คารวะเจ้าแม่ทับทิม (พระม่าจ้อ) เข้าใจเทพ-ผีในระบบความเชื่อจีน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

แม้ผมจะสนใจอะไรแขกๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมมีรากเหง้าในความเป็นจีนเสียไม่น้อยกว่าครึ่ง ดูนามสกุลก็บอกยี่ห้ออยู่ (ฮ่าๆ)

ผมเป็นลูกหลานคนจีนฮกเกี้ยน บรรพชนทวดชายของฝ่ายพ่อมาจากเมืองเอ้หมึง (จีนกลางเรียกเซียะเหมิน) มณฑลฮกเกี้ยนหรือฟูเจี้ยน ผมเป็นรุ่นที่ห้าแล้ว

ส่วนฝ่ายบรรพชนทวดหญิงของฝ่ายพ่อเป็นคนจีนช่องแคบที่เรามักเรียกว่าบ่าบ๋า เปอรานากัน หรือบุ่นเต้หลาง อย่างที่เห็นในระนอง ภูเก็ต เรื่อยไปจนมะละกาและสิงคโปร์นั่นแหละครับ

นับจากต้นวงศ์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามหรือรัชกาลที่สี่ก็แปดรุ่นเข้าไปแล้ว

เสียดายว่าผู้ใหญ่ที่รู้ภาษาจีนและเรื่องเก่าๆ ล้มหายตายจากไปมาก ผมเลยรู้เรื่องจีนอย่างงูๆ ปลาๆ เสียยิ่งกว่าเรื่องงูๆ ปลาๆ อื่นๆ ของผม

แต่ก็นั่นแหละครับ ในเมื่อเป็นเรื่องรากเหง้าก็ควรต้องเอาใจใส่ ไหว้พระไหว้เจ้าก็ต้องรู้เรื่องบ้าง จะได้เล่าให้คนอื่นฟังไม่ขายหน้าอาจ้อทวดเทียดทั้งหลาย

พอดีมีข่าวว่าเขาอัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมหรือพระนามในภาษาฮกเกี้ยนว่า ม่าจ้อโป๋ (แต้จิ๋วว่า หม่าโจ้ว) หรือพระอิสริยยศว่าเทียนส่งเซ่งโบ้ (แต้จิ๋วว่าเทียนโหวเซี่ยบ้อ) จากศาลแรกสุดอายุ 1,032 ปี ที่เกาะหมีจิว มณฑลฮกเกี้ยนมายังกรุงเทพฯ

เลยต้องออกไปคารวะในฐานะลูกหลานฮกเกี้ยนเสียหน่อย

 

ชาวสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย อันเป็นแซ่เดียวกับเจ้าแม่เป็นเจ้าภาพหลักในงานนี้ เพราะนอกจากเคารพท่านในฐานะเทพเจ้าแล้ว ยังนับถือท่านในฐานะบรรพชนของตระกูลด้วย

ที่น่ารักคือเขาถ่ายภาพตอนนำเทวรูป (จีนว่า กิมซิ้น) ขึ้นเครื่องมาไทย สายการบินเอ้หมึงแอร์ได้ออกตั๋วโดยสารให้ท่านและบริวารสององค์ขึ้นมาบนเครื่องด้วยครับ แถมระบุชื่อ “หลินม่อ” อันเป็นพระนามเดิมของท่านไว้ในตั๋วด้วย

น่ารักขนาดนี้ เราจะพลาดดูเลขต่างๆ บนตั๋วนั้นเหรอครับ ทั้งเลขที่นั่ง เวลา ไฟลต์ โอ้ยเยอะจนซื้อหวยไม่หวาดไม่ไหว ผมเลยส่งให้คนทางบ้าน ซึ่งอาจมีความเชี่ยวชาญในการตีหวยมากกว่า ของแบบนี้มันสอนกันยาก

อาจารย์เศรษฐพงศ์ จงสงวน เคยบอกผมว่า เทพจีนส่วนมากก็มักเป็นคนจริงๆ ที่มีความโดดเด่นทางด้านคุณธรรมหรือความเชี่ยวชาญ เมื่อตายไปเขาก็ยกย่องเป็นเทพ ดังนั้น ในวัฒนธรรมจีน เทพส่วนมากก็มาจาก “ผี” นั่นแหละครับ

แต่ก็อาจมีเทพที่มาจากโลกธรรมชาติ เช่น ดวงดาวและพลังงานต่างๆ บ้าง หรือรับเอาจากพุทธศาสนามาปรับก็มี กระนั้นแบบที่มาจาก “ผี” น่าจะเยอะสุด

กวนอู งักฮุย เจ้าแม่ม่าจ้อ พระจ้อซู่กง (หรือพระโจวซือกงที่มีศาลอยู่ตลาดน้อย) ไต้ฮงกง ฮกเต็กเจี่ยสินหรือปุนเถ่ากง ฯลฯ ท่านเหล่านี้ล้วนเคยมีชีวิตเป็นคนธรรมดาๆ มาทั้งนั้น

“ในโลกเป็นอย่างไร ในโลกวิญญาณเป็นอย่างนั้น” ท่านเสริมให้ผมฟังว่า คนจีนเชื่อว่าในโลกวิญญาณก็ไม่ต่างจากโลกมนุษย์ เช่น มนุษย์มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร มีการปกครองอย่างไร ในโลกวิญญาณก็เป็นเช่นนั้น

ดังนั้น เทพเจ้าจีนส่วนมากจึงอยู่ใน “ระบบราชการ” แบบจีนครับ คือมีลำดับชั้นยศฝ่ายบู๊และบุ๋น เช่น ท่านฮกเต็กเจี่ยนี่ก็ระดับนายบ้าน หง่วนโซ่ยหรือนายทัพ ระดับอ๋องหรือเจ้าต่างเมือง ระดับไต่เต่หรือพระราชาธิราช ฯลฯ ทุกพระองค์ล้วนรับราชการหมด

ส่วนผู้จะเถลิงยศหรือลดยศให้เทพเจ้าได้ คือ “ฮ่องเต้” เท่านั้น เพราะถือว่าฮ่องเต้เป็น “โอรสสวรรค์” มีสิทธิอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ในการแต่งตั้งยศผีหรือเทพหากทำคุณประโยชน์ให้

ดังนั้น ศาลเจ้าจีนที่จริงก็คือจวนหรือวังของเทพครับ ขึ้นอยู่ว่าเทพเจ้าที่เป็นประธานของศาลอยู่ในระดับใด ในศาลเจ้าจึงมีองครักษ์ มีการจัดวางแบบจวนหรือวัง มีเทพบริวารฝ่ายบู๊-บุ๋น มีเทพผู้เป็นเจ้าพิธีการ มีธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ

 

นอกจากเทพหลักๆ ซึ่งมีคนรู้จักทั่วไปแล้ว เทพเจ้าของคนจีนยังแบ่งออกเป็นที่นิยมตามภูมิภาค และเท่าที่ผมทราบ โดยเฉพาะในจีนตอนใต้ ดูเหมือนคนฮกเกี้ยนจะมีเทพเจ้ามากมายที่สุด

มีเทพใหญ่ๆ ที่คนจีนอื่นอาจรู้จักบ้างหรือไม่รู้จักบ้าง เช่น เจ้าแม่ม่าจ้อ พระหมอหรือจ้อซู่กง พระกงเต็กจุนอ๋อง พระโป้เส้งต่ายเต่ ฯลฯ ท่านเหล่านี้ล้วนมีชาติภูมิเป็นชาวฮกเกี้ยน นอกจากนี้ ยังรับเอาเทพเจ้าจากที่อื่นและยังมีพระสายตระกูลที่เรียกว่าพระ “ฮู้” อีกมากมายหลายร้อยองค์

กล่าวเฉพาะเจ้าแม่ทับทิมอันเป็นนามเรียกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย บางท่านก็สันนิษฐานว่าเกิดจากสีอาภรณ์ของเจ้าแม่ที่มีสีแดง แต่ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีความสับสนของการใช้ชื่อนี้เรียกเจ้าแม่สององค์ คือ ใช้เรียกทั้งพระม่าจ้อ และยังใช้เรียก “ตุ้ยโบ่ยเต่งเหนี่ยง” (เจ้าแม่ปลายน้ำ) ซึ่งเป็นเทวีทางน้ำของชาวไหหลำอันเป็นคนละองค์กัน

ดังนั้น จะทราบว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน คงต้องดูว่าป้ายภาษาจีนเขียนอย่างไร เพราะเทวลักษณะก็คล้ายๆ กัน นิยมตั้งอยู่ริมน้ำ

และนับถือว่าเป็นเทพผู้พิทักษ์รักษาการเดินทางทางน้ำเช่นเดียวกัน

 

เจ้าแม่ทับทิม (ซึ่งหมายถึงพระม่าจ้อนั้น) เป็นเทพจีนที่อาจกล่าวได้ว่าแพร่หลายมากที่สุดในโลกพระองค์หนึ่ง เพราะในอดีตคนจีนอพยพและเดินทางโดยเรือเป็นหลัก และเพื่อขอพรให้ปลอดภัยจึงมีการนำท่านไปสักการะด้วย

ดังนั้น พูดง่ายๆ ว่า คนจีนไปถึงไหนพระม่าจ้อก็ไปถึงนั่น เฉพาะในเมืองไทยเองก็มีหลายร้อยศาลทั่วประเทศ

พระม่าจ้อมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ว่ากันว่าท่านมีความสามารถพิเศษ ได้ร่ำเรียนวิชาทางเวทมนตร์ ทำนายทายทัก สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ทางทะเลได้แม่นยำ นอกจากนี้ ยังใช้พลังช่วยเหลือชาวประมงและผู้เดินทางทางทะเลให้ปลอดภัย เมื่อเสียชีวิตชาวบ้านจึงได้สร้างศาลไว้สักการะ

ที่จริงเทพหลายองค์ของฮกเกี้ยนมีลักษณะที่สำคัญร่วมกันคือเป็น “ผู้ใช้เวทมนตร์” ของศาสนาเต๋าสำนักฝ่ายใต้หรือลี่ซานเต๋า ซึ่งเน้นการปราบภูตผีปีศาจ ขจัดโรคภัยให้ชาวบ้าน ไม่ว่าจะม่าจ้อโป๋ พระโปเส้งต่ายเต่ ซำไนฮูหยิน ฮวบจูกง หรือแม้แต่พระภิกษุอย่างพระจ้อซู้กง (โจวซือก๋ง)

พระม่าจ้อโป๋ได้รับการเลื่อนยศแทบจะทุกราชวงศ์ตั้งแต่ซ่งจนถึงสมัยชิง เริ่มตั้งแต่ระดับท่านผู้หญิง จนพระยศสุดท้ายซึ่งได้รับในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงคือ “พระราชชนนีสวรรค์” (เทียนส่งเซ่งโบ้) และเมื่อเปลี่ยนพระอิสริยยศแล้ว เครื่องแต่งกายจึงต้องเปลี่ยนตามชั้นยศด้วย รวมทั้งพิธีกราบไหว้ที่ต้องเป็นไปตามลำดับศักดิ์

น่าสนใจว่า หลายตำนานในการเลื่อนอิสริยยศของเจ้าแม่ทับทิม เกี่ยวพันกับการช่วยเหลือทางราชการ เช่น การปรากฏกายช่วยไม่ให้เรือของราชทูตประสบภัยพิบัติ หรือแม้แต่เรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทางราชการก็จะปูนยศเพิ่มทุกครั้ง

นอกจากเจ้าแม่ม่าจ้อแล้ว เทพอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน บางครั้งถึงกับเล่าขานว่ามีเทพออกช่วยในสงคราม ผมคิดว่า ทางหนึ่งคงเป็นกุศโลบายของราชการที่จะแสดงให้เห็นว่าเทพเจ้าสนับสนุนฝ่ายบ้านเมือง เพื่อเป็นขวัญและในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านยามเผชิญอันตราย

 

ส่วนเมืองไทย พระนามได้ปรากฏมาอย่างน้อยในสมัยธนบุรี ในวรรณกรรมนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีนหรือนิราศกวางตุ้ง ตกราว พ.ศ.2324 ความว่า “เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยม้าฬ่อ พระหมาจอฟังอึงคนึงเนื่อง” พระ “หมาจอ” ในนิราศนี้คือพระม่าจ้อ (เห็นได้ว่าเขียนขึ้นตามสำเนียงฮกเกี้ยน) ดังนั้น การบูชาพระม่าจ้อคงมีมานานแล้ว แต่การปรากฏในนิราศอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีความนิยมและเป็นที่รู้จักมากเพียงใดในอดีต

แม้จะมียศสูงมาก ชาวบ้านก็ยังเรียกขานพระม่าจ้อด้วยคำง่ายๆ แบบญาติพี่น้อง เช่น คนฮกเกี้ยนนิยมเรียกม่าจ้อโป๋ (โป๋ คือย่าหรือยายของฝั่งพ่อหรือแม่) หรือคนแต้จิ๋วมักเรียกกันว่า อาม่า (ย่า) บ้าง โกวบ้อ (คุณป้า) บ้าง ยกเว้นเวลาประกอบพิธีทางการ ผมว่าสะท้อนคติ “เลือดนั้นข้นกว่าน้ำ” ความเป็นเครือญาติอาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบความสัมพันธ์ของคนจีน ส่วนยศศักดิ์เป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง

การได้ไปไหว้พระม่าจ้อที่เสด็จมาโปรด “ลูกหลาน” ถึงกรุงเทพฯ นี้ ผมได้รับความปลื้มใจเป็นอันมาก เรียกว่าเลือดจีนในตัวพลุ่งพล่านเชียวครับ แต่สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้ศรัทธาไม่ควรลืมเกี่ยวกับพระม่าจ้อและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมต้องไปสักการะท่าน คือเขานับถือกันด้วยว่า ท่านช่วยเหลือทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เพราะท่านเป็นเทพแห่งความเมตตากรุณา

ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดของสังคมโลกในเวลานี้ อันเราพึงปฏิบัติตาม