คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก เกิดขึ้นที่ไหน เกิดได้อย่างไร ?

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (37)

คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก

ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมดไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา”

เช่น สมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนามขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบายใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ

บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญฺญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้

สมันพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ 6 พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่งชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป

มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน

นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง

ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น)

สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง

แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธัมมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม

ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนแซ่วอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ

ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณนอนทับแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ ฉะนั้น

เธอพิจารณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)

เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธัมมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละบ้านเรือนมา ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง พวกเธอพึงดูแลกันและกัน ถ้าพวกเธอไม่ดูแลกันเอง แล้วใครเล่าจะมาดูแล”

แล้วตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครพึงหวังจะอุปฐากตถาคตก็พึงอุปฐากดูแลภิกษุไข้เถิด” ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธทีเดียว

พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ

ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณนอนทับแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น

ว่ากันว่า เป็นที่มาของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น)