ฉัตรสุมาลย์ : ผู้แทนพิเศษจากอเมริกา เยือนภิกษุณีอาราม

อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราชการได้เพิ่มวันหยุดวันที่ 4-5 พฤศจิกายน ทั้งนี้ เพราะช่วงนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนซัมมิต จริงๆ แล้วประเทศในอาเซียนก็เป็นประเทศในเอเชีย 10 ประเทศ แต่ก็มีอาเซียนที่ประชุมกับอเมริกา อาเซียนประชุมกับอินเดีย อาเซียนประชุมกับญี่ปุ่นด้วย

ผู้แทนพิเศษทางด้านอิสรภาพทางศาสนาของอเมริกา ฯพณฯ ซามูเอล บราวน์แบ็ก ก็มาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย

และเนื่องจากท่านเคยนิมนต์ท่านธัมมนันทาให้ไปร่วมประชุมเรื่องอิสรภาพทางศาสนาที่หน่วยงานของท่านจัดทั้งที่ไต้หวันและอเมริกามาแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อท่านมาประชุมคราวนี้ ท่านก็เลยถือโอกาสมาสานสัมพันธ์กับบรรดาศาสนิกทั้งพุทธ คริสต์ และมุสลิมที่มีความสนใจในเรื่องอิสรภาพในการนับถือศาสนาอีกครั้งหนึ่งด้วย

ท่านธัมมนันทาเตรียมจัดการต้อนรับเพื่อการประชุมเล็กๆ ครั้งนี้ โดยต้องออกไปซื้อเก้าอี้สำหรับห้องประชุมให้ดูเข้าท่าหน่อย จะรับแขกเมืองด้วยเก้าอี้พลาสติกก็กระไรอยู่

เราใช้ห้องประชุมปกติของวัดนั่นแหละค่ะ เป็นห้องขนาดย่อม ติดเครื่องปรับอากาศ ยกเก้าอี้รับแขกสำหรับที่ ฯพณฯ จะนั่ง ให้ดูดีพอควร แล้วท่านผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นก็ฉลองเก้าอี้ที่เพิ่งออกไปซื้อหามา

 

ทางสถานทูตอเมริกา มีเจ้าหน้าที่มา 5 ท่าน เป็นชาวไทย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโดยตรง 1 ท่าน นอกนั้นเป็นชาวอเมริกัน นอกจากนั้น เป็นชาวคริสต์ ซึ่งเป็นบาทหลวง 1 ท่าน และเป็นอาจารย์สอนที่ ม.มหิดล 1 ท่าน ทางฝ่ายศาสนาอิสลาม ทางสถานทูตเชิญท่าน ดร.อาณัสมาเพียงท่านเดียว ส่วนฝ่ายศาสนาพุทธก็เป็นท่านธัมมนันทาและ ดร.กาญจนา รายหลังนั้นเพิ่งไปร่วมงานประชุมอิสรภาพในการนับถือศาสนาที่วอชิงตัน ดี.ซี. มาเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เอง

ฯพณฯ เล่าให้ฟังว่า ในทริปนี้ ท่านแวะทั้งอินเดียและเนปาลมาก่อนที่จะมาประเทศไทย ที่อินเดียนั้น ท่านให้ความสนใจกับพุทธศาสนาเป็นหลัก อุตส่าห์เดินทางขึ้นไปเฝ้าองค์ทะไลลามะถึงเมืองธารัมศาลา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย

การเดินทางถ้าไม่ตั้งใจจริงก็ไม่น่าจะไป

ท่านสนใจและเห็นความสำคัญในการที่องค์ทะไลลามะเป็นศูนย์รวมจิตใจ ไม่เฉพาะของชาวทิเบตเท่านั้น แต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลกทีเดียว

ระดับความสำคัญที่สังคมโลกรู้จักเทียบได้กับสันตะปาปาของโรมันคาทอลิกทีเดียว

นอกจากนั้น ท่านเปิดกว้าง และให้ความสนใจในประเด็นการดูแลรักษาธรรมชาติด้วย ท่านจึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของชาวโลกอยู่มาก

ตอนนี้ท่านอายุ 84 แล้ว แม้จะอายุมาก แต่องค์ทะไลลามะบอกกับท่านว่า จะอยู่ไปอีก 15-20 ปีทีเดียว พร้อมกับโชว์กล้าม เพื่อแสดงความแข็งแรงอีกด้วย

ท่านธัมมนันทาเล่าให้ท่านฟังว่า นอกเหนือจากองค์ทะไลลามะแล้ว ตอนนี้ก็มีผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตอีกท่านหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ องค์กรรมะปะ ผู้นำของทิเบตอีกนิกายหนึ่งที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยู่ในวัยประมาณ 20 ปลาย ที่หนีออกมาจากจีนตั้งแต่ตอนที่เป็นวัยรุ่น

ถ้าโดยวัยน่าจะรุ่นหลานมากกว่ารุ่นลูกขององค์ทะไลลามะด้วยซ้ำ

และแม้จะต่างนิกายกัน องค์ทะไลลามะก็ฟูมฟักองค์กรรมะปะไม่น้อย

สำหรับผู้เขียนเอง ไม่ได้กังวลกับการสืบทอดตำแหน่งองค์ทะไลลามะ จากองค์ที่ 14 ไปสู่องค์ที่ 15 มากนัก

เพราะคิดว่า ในประชากรชาวพุทธทิเบตหากสิ้นองค์ทะไลลามะแล้ว องค์กรรมะปะอาจจะก้าวขึ้นมาเติมเต็มช่องว่างนั้น ผู้เขียนอาจจะผิดเต็มเปาเลยนะ

 

นอกจากการพูดคุยกันเรื่องการสืบสายขององค์ทะไลลามะแล้ว ในส่วนของพุทธศาสนา ท่านมองภาพกว้างของพุทธในองค์รวม ประเทศไทยที่มีประชากรชาวพุทธสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น เป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้ชาวพุทธในประเทศไทยคุ้นชินกับความเหมือน คือ เป็นพุทธด้วยกัน และศูนย์เสียพลังในการคิดสร้างสรรค์ ในการก้าวให้ทันโลก ปรับตัวให้คำสอนนำชีวิตของเราในความเป็นจริง

ท่านบอกว่า ในอเมริกา ประเทศของท่านนั้น จำนวนประชากรชาวพุทธเป็นชนส่วนน้อย ในฐานะของความเป็นชาวพุทธให้มองภาพรวมของพุทธศาสนา

ผู้เขียนเองต้องยอมรับว่า สะดุ้งวาบในใจทีเดียว เพราะตลอดเวลาคิดเฉพาะในประเทศไทยที่มีประชากรชาวพุทธเป็นชนส่วนใหญ่ เราจึงละเลย และคิดไม่เป็นที่จะดูแลชนกลุ่มน้อย ได้เรียนท่านว่า มีความเชื่อว่า ในที่สุด ศาสนาพุทธอาจจะย้ายไปประดิษฐานในตะวันตกก็ได้

ที่พูดเช่นนี้ เพราะชาวพุทธในอเมริกาและตะวันตกโดยรวมนั้น เป็น Buddhist by choice คือเลือกแล้วที่จะเป็นพุทธ ในการเลือกนี้ เขาผ่านช่วงของการพิจารณาว่า ศาสนาเดิมที่เขานับถือนั้น เน้นศรัทธา ที่บางครั้งตัวเขาเองเห็นว่า ไม่สมจริง ไม่สอดคล้องกับความจริงทางวิทยาศาสตร์

ศาสนาบางศาสนาสร้างความรู้สึกผิดบาปที่ศาสนิกต้องรับ ซึ่งเขายอมรับไม่ได้ เมื่อเกิดความไม่พอใจ เขาก็ไปสู่ช่วงของความว่าง คือไม่ไปโบสถ์ และเริ่มแสวงหาทางออกอื่น ในโลกปัจจุบัน มีข้อมูลให้ค้นคว้าศึกษาได้มากมาย

ชาวตะวันตกกลุ่มนี้เห็นว่า คำสอนในศาสนาพุทธตอบโจทย์ทางจิตวิญญาณให้เขาได้มากที่สุด จึงเริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนา

นับตั้งแต่ความสนใจในรูปแบบ สีสัน ดังที่ปรากฏว่าชาวพุทธในอเมริกาส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธนิกายทิเบต

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะองค์ทะไลลามะท่านสามารถสื่อกับชาวโลกด้วยภาษาที่ง่ายโดยใจ สร้างศรัทธาอย่างยิ่งและรวดเร็ว

 

ศาสนาพุทธที่นับถือกันในอเมริกาถัดมาจากนิกายทิเบต จะเป็นมหายาน ซึ่งจะตอบโจทย์ให้แก่ชาวพุทธที่มาจากตะวันออกและมาตั้งรกรากในอเมริกา เน้นพิธีกรรม เน้นการสร้างทานบารมี วัดวาอารามของมหายานในอเมริกานั้นกว้างใหญ่มาก

ส่วนพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้วก็จะตอบโจทย์ให้คนไทย ลาว เขมร เวียดนามที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ยังไม่มีความชัดเจนในการที่จะดึงดูดความสนใจของชาวอเมริกันจากระดับความเชื่อทางศาสนานัก ด้วยมีข้อจำกัดทางด้านภาษา ในประเด็นนี้ พระภิกษุต่างชาติที่หันมาบวชในเถรวาทก็ช่วยได้มาก

ชาวพุทธในบ้านเราเอง เป็นชาวพุทธที่ท่านธัมมนันทาเรียกว่า Buddhist by chance ที่บังเอิญเกิดมาในบริบทของพุทธศาสนา เลยไม่ให้ความสนใจจริงจังกับเนื้อหาคำสอน เป็นพุทธเพียงพิธีกรรม เช่นนี้เองที่มีความเชื่อว่า พุทธศาสนาจะไปเติบโตทางตะวันตก

ฯพณฯ พูดถึงการเยียวยาที่เริ่มต้นจากศาสนิกในศาสนานั้นๆ ท่านเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองเดิมในประเทศของท่านคืออินเดียนแดง และชนผิวขาวที่อพยพเข้าไปในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งกันมาก

แต่บัดนี้ได้มีการเยียวยาโดยย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับพื้นดิน ซึ่งเป็นการดูแลรักษาธรรมชาติตามความเชื่อเดิมของชาวอินเดียนแดง

 

คําถามที่ทางฝ่ายสถานทูตถาม ที่ผู้เขียนเองก็ยังต้องย่อยอยู่ คือ ในประเทศไทยเราจะเริ่มเปิดประเด็นไปสู่อิสรภาพทางศาสนาอย่างไร

ท่านธัมมนันทาเสนอว่า เราอาจจะพูดคุยกันโดยเลือกประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทางศาสนาคริสต์ ผู้เข้าร่วมให้ภาพของกลุ่มชาวคริสต์ในไทย แม้ว่าจะมีประชากรเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องยอมรับว่า ศาสนิกของคริสต์มีการศึกษาในระดับที่ดีกว่าพุทธ ทั้งที่พุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่ก็ตาม

โปรเตสแตนต์และคาทอลิกที่เข้ามาเมืองไทย เน้นเรื่องการศึกษา เราจึงมีโรงเรียนที่บริหารจัดการโดยชาวคริสต์ที่มีระดับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย

 

อาจารย์อาณัส พูดจากแง่มุมของมุสลิม อธิบายหลักคำสอนที่เน้นสันติภาพ แต่ภาพที่ปรากฏที่ไม่นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ น่าจะเป็นความไม่เข้าใจในหลักคำสอนที่แท้จริง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นจริงในทุกศาสนา หลายครั้ง ศาสนาถูกนำมาอ้าง นำมาใช้เป็นเกราะกำบัง เพราะหากเน้นประเด็นทางศาสนาจะมีศรัทธาของประชาชนเข้ามาทันที

แม้ในพม่าที่มีพระแนวทหาร militant monk ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เพราะท่าทีของพระภิกษุ กับความเป็นทหารที่นำไปสู่ความรุนแรงทั้งทางด้านภาษาที่สื่อออกไปในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

ท่านธัมมนันทายืนยันว่าในคำสอนของพุทธศาสนานั้น ไม่มีคำสอน หรือแม้ท่าทีที่จะสนับสนุนความรุนแรงดังกล่าว

ที่ไม่เข้าใจคือ แล้วพระภิกษุในชาติอื่นๆ ไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ หรือ

 

ฯพณฯ และคณะมาแวะเยี่ยมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ในจังหวัดนครปฐม แล้วจะต้องกลับไปสนามบินเพื่อบินกลับไปอเมริกาในคืนนั้น

ท่านธัมมนันทากล่าวขอบคุณท่าน ที่ใช้เวลาในการมาเมืองไทยอย่างคุ้มค่าเต็มที่ โดยเฉพาะที่มาเยี่ยมภิกษุณีนี้แหละ

ท่านอาจารย์อาณัสผู้แทนฝ่ายอิสลาม และท่านบาทหลวง พร้อมอาจารย์ชาวคริสต์จาก ม.มหิดลที่ศึกษาเรื่องสันติศึกษา ที่เข้าร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลกับผู้แทนพิเศษของสหรัฐอเมริกา ล้วนมีความยินดี และจะใช้โอกาสนี้ในการสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในประเทศไทยต่อไป

ในวัฒนธรรมของเราก็เป็นเช่นนั้น เราจะสร้างความเข้าใจกันได้ดี ช่วยแก้ปัญหาด้วยกันก็เมื่อมีการรู้จักกันเป็นการส่วนตัวแล้ว

การมาเยือนอารามของภิกษุณีโดยผู้แทนพิเศษของสหรัฐ แม้พูดคุยเรื่องภิกษุณีน้อยมาก แต่ก็เป็นหมายที่ดีว่า ท่านให้ความสำคัญต่ออิสรภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง นอกจากการที่ท่านมาเยือนแล้ว ท่านยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ศาสนิกต่างศาสนาในประเทศไทยได้ทำความรู้จักมักคุ้นเพื่อการทำงานร่วมกันในการช่วยกันถางทางให้เกิดอิสรภาพทางศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนที่ส่งคณะกลับ ท่านธัมมนันทากล่าวลา โดยเรียกท่านผู้แทนพิเศษว่า “คุณปู่” ท่านก็เลยชะงัก ควักมือถือออกมาให้ดูรูปหลานๆ ที่ท่านมีความสุข 5 คน เป็นบรรยากาศที่คลี่คลายจริงๆ

เหมาะกับบรรยากาศของการพูดคุยเรื่องอิสรภาพทางศาสนา เพราะมันเริ่มต้นจากความรู้สึกผ่อนคลายในระดับบุคคลนี่เอง