“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ประเทศไทย 2563 อย่าหวังจีดีพีโตสูงๆ ขอให้มีมาตรการช่วยสังคม

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมศกก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดรายงาน “ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” เป็นงานศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยซึ่งผลชี้ว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับสูงและมีหลายมิติ เช่น ทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการสร้างรายได้ ด้านโอกาส ด้านคุณภาพชีวิต ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

หรือรายงานล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP) ที่เปิดรายงานดัชนีการพัฒนามนุษย์เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่าประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index – HDI) 0.765 ในปี พ.ศ.2561 ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของประเทศอย่างต่อเนื่องในเรื่องอายุขัยของประชากร การเข้าถึงการศึกษา และรายได้ประชากรต่อหัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ความเหลื่อมล้ำ ไทยกลับมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ลดลงจาก 16.9% เป็น 0.635 หากไม่เร่งแก้ไข ผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ การพลิกผันของเทคโนโลยีจะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ และกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นอะไรมากกว่าเรื่องจำนวนเงินในมือ แต่ยังรวมถึงโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ป่วยที่ต้องรอคิวรักษาอย่างแออัด ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่กระจายไปตามหลายเมือง หรือการเลื่อนออกกฎหมายภาษีที่ดิน จึงเป็นภาพที่ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากขึ้น

 

“ความเหลื่อมล้ำ”
ผ่านชีวิตประจำวันสู่นโยบายประเทศ

ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำชื่อดัง เจ้าของผลงาน “สู่สังคมไทยเสมอหน้า” ได้กล่าวว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังแปลกใจว่าทำไมประเทศเราถึงเหลื่อมล้ำเท่านี้ ทั้งที่เราได้พัฒนามาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง แล้วมีทรัพยากรบุคคลที่ขยันขันแข็ง

คนไทยขยันมาก ลองดูตอนขับรถไปทำงานตอนเช้า ทั้งชายและหญิง ส่วนมากเป็นผู้หญิง ออกมาแต่เช้ามาขายของเล็กๆ น้อยๆ ข้างทาง เพื่อคนทำงาน อย่างขายอาหาร ไม่ใช่พวกเขาไม่ทำงาน พวกเขาทำงาน ขนไป พวกเขาอาจไม่มีความรู้ไปทำงานในบริษัท แต่พวกเขารู้วิธีทอดไข่ยังไง จะทำอาหารยังไง พวกเขาออกมาขาย เพื่อช่วยเลี้ยงครอบครัว

อาจารย์จึงคิดว่า คนไทยโดยทั่วไปยังขยัน แต่บางคนอาจมีขีดจำกัดเพราะเรียนหนังสือไม่สูง หรือมีโอกาสไม่ดี อันนี้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ แล้วเราก็มีทรัพยากรทางเกษตร มีแหล่งกสิกรรมที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เราจะต้องคิดรักษาไว้บ้าง หรือว่าสร้างสิ่งที่เรียกว่าเข็มขัดเขียว (Green Belt) รอบๆ เมืองใหญ่ๆ เพื่อให้มีการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมกับเกษตร

หลายคนอาจไม่ชอบทำงาน หรือไม่สามารถทำงานอุตสาหกรรม ก็มาทำงานเกษตรได้

อันนี้ก็เรื่องของการวางแผน การวางผังเมืองที่ดี การที่ผังเมืองต้องเข้าไปหาความเห็น ดูลักษณะการทำมาหากินของประชาชนและความเป็นไปได้ต่างๆ เรามาทำผังเมืองที่จะปฏิบัติได้ ทำได้ และทำให้ทุกคนมีความสุข และควรมีโลจิสติกส์ที่ดี สำหรับคนทำงานที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่

ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำที่เรามองเห็นขึ้นทุกวัน จะสามารถลดทอนได้ แต่เราก็ตั้งคำถามอยู่ทุกวันว่า ทำไมถึงไม่ทำ หรืออาจพยายามทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็อยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้

แต่การเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้รวดเร็วมาก ดูแค่กรุงเทพฯ ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ภาพของการมีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปมาก อาจารย์อยู่บ้านแถวสุขุมวิทนั่งรถแท็กซี่ไปทำงาน เราจะเห็นคอนโดฯ ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นดอกเห็ด มองเข้าไปคอนโดฯ เหล่านี้ราคาแพง เจ้าของโครงการให้อะไรกับคนซื้อ ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่อยู่อาศัย แต่ให้ความปลอดภัย ให้ทั้งพื้นที่เพื่อการพักผ่อน บางแห่งมีสระว่ายน้ำอยู่ในแต่ละยูนิต แต่ละชั้น และมีบริเวณสวน

มองดูคอนโดฯ เหล่านี้ มักสร้างในชั้นสูงๆ เวลาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่เหล่านี้เป็นสวรรค์ เพราะพวกเขาจะไม่ได้ซื้อที่อยู่อาศัย เขาซื้อความปลอดภัย ซื้อการพักผ่อนหย่อนใจ ซื้อการปลอดมลภาวะ แล้วการที่คอนโดฯ ขึ้นมากๆ คนที่ซื้อคือใคร ก็คือคนฐานะดีจำนวนหนึ่ง แล้วที่เหลือซึ่งเป็นคนทำงานของกรุงเทพฯ และในหลายเมือง ที่ไม่สามารถซื้อคอนโดฯ หรูๆ แล้วต้องไปอยู่รอบนอก เขามีชีวิตเป็นอย่างไร

นี่ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ทุกวัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต้องวางแผนและทำให้มากกว่าเดิม

ศ.ผาสุกกล่าวอีกว่า ความพยายามจากภาครัฐและสังคมที่จะลดทอนความเหลื่อมล้ำไม่สามารถจะเพิ่มได้ทัน ถ้าเราเปรียบเทียบคนที่อยู่รอบนอกก็อาจมีบ้าน แต่เดินทางไปทำงาน-กลับบ้านใช้เวลาเท่าไหร่ กินข้าวกี่ทุ่ม ลูกได้พ่อแม่ช่วยทำการบ้านไหม ก็มีผลสู่ลูก แล้วมาเทียบลูกที่มีคนดูแลอยู่ เขาได้ประโยชน์อะไรมากกว่า แล้วจะมีมาตรฐานอะไรที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แล้วมีมาตรการภาษีเพียงพอไหม ที่จะเก็บภาษีคอนโดเหล่านี้ เก็บภาษีนักธุรกิจที่ทำธุรกิจเหล่านี้ เพื่อใช้ทดแทนและช่วยกับคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้

นี่จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวมาตลอดว่า ทำไมเราอยู่ในภาวะที่เราจะมองอนาคต แล้วน่าจะป้องกันได้ แน่นอนว่าหลายส่วนของรอบนอกกรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้าไปถึง แต่ก็ต้องทำมากกว่านี้ คิดถึงว่า จะทำยังไงให้คนที่ทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศและได้รายได้น้อย ค่าจ้างขั้นต่ำ 230 บาทต่อวัน จะเพิ่มให้ได้ไหม แม้ต่อให้เพิ่มได้ก็ไม่เพียงพอสำหรับภาวะชีวิตปัจจุบัน

แต่จะมีการให้บริการและสินค้าสาธารณะอะไรจากภาษีประชาชนที่จะช่วยให้ชีวิตพวกเขาสะดวกขึ้น ใช้เวลาน้อยลง มีที่กินราคาถูก ไม่ใช่ต้องไปซื้อในบริษัทที่เกือบจะมีลักษณะผูกขาดและตั้งราคา แล้วถ้าคนอยากมาขายของริมทาง มีลู่ทางให้ขายของในเขตชุมชนได้ไหม จนกว่าจะตั้งตัวได้ เหมือนอย่างที่สิงคโปร์มี hawker center (ศูนย์อาหารในเขตเมือง)

ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการวางแผนไปสู่อนาคต ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ทันแล้ว จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่ง อ.สมชาย จิตสุชน ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาความยากจนได้กล่าวว่า

ถ้าเราไม่ระวัง เราจะเป็นประเทศที่มีความยากจนสุดขีดหวนกลับมา และความเหลื่อมล้ำสุดขีด และเป็นต้นตอของปัญหาในทางสังคมและการเมืองในประเทศ

ศ.ผาสุกกล่าวถึงแนวโน้มต่อไปว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ยังมีปัญหาอย่างมลภาวะเป็นพิษและภาวะโลกร้อนที่จะเลวร้ายขึ้น

เรามีการวางแผนหรือยังว่า

เราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไหร่

รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเมื่อไหร่

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างจีน ในกรุงปักกิ่ง มอเตอร์ไซค์เป็นพลังงานไฟฟ้าในเรื่องการขนส่งประจำเมือง เป็นต้นตอของมลภาวะ PM 2.5 ในเมืองใหญ่

น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ หรืออย่างน้อยให้ประชาชนได้เห็นว่ามีแผนการ เพราะตอนนี้มีข่าวจัดซื้อรถเมล์ 3,000 คัน ไม่มีอีวี มีไฮบริดเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นแบบปกติ หรือซ่อมของเก่า เรื่องเหล่านี้คิดว่ารัฐบาลต้องทำเพื่อให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น ประชาชนคนทำงานโดยเฉพาะ

คนรวยไม่ต้องเอาใจมาก เพราะทั้งอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน

 

คำชี้แนะนำถึงรัฐบาลในปี 2563

ศ.ผาสุกกล่าวถึงสิ่งที่ต้องทำในปี 2563 ว่า การที่เราโตขนาดนี้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเริ่มจากตอนแย่ๆ ทั้งนั้น จนเขาอาจโตเร็วกว่าของเราไปอีกขั้นแล้ว

การที่เราโตขนาดนี้ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายมาก

ประเด็นสำคัญก็คือว่า เราได้มีการใช้ภาษีและการคิดคำนึงที่จะสร้างกรอบกติกาสถาบันเพื่อจะรับมือปัญหาสังคมและสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพียงพอหรือยัง และเราใช้เวลากับการแก้ไขปัญหาประจำวันมากเกินไปหรือไม่ แล้วเรื่องสังคมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเร็ว แล้วผู้คนจะปรับตัวไม่ทัน

ดังนั้น พยายามที่จะให้อัตราการเจริญเติบโตไปในระดับที่ไม่ฮวบฮาบ

ไปคาดหวังต้องโต 5-8% ไม่ได้แล้ว

แต่อย่างน้อยให้อยู่ในระดับที่ไปแบบต่อเนื่อง

และอีกอย่างที่สำคัญ เรามีประสบการณ์ว่า ถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ก็จะส่งผลกระทบ

ตอนนี้เรามีกรอบรัฐสภาประชาธิปไตย ก็ต้องพยายามให้คงอยู่ในกรอบ อย่าทำให้เลวลงและหาทางปรับปรุงต่อไป เพราะสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่สมบูรณ์ แต่จะต้องคงอยู่และปรับปรุง

อย่าไปคาดหวังจีดีพีโตสูงๆ แค่ 3-4% ก็พอรับได้ แต่ขอให้มีมาตรการที่ช่วยให้สังคมไม่เลวร้ายลงกว่านี้ ทำให้ประชาชนยังมีความรู้สึกว่ามีอะไรที่ดีขึ้น

ส่วนในแง่เรื่องการมีอภิสิทธิ์จากความร่ำรวยในบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าบริษัทขนาดเล็กต้องลดลง โดยเฉพาะความเที่ยงธรรมของกฎหมาย ซึ่งมีวิธีปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็น ส.ส.ที่เป็นบุตรธิดาที่มีอิทธิพลหรือเกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจ สามารถทำอะไรที่ผิดและลอยนวลอยู่ได้ หรือนักการเมือง นักธุรกิจที่พ้นผิดลอยนวลต้องทำให้ลดลง

ไม่เช่นนั้น จะทำให้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่า ถ้าคนใหญ่คนโต คนที่ควรเป็นเสาหลัก เป็นตัวอย่างของประเทศ ไม่ได้เคารพกติกาบ้านเมือง แล้วพวกเราจะไปเคารพทำไม