วรศักดิ์ มหัทธโนบล : นโยบายดินแดนเอเชียกลางในยุคถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกันนี้ได้มีบรรดาผู้นำจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือเดินทางมายังราชสำนัก และได้ถวายสมัญญานามแด่ถังไท่จงว่า คากานสวรรค์ (เทียนเข่อหัน) ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือชนชาติทั้งปวง

มีการเฉลิมฉลองสมัญญานามนี้อย่างน่าประทับใจในฉังอัน แม้ในความเป็นจริงจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มิได้ยั่งยืนก็ตามที เพราะถึงที่สุดแล้วปัญหาที่มาจากเติร์กก็ยังดำรงอยู่

การถกเถียงเพื่อแก้ปัญหาเติร์กยังคงมีอยู่ในราชสำนัก เสนามาตย์ข้างหนึ่งเห็นว่าควรผลักดันให้ชนชาตินี้กระจายตัวอยู่ทางด้านใต้แม่น้ำเหลือง โดยให้อาศัยอยู่ตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ แล้วทำการเกษตรเป็นอาชีพ จากนั้นก็ให้ซึมซับวัฒนธรรมจีนเพื่อกลืนกลายเป็นจีน

ส่วนเสนามาตย์อีกข้างหนึ่งที่สมาทานลัทธิขงจื่อกลับเห็นตรงข้ามว่า ไม่ควรให้เติร์กมาอยู่ร่วมกับชาวจีน โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ใกล้กับเมืองหลวง และเชื่อว่าอย่างไรเสียเติร์กเหล่านี้ไม่มีทางที่จะกลืนกลายเป็นจีนไปได้

จากนั้นก็เสนอว่า ควรให้เติร์กเหล่านี้ยังคงอยู่ที่ถิ่นเกิดของตน แต่ให้แยกกันอยู่เป็นส่วนๆ จนเกิดความอ่อนแอทางการทหาร เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภัยคุกคามแก่จีน

 

ความเห็นที่แบ่งเป็นสองข้างนี้มีถังไท่จงทรงเป็นผู้ตัดสิน ผลคือ พระองค์ทรงเลือกข้างฝ่ายแรก จากนั้นก็มีเติร์กนับแสนคนมาตั้งรกรากอยู่ตรงบริเวณชายขอบของมณฑลเหอเป่ยและสั่นซี โดยมีนับหมื่นคนเข้ามาอาศัยอยู่ในฉังอัน และมีบุคคลระดับผู้นำได้รับตำแหน่งขุนศึกประจำกองทัพถัง

ดูไปแล้วผลเช่นนี้น่าจะดีสำหรับเติร์ก แต่ส่วนหนึ่งของข้อความที่พบในจารึกที่เติร์กทำขึ้นในศตวรรษที่ 8 ได้พรรณนาถึงชะตากรรมอันปวดร้าวนี้ว่า

“กุลบุตรแห่งผู้ดีเติร์กได้กลายเป็นข้ารับใช้ให้แก่ชาวจีน แลกุลสตรีผู้บริสุทธิ์ถูกลดฐานะเป็นข้าทาส เหล่าผู้ดีต่างละทิ้งยศศักดิ์เติร์กของตนโดยยอมรับยศศักดิ์จีน จากนั้นก็จำนนต่อคากานจีนด้วยการถวายแรงกายและแรงใจให้ถึงห้าสิบปี สำหรับพวกเขาที่เคยพร้อมจะมุ่งไปเบื้องหน้าที่มีดวงตะวันฉายแสง แลมุ่งไปข้างหลังมีประตูเหล็กนั้น มาบัดนี้ได้ถวายจักรวรรดิแลธรรมเนียมทั้งปวงแห่งตนให้แก่คากานจีนไปแล้ว”

 

หลังจากที่สยบคากานแห่งเติร์กตะวันออกได้สำเร็จแล้ว ชายแดนด้านออร์โดส (Ordos) และมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ในปัจจุบันก็มีความมั่นคงขึ้น

ส่วนเติร์กตะวันตกที่สัมพันธ์กับจีนมาด้วยดีตั้งแต่สมัยสุยก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เติร์กฟากนี้ครอบครองดินแดนจากประตูหยกตรงปลายสุดของกำแพงเมืองจีนของมณฑลกันซู่ในปัจจุบัน ไปจนถึงซัสซานิด (Sassanid) ทางตะวันตกของเปอร์เซีย และจากภาคใต้ของแคชเมียร์ไปจนถึงด้านเหนือของเทือกเขาอัลไต

แต่ใน ค.ศ.630 ชนชาติบางกลุ่มที่ขึ้นต่อเติร์กฟากนี้ได้ลุกฮือขึ้นมาและสังหารคากานของเติร์กฟากนี้ เมื่อเติร์กตะวันตกอ่อนแอลงเช่นนี้ ถังไท่จงก็ทรงหยิบยกนโยบาย “ใช้ชนป่าเถื่อนควบคุมชนป่าเถื่อน” (อี่อี๋จื้ออี๋) มาใช้อีกครั้งหนึ่งด้วยความเคยชิน

โดยใน ค.ศ.641 ถังไท่จงทรงยอมรับความชอบธรรมของคากานคนหนึ่งของเติร์กในฟากนี้ให้เป็นผู้ปกครอง แต่การกระทำครั้งนี้กลับสร้างความขัดแย้งในหมู่คากานของเติร์กตะวันตกด้วยกันเอง ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การศึกของเติร์กฟากนี้นานนับปี

จนเมื่อสถานการณ์สงบลง ผู้ดำรงตำแหน่งคากานก็คือ อี่ผีเซ่อกุ้ย

 

คากานผู้นี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อถัง และได้ขอแต่งงานกับเจ้าหญิงถังเพื่อจะได้เกี่ยวดองกับราชสำนักถัง ซึ่งถังไท่จงไม่ขัดข้อง แต่ทรงขอสินสอดจากอี่ผีเซ่อกุ้ยเป็นดินแดนห้าแห่งในโอเอซิสของแอ่งทาริม ซึ่งมีกูชา โขตาน และคัสการ์เป็นหนึ่งในนั้น

ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงที่สุดแล้วชัยชนะเหนือภูมิภาคที่กล่าวมาของถังไท่จงนั้น ล้วนเริ่มต้นจากการใช้กำลังทั้งสิ้น เหตุฉะนั้น การยกย่องถังไท่จงว่าทรงมีนโยบายที่ยึดหลักสันตินั้น จึงเป็น “สันติ” ที่มีขึ้นหลังจากที่ได้ใช้ “กำลัง” ไปแล้ว

ดินแดนโอเอซิสแห่งเอเชียกลาง นอกจากดินแดนของเติร์กแล้ว อีกดินแดนหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงที่ถังต้องการครอบงำก็คือ ดินแดนโอเอซิส (Oases หรือ Oasis) ดินแดนที่ผู้คนพูดภาษาอินโด-ยุโรปและตั้งถิ่นฐานอยู่ในแอ่งทาริม (Tarim Basin) ซึ่งเป็นดินแดนที่สัมพันธ์กับจีนผ่านชนชาติซย์งหนูมาตั้งแต่สมัยฮั่นแล้ว1

ดินแดนนี้มีอิทธิพลของวัฒนธรรมอิหร่าน อินเดีย อัฟกานิสถาน และจีนผสานเข้าด้วยกัน

สาเหตุที่ถังต้องการดินแดนแถบนี้ก็เพราะเป็นดินแดนที่เป็นทางผ่านของเส้นทางที่เลื่องชื่อ นั่นคือ เส้นทางสายไหม (Silk Road) ที่นายวาณิชจากเอเชียกลาง เปอร์เซีย จักรวรรดิโรมันตะวันออกใช้ท่องผ่านไปถึงจีน

การควบคุมเส้นทางสายนี้ไว้ได้จะเท่ากับควบคุมเส้นทางการค้าได้ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ว่าชาติใดต่างก็ปรารถนา

เมื่อกล่าวถึงเส้นทางสายไหมแล้วมักมีประเด็นที่ชวนให้เข้าใจผิดไปได้ว่า ผ้าไหมอาจคือสินค้าหลักที่มีการซื้อขายกันบนเส้นทางสายนี้ แล้วจึงเรียกเส้นทางสายนี้โดยมีผ้าชนิดนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แต่ความจริงแล้วชื่อของเส้นทางนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นกลับไปอีกยาวไกลนับพันปีเส้นทางสายนี้มีหลายชื่อ โดยมากมักเรียกตามชื่อเมืองที่เส้นทางนี้ผ่านไปถึง

หรือบางครั้งก็เรียกว่าเส้นทาง “เหนือ” หรือ “ใต้” ที่อยู่รอบทะเลทรายทาคลามาคัน (Taklamakan Desert) ในซินเจียงปัจจุบัน

 

โดยชื่อ “เส้นทางสายไหม” นี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1877 โดยนักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ บารอนแฟร์ดินานด์ ฟอน ริชโทเฟน (Baron Ferdinand von Richthoven, ค.ศ.1833-1905) ซึ่งเคยทำงานในจีนระหว่าง ค.ศ.1868-1872 เพื่อสำรวจแหล่งถ่านหินและท่าเรือแล้วเขียนแผนที่ขึ้นมา

แผนที่ที่เขาเขียนนี้ได้ตั้งชื่อเส้นทางที่ผ่านแอ่งทาริมว่า เส้นทางสายไหม ขึ้นเป็นครั้งแรก

ที่สำคัญ แม้เส้นทางสายนี้จะมีชนชาติจำนวนมากที่ผ่านไปมา แต่ชนชาติที่มีบทบาทสูงทางวัฒนธรรมกลับคือ ซ็อกเดีย (Sogdia) ซึ่งเวลานั้นอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองซาร์มาคันด์ (Samarkand) ซึ่งปัจจุบันคือ อุซเบกิสถาน

แม้เส้นทางสายไหมจะเป็นชื่อที่เกิดในยุคสมัยใหม่ และเกิดหลังราชวงศ์ถังกว่าพันปี แต่งานศึกษานี้จะใช้ชื่อนี้เพื่อความสะดวกและง่ายต่อความเข้าใจร่วมกัน

ดินแดนแรกๆ ในโอเอซิสที่ตกเป็นของจีนในยุคถังคือ คาราโกจา (Karakhoja) หรือที่จีนเรียกว่า เกาชัง ปัจจุบันคือเมืองตูร์ฟานที่อยู่ทางตะวันออกของซินเจียง ก่อนที่จะตกเป็นของจีนพื้นที่แถบนี้เป็นที่แย่งชิงของเติร์กกลุ่มต่างๆ

แต่ตอนที่ตกเป็นของจีนในยุคถังไท่จงนั้น กษัตริย์และราชินีของเมืองนี้ได้เสด็จมาเยือนจีน และราชสำนักจีนได้จัดพิธีต้อนรับอย่างเอิกเกริก

ครั้นเสด็จกลับไปได้ไม่กี่ปี กษัตริย์องค์นี้ก็ปิดเส้นทางสายไหมลง ด้วยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาคทาริม

 

นับแต่ ค.ศ.636 ความขัดแย้งในหมู่อนุชนชาติเติร์กในแถบนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การศึกของหมู่ชนชาติในแถบนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยทั่ว จนก่อนสิ้น ค.ศ.638 ถังจึงส่งกำลังรบนอกประเทศเพื่อเข้าตีคาราโกจาหมายเผด็จศึก

ข้างกษัตริย์คาราโกจาทรงเห็นเช่นนั้นก็หัวเราะเยาะเย้ยหยันความคิดของถัง ว่าช่างหาญกล้าข้ามทะเลทรายมาตีตน

แต่ด้วยความมานะอุตสาหะของขุนศึกถังที่นำทัพโดยไม่ย่อท้อ ในที่สุดทัพถังก็เข้ามาถึงใกล้องค์กษัตริย์เสียแล้ว กล่าวกันว่า กษัตริย์สิ้นพระชนม์ลงเพราะทรงตกใจสุดขีดที่เห็นทัพถังบุกเข้ามา

แต่ถึงที่สุดแล้วทัพถังก็มิอาจตีหักคาราโกจาเอาได้ เพราะมีทัพเติร์กตะวันตกเข้ามาช่วยเอาไว้ได้ทัน เป็นการช่วยตามสัญญาที่สองฝ่ายมีให้แก่กัน กว่าคาราโกจาจะถูกเผด็จศึกจริงก็ใน ค.ศ.640

เมืองนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของจีนนับแต่นั้น

(1) แอ่งทาริมนี้เป็นแอ่งน้ำปิด (endortheic basin) คล้ายกับทะเลสาบ เพียงแต่เป็นแอ่งที่เกิดขึ้นในทะเลทราย แอ่งทาริมนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนบริเวณซินเจียงในปัจจุบัน แอ่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,020,000 ตารางกิโลเมตร