เกิดการประท้วงในกลุ่มผู้นับถือแพร่หลายไปในวงกว้าง และยังคาราคาซังอยู่ในปัจจุบัน

หากเรามองพระธรรมบาลข้ามพ้นไปจากเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยมองไปยังมุมแห่งวิถีการปฏิบัติธรรม วิทยาธรเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช ได้อธิบายความหมายของพระธรรมบาลจากมุมของการปฏิบัติที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งอาจสื่อสารกับผู้คนร่วมสมัยได้ดีกว่า

ผมขอยกบางส่วนจาก The Collected Works of Chmgyam Trungpa : Volume 7 มา

ดังนี้

 

“ธรรมบาล หมายถึง “ผู้ปกป้องแห่งคำสอน” หน้าที่ของธรรมบาลคือปกป้องผู้ปฏิบัติจากการหลอกลวง และการเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง หากผู้ปฏิบัติเสี่ยงที่จะตกไปสู่พื้นภูมิที่อันตราย หรือไม่เฮลตี้ต่อกระบวนการบนเส้นทางแล้ว หลักการแห่ง “ธรรมบาล” ก็จะดึงเขากลับมาอย่างรุนแรง

หากผู้ปฏิบัติกลายเป็นหนึ่งเดียวกับคำสอนมากขึ้นเพียงใด พลังแห่งธรรมบาลจะเริ่มตกอยู่ใต้การควบคุมของเขามากขึ้นเท่านั้น ทว่ามิใช่กับนักเรียนผู้เริ่มต้นที่จะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม การติดต่อสื่อสารกับหลักการธรรมบาลจะยังคงอยู่ จนกว่าคุรุจะนำเขาไปสู่ความสัมพันธ์กับพระยีตัม (พระสำหรับเพ่งสมาธิภาวนา)”

ในอีกที่จาก Training the Mind and Cultivating Loving-Kindness มีนิยามของธรรมบาลว่า “คือสิ่งช่วยกระตุ้นเตือนอันเกิดขึ้นในทันทีทันใด แล้วกระแทกใจผู้ปฏิบัติที่สับสนให้ตื่นขึ้น ธรรมบาลสะท้อนสภาวะตื่นรู้ขั้นพื้นฐานซึ่งช่วยนำผู้ปฏิบัติที่สับสนกลับมาสู่วินัยทางจิตวิญญาณของตนเอง”

ส่วนเรื่องธรรมบาลที่ดอยหลวง จะขอยกไปครั้งหน้านะครับ