คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ลอยกระทงเดือนสิบสอง” อาจไม่ได้มาจากอินเดีย แต่นัวๆ เนียๆ ในร่มเงาผีพราหมณ์พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมรู้สึกว่าปีนี้การลอยกระทงมีประเด็นที่ผู้คนสนใจมากกว่าปีก่อนๆ คือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

เกิดข้อถกเถียงกันว่า ควรเลิกลอยกระทงกันไหม เพราะดูเหมือนการไปขอขมาพระแม่คงคาจะยิ่งเพิ่มภาระ (ขยะ) ให้พระแม่คงคามากขึ้น

ที่จริงเราก็ถกกันมาหลายปีแล้วครับว่าควรจะใช้อะไรทำกระทงดี ขนมปัง ใบตอง และวัสดุธรรมชาติ วัสดุไม่ธรรมชาติ ฯลฯ

แต่มาปีนี้ประเด็นยกระดับไปยิ่งกว่าเดิมคือ ยังควรลอยกระทงกันไหม

มีฝ่ายที่เห็นว่ายังควรลอยอยู่นั่นแหละ เพราะควรจะรักษาประเพณีเอาไว้ แต่จะลอยยังไงให้ภาระน้อยที่สุด อันนี้ก็ควรคิดกันต่อ

ผมจึงคิดต่อไปว่า เราควรเริ่มต้นจากคำถามว่า ประเพณีที่เรียกว่าลอยกระทงมาจากไหนและคืออะไรเสียก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจอะไรง่ายขึ้น

 

ที่จริงมีนักวิชาการหลายท่าน เช่น คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียนเรื่องที่มาที่ไปของประเพณีลอยกระทงในแง่มุมต่างๆ ไว้เยอะ ผมคิดว่าเป็นรากฐานที่ดีสำหรับเรื่องนี้

ทั้งสองท่านมีความเห็นคล้ายๆ ว่า ลอยกระทงเป็นประเพณีแต่เดิมของอุษาคเนย์ คือเป็นพิธีบูชาผีน้ำ รวมไปถึงผีบรรพบุรุษ แต่จะเก่าแค่ไหนนั้นคงต้องถกเถียงกันต่อ

อาจารย์ศิริพจน์ท่านว่า จดหมายเหตุลาลูแบร์เล่าไว้ในสมัยอยุธยา ชาวบ้านอยุธยาไม่ได้ลอย “กระทง” ซึ่งทำด้วยใบตองประดิษฐ์เป็นรูปดอกบัว แต่เป็น “โคมกระดาษ” สีต่างๆ และทำเพื่อขอบคุณ “พระธรณี” ที่ช่วยให้มีพืชผลเกษตรสมบูรณ์

อาจารย์ยังยกประเพณีจีนที่มีการ “ลอยโคม” ลงในน้ำในเดือนสิบ ที่นอกจากจะเป็นการบูชาเทพเจ้า (ซัมกวนไต่เต่) แล้วยังเป็นการนำทางดวงวิญญาณบรรพชนไปทางน้ำเพื่อไปสวรรค์ เมื่อจีนรับพุทธศาสนาไปก็เอาไปผูกกับความเชื่อในพุทธศาสนา ทุกวันนี้คนจีนยังคงลอยกระทง (โคม) ในเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาอยู่ เช่น อุลัมพน (งานทิ้งกระจาด)

อาจารย์จึงให้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่า ลอยกระทงของเราอาจเกี่ยวกับการลอยกระทงของจีน

 

ผมอ่านงานของท่านเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธนเรื่อง “วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทย” ท่านจำแนกแจกแจงให้เห็นประเพณีลอยกระทงของแต่ละภูมิภาคและแต่ละประเทศในเอเชีย ที่น่าสนใจคือท่านบอกว่า ในแต่ละภูมิภาคของเรา เขาไม่ได้ “ลอยกระทง” กันนะครับ เช่น ทางเหนือก็ประดับซุ้มประตูป่าจุดประทีป ทางอีสานมีไหลเรือ ทางใต้มีลอยเรือส่งเคราะห์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำในเดือนสิบสอง)

ผมไปอยู่เชียงใหม่เมื่อปี 2543 เพื่อนที่นั่นบอกว่าคนเมืองสมัยก่อนเขาก็ไม่ได้ลอยกระทงอะไรกัน เขาไปฟัง “ตั้งธรรมหลวง” หรือเทศน์พระเวสสันดร แล้วจัดซุ้มประตูป่า แวนโคมแขวนตุง จุดผางประทีป (ดวงประทีป) ตามบ้าน แล้วไปวัดเพื่อจุด “โคมควัน” ส่งเคราะห์ (ซึ่งทำอันเดียวทั้งชุมชนของวัดนั้น)

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็มีความเห็นว่า การลอยกระทงอย่างที่เราๆ ทำกันนี้เป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ที่แพร่หลายไปยังจังหวัดต่างๆ ก็ไม่เกินหกสิบปี

ส่วนที่ทำในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในราชสำนักก็ไม่เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่สาม เพราะวรรณกรรมนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่สาม ไม่ใช่วรรณกรรมสมัยสุโขทัย

ความเชื่อเกี่ยวการกับลอยกระทงที่แพร่หลาย ผมเข้าใจว่าเป็นความเชื่อประดิษฐ์ใหม่ เพราะเขียนไว้ในเรื่องเดียวกันกับนางนพมาศแม้จะอ้างพระบาลีมาบ้าง เช่น บอกว่าเป็นการบูชา “พระพุทธบาท” ที่แม่น้ำนัมมทา (สันสกฤตเรียก “นรมทา”)

แม้ว่ารัฐคุชราชซึ่งแม่น้ำนรมทาตั้งอยู่จะเคยมีพุทธสถานสมัยโบราณกระจายอยู่บ้าง ก็ไม่เคยมีการค้นพบพระพุทธบาทหรือพุทธสถานสำคัญริมแม่น้ำนรมทาเลย

แต่ที่นั่นมีศิวาลัยสถานสำคัญริมน้ำคือ “โองกาเรศวร” อันเป็นพระศิวลึงค์หนึ่งในสิบสองแห่งที่สำคัญที่สุด

ดังนั้น ผมอยากแยกออกเป็นสองประเด็น คือ ประเด็นเกี่ยวกับการ “ลอยกระทง” อย่างที่ทำๆ กันอยู่ กับประเด็น “ประเพณีหรือเทศกาลในเดือนสิบสอง”

 

เรื่องการ “ลอยกระทง” นั้น ผมคิดว่าเป็นประเพณีประดิษฐ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแพร่หลายไปโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแบบเรียนต่างๆ ตามที่ท่านทั้งหลายเสนอมา

ถ้าจะมีการลอยอะไรลงในน้ำบ้าง ก็ไม่ใช่กระทงใบตองพับสวยงามตามตำนานนางนพมาศ แต่มีทั้งโคมกระดาษตามบันทึกของราชทูตสมัยกรุงศรีอยุธยา เรือสำเภา (สะเปาในภาษาเหนือ) แพ หรือเรือแบบอื่นๆ ที่ใส่ข้าวปลาอาหารสิ่งของเพื่อเซ่นผีและสะเดาะเคราะห์ โดยแต่ละชุมชนทำขึ้นมารวมๆ กันในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน

ส่วนประเพณีหรือเทศกาลในเดือนสิบสองนั้น แม้ของเก่าที่เรามีอยู่ เช่น เทศกาลยี่เป็ง (เพ็ญเดือนยี่เหนือ) ก็ไม่ได้มีแก่นอยู่ที่การลอยกระทง แต่เน้นการจุดประทีป ประดับบ้านเรือนและทำบุญ หรือทางอีสานมีไหลเรือไฟ (ซึ่งที่จริงทำในเดือนสิบเอ็ด) ทางใต้กลับไม่ค่อยมีประเพณีในเดือนสิบสอง เพราะลอยเรือส่งเคราะห์นั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้

ในภาคกลาง ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า มีประเพณีในเดือนสิบสองคือพระราชพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคม” มาเลิกไปในสมัยกลางรัตนโกสินทร์

ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนท่านว่า เป็นพิธีพราหมณ์เพื่อการบูชาพระเป็นเจ้า ทำตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำไปจนลดโคมแรมสองค่ำ หรืออาจเรื่อยไปถึงเดือนอ้าย

โดยจุดโคมแล้วเอาชักขึ้นแขวนเสา พอถึงวันลดก็ปลดลงลอยลงในแม่น้ำ (ตามพระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ห้าผู้ทรงพระราชนิพนธ์) เทียนในโคมนั้นทาด้วย “เปรียง” จึงเรียกว่าพระราชพิธีจองเปรียง

ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนบอกว่า “เปรียง” คือน้ำมันไขข้อพระโคหรือน้ำมันไขข้อวัว แม้จะทรงวินิจฉัยว่าถ้าเกี่ยวกับโคก็มาจากประเพณีพราหมณ์แน่ๆ แต่ผมคิดว่าเปรียงไม่น่าจะเป็นน้ำมันจากส่วนของร่างกายโคซึ่งไม่ต้องกับคติการดูแลโคของอินเดีย

เปรียงจึงน่าจะหมายถึง “นมส้มผสมนํ้าแล้วเจียวให้แตกมัน จัดเป็นโครสอย่างหนึ่งในจํานวนห้าอย่าง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตมากกว่า ซึ่งตรงกับน้ำมันเนย (ฆี) ของแขกเขา

แม้ดูเหมือนจะมีอะไรคล้ายๆ อินเดียกว่าพิธีอื่นๆ แต่จองเปรียงจะมาจากพิธีของอินเดียหรือไม่ต้องลองพิจารณาต่อไปครับ

 

ส่วนประเพณีในอินเดียก็คงต้องแบ่งพิจารณาเป็นสองส่วนเช่นกัน คือการลอยกระทงกับพิธีในช่วงเดือนสิบสองหรือใกล้เคียง

พิธีการลอยกระทงในอินเดียนั้นไม่ได้ทำในเดือนสิบสอง แต่กระทำโดยทั่วๆ ไปตามริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตีรถะ) ถือเป็นการสักการบูชาแม่น้ำ เมื่อเราไปแสวงบุญยังแม่น้ำนั้น เขาเอาใบไม้มาทำกระทงง่ายๆ เอาดอกไม้และประทีปใส่ลงไป แล้วลอยลงในแม่น้ำ แม้คนอินเดียจะถือว่าแม่น้ำเป็นทางไปปรโลกอย่างศาสนาผีของเราแต่เขาก็ไม่มีพิธีเซ่นสรวงส่งข้าวปลาอาหารไปทางน้ำ มีก็แต่ทำอยู่ริมน้ำอย่างถวายข้าวบิณฑ์เท่านั้น

ดังนั้น การเอากระทงลอยลงในน้ำในเทศกาลลอยกระทงไม่น่ามาจากประเพณีอินเดียแน่ เพราะเขาทำกันเรื่อยไปอย่างง่ายๆ ไม่กำหนดวันอะไร และก็มิได้มีความหมายอย่างเซ่นสรวงแบบเรา

ส่วนประเพณีในช่วงเดือนสิบสองและใกล้เคียงนั้น อินเดียมีงานใหญ่ๆ อยู่สามงาน อย่างแรกคือ ฉัฐบูชา หรือการบูชาในวันหกค่ำเดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านจะไปที่ริมแม่น้ำแต่เช้าตรู่แล้วเอาเครื่องบูชาต่างๆ เทลงในน้ำ พร้อมถวายน้ำและอาหารเหล่านั้นแก่ “พระสุริยเทพ” (ที่ต้องไปริมน้ำ เพราะการถวายน้ำแด่สุริยเทพนั้นนิยมกระทำริมแม่น้ำ) ถือพรตอดอาหาร ไม่มีการลอยกระทง

ถ้าจะมีก็ทำด้วยศรัทธาส่วนตัวไม่ต่างกับการไปลอยกระทงเมื่อไปแสวงบุญ

 

ส่วนทีปาวลี หรือทิวาลีก็น่าสนใจ ทำในวันเดือนดับในเดือนการติกะ (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เน้นการจุดประทีป (คล้ายยี่เป็งและจองเปรียง) ตำนานว่าเพื่อรับพระรามกลับอโยธยา แต่ของเราจุดในวันเพ็ญซึ่งต่างกันครึ่งเดือน และไปตรงกับเทศกาล “เทวทีปาวลี” หรือทีปาวลีของเทวดาอันฉลองจุดประทีปเฉพาะในเมืองพาราณสีแห่งเดียวเท่านั้น

ท่านเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธนเคยสอบถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ซึ่งเป็นชาวอินเดียใต้ว่า ทางอินเดียใต้มีลอยกระทงไหม ท่านพราหมณ์ตอบว่ามีพิธี “ปติเนฎฏามเปร” แปลว่า วันที่ 18 เดือน 11 ทำไมจึงชื่ออย่างนี้ท่านก็ไม่ทราบ พิธีนี้ทำอย่างง่ายๆ โดยตอนเย็นชาวบ้านจัดอาหารพากันไปเลี้ยงริมฝั่งน้ำ กินเสร็จก็เอากาบกล้วยมาทำเป็นเรือเล็กๆ เอาประทีปหรือเทียนไขใส่ในกาบกล้วย แล้วเอากาบกล้วยนั้นไปลอยน้ำ

พราหมณ์ ป.ส.ท่านมีความเห็นว่า คงเป็นเพียงขอบคุณแม่น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก เป็นประเพณีชาวบ้าน ไม่เกี่ยวกับทางศาสนา

ดังนั้น แม้จะคล้ายคลึงกับประเพณีอินเดียในบางส่วน แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ารับจากอินเดียตอนไหน อย่างไร เป็นไปได้ไหมที่ประเพณีเช่นยี่เป็งอาจรับโดยผ่านพม่าและพุทธศาสนาแล้ว

แม้แต่พิธีจองเปรียง ผมยังสงสัยว่าต้นเค้าจะมาจากจีนหรือเป็นของเราเอง แต่ถูกทำให้เป็น “พราหมณ์” มาdขึ้น โดยการใช้ “เปรียง” ของวัว เช่นเดียวกับพิธีแรกนาขวัญที่เป็นของพื้นบ้านแต่ทำให้เป็นอินเดียมากขึ้นผ่านการใช้โคแทนที่จะใช้ควาย

ดูเหมือนบทความวันนี้มีแต่ข้อสงสัย ไม่มอบความกระจ่างอะไร จึงขอฝากท่านผู้อ่านช่วยกันคิดต่อ

ส่วนผมจะไปดูเวทีรำวงวันลอยกระทงแล้วครับ