จิตต์สุภา ฉิน : Sex Tech น้องใหม่ในวงการความปลอดภัยไซเบอร์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Young man and his affair hiding in the bed

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

Sex Tech หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ได้มามีพื้นที่ในการจัดแสดงอย่างจริงจังในงาน CES 2020 เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าหลังจากนี้ไปเราน่าจะได้เห็นอุปกรณ์อย่างเซ็กซ์ทอยทั้งหลายอัพเกรดตัวเองให้มีความไฮเทคมากขึ้นเรื่อยๆ

ความไฮเทคของเซ็กซ์ทอยมีอะไรบ้าง หลักๆ ก็คือการมาพร้อมกับบลูทูธเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บและวิเคราะห์ค่าต่างๆ ที่ได้มา

ข้อมูลที่ว่าก็ล้วนเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อย่างเช่น จำนวนครั้งที่ถึงจุดสุดยอด เก็บเอาไว้เป็นกราฟให้ย้อนกลับไปดูภาพรวมได้ในช่วงเดือนหรือปีที่ผ่านมา

รูปแบบการสั่นของเซ็กซ์ทอยที่ผู้ใช้เซฟเอาไว้ ไปจนถึงข้อมูลที่ลงลึกยิ่งกว่านั้น อย่างการวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือการบีบรัดของผนังช่องคลอดซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์หาและเพิ่มระดับความพึงพอใจได้

อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่มีการพัฒนาเซ็กซ์ทอยให้ไฮเทคและทำให้เราเก็บข้อมูลสำคัญที่ทำให้เรารู้จักร่างกายเราได้ดียิ่งขึ้น

แต่ความน่ากลัวที่ตามมาก็คือ อุตสาหกรรมเซ็กซ์เพิ่งจะเข้าสู่แวดวงเทคโนโลยีได้ไม่นาน จึงไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ดีเท่ากับวงการอื่นๆ ที่เขาผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาแล้วก่อนหน้านี้

 

การเกิดขึ้นของเซ็กซ์ทอยแบบไฮเทคแบ่งออกได้เป็น 3 หมวดหมู่

1. เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีพื้นหลังด้านเทคโนโลยีมาอยู่แล้ว

2. เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากไอเดียบรรเจิดของใครสักคนหนึ่ง แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ ก็เลยส่งต่อให้กับบุคคลที่สามเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการออกแบบและการผลิตให้

และ 3. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ฉาบฉวย ทำแล้วเข็นออกมาขายเร็วๆ เพื่อให้ได้กำไรให้เยอะที่สุด

จากทั้ง 3 หมวดหมู่นี้ มีมากถึง 2 ใน 3 ที่มีแนวโน้มจะไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้สักเท่าไหร่ ความปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่อุปกรณ์มัลติฟังก์ชั่นหรือเกิดรวนในระหว่างใช้งานนะคะ แต่เป็นการที่ไม่สามารถดูแลปกป้องข้อมูลอันแสนจะละเอียดอ่อนของผู้ใช้ไม่ให้รั่วไหลออกไปได้

Internet of Dongs หรือ IoD (เขียนชื่อไปก็ขำไปด้วย เพราะ dong เป็นสแลงที่หมายถึงอวัยวะเพศชาย ตั้งชื่อว่าล้อกับ IoT หรือ Internet of Things ได้อย่างเก่งกาจ) ก็เลยเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นจากการที่คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะทำให้เซ็กซ์ทอยมีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น

แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมาควบคู่กับการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา กลุ่ม IoD ก็เลยอาสาทำงานร่วมกับบริษัทที่ทำทางด้านเซ็กซ์เทคทั้งหลายในการที่จะช่วยดูแล ตรวจสอบ และทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ก่อนจะนำออกมาขายจริง

กลุ่ม IoD ทดสอบและพบกับความจริงที่น่ากลัวหลายอย่าง อย่างเช่น พวกเขาสามารถแฮ็กเข้าไปที่ฐานข้อมูลของผลิตภัณฑ์ด้านเซ็กซ์เทคได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้คำสั่งแค่คำสั่งเดียว

หรือสามารถแฮ็กเข้าไปที่ผลิตภัณฑ์เซ็กซ์ทอยที่ติดกล้องเอาไว้ได้สำเร็จภายในเวลาแค่ 20 นาทีเท่านั้น

ลองจินตนาการว่ามันชวนขนหัวลุกสักขนาดไหน ถ้าภาพที่สุดแสนจะเป็นส่วนตัวที่ถูกบันทึกมาสำหรับให้เราและคู่ของเราได้ดูนั้นมีแฮ็กเกอร์ที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาดูด้วยกัน

และจะน่ากลัวกว่านั้นอีกถ้าหากว่าแฮ็กเกอร์สามารถเชื่อมโยงได้ว่าเจ้าของข้อมูลที่เห็นตรงหน้าเป็นใคร ชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร

 

หนึ่งในการใช้งานเซ็กซ์เทคที่ได้รับความนิยมมากคือการบังคับเซ็กซ์ทอยได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งส่วนใหญ่ออกแบบมาให้คู่รักที่อยู่ห่างไกลกัน มักจะออกมาในรูปแบบของอุปกรณ์ไวเบรเตอร์ที่ผู้หญิงสวมเอาไว้ และอีกฝ่ายสามารถบังคับและกำหนดรูปแบบการสั่นได้ผ่านทางแอพพ์ทุกที่ ทุกเวลา

อันนี้ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เราจะไม่อยากให้มีแฮ็กเกอร์เข้ามายุ่งวุ่นวายกับการบังคับสั่น หรือเข้าถึงข้อมูลว่าเราและคู่ของเราใช้งานมันอย่างไรบ้าง จริงไหมคะ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าเราควรจะแบนเซ็กซ์เทคไปเลย เพราะว่าก็มีมาตรการบางอย่างที่สามารถทำได้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้

อย่างเช่น เริ่มจากการเข้าไปศึกษานโยบายของบริษัทผู้ผลิตก่อนว่าให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้แค่ไหน มีการระบุหรือไม่ว่าได้เข้ารหัสข้อมูลเอาไว้แน่นหนาหรือเปล่า ถ้าหากในเว็บไซต์ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ว่าก็อาจจะพอสรุปได้ว่าบริษัทไม่ได้สนใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ก็ข้ามไปได้เลย

ตามมาด้วยขั้นตอนอย่างการไม่ล็อกอินด้วยข้อมูลที่เชื่อมโยงเข้าหาตัวเราได้ ไม่ใช้อีเมลที่เราใช้เป็นประจำในการล็อกอิน แต่เพื่อความปลอดภัยอาจจะต้องสร้างอีเมลใหม่ขึ้นมาให้เป็นนิรนามไปเลย หรือหากบริษัทไหนไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการล็อกอินก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ แต่ก็มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงว่า ถ้าหากอุปกรณ์หายไป ข้อมูลก็จะหายไปด้วย

แบรนด์ผู้ผลิตเซ็กซ์เทคที่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำให้โปรดักต์ของตัวเองปลอดภัยจากการถูกแฮ็กได้ ก็จะตัดสินใจยังไม่สร้างแอพพ์เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ขึ้นมาก่อน

อย่าง Lora DiCarlo ที่เป็นหนึ่งในแบรนด์เซ็กซ์เทคที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในงาน CES ประจำปีนี้ ก็ยังไม่ยอมเชื่อมต่อแก็ดเจ็ตของตัวเองเข้ากับแอพพ์ จนกว่าจะสามารถแน่ใจว่าจะทำให้มันปลอดภัยจากการถูกแฮ็กให้ได้มากที่สุด

 

วงการเซ็กซ์เทคยังอยู่ในระหว่างการค่อยๆ เรียนรู้กันไป ว่าเมื่อนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาใส่ฟีเจอร์ไฮเทคเข้าไปจะมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง เราอาจจะได้เห็นข่าวเรื่องข้อมูลที่รั่วไหลออกไปหรือการถูกแฮ็กอุปกรณ์กันมากขึ้น แต่ก็จะนำไปสู่การเรียนรู้และทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากนี้เซ็กซ์เทคจะพัฒนาต่อจากการนำอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมมาเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไปในทางไหนอีกบ้าง ถ้าหากมองข้ามช็อตไปสักหน่อยก็เชื่อว่าสิ่งที่รอเราอยู่ตรงหน้าไม่น่าจะหนีพ้นเซ็กซ์โรบ็อต

และจะเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาให้รองรับทุกจินตนาการทางเพศของมนุษย์แน่นอน