เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ปากกาทองที่สุราษฎร์

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ร่วมบันดลคนดีศักดิ์ศรีสถาน

ถิ่นพระธาตุไชยาปัญญาญาณ

สืบสายธารฤๅปีคนดีงาม ฯ

ไปร่วมงานโครงการ “กวีปากกาทอง” ของธนาคารกรุงเทพ กับ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วง 10-11 ตุลาคมที่ผ่านมา มีวิทยากรร่วมงานอีกสองคือ สถาพร ศรีสัจจัง กับ ดร.ศรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ

วิทยากรอีกคนคือ คุณอภิชาติ ดำดี ไม่อาจมาได้ด้วยบิดาคือ ครูดวล ดำดี ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญของเมืองกระบี่ ถึงแก่กรรมช่วงนี้พอดี

โครงการ “กวีปากกาทอง” เป็นโครงการของธนาคารกรุงเทพร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ มีมาห้าปีแล้ว ด้วยตระหนักในคุณค่าภาษาไทย โดยเฉพาะบทกวีในฐานะเป็นมงกุฎวรรณกรรมและอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยโดยแท้

เคยกล่าวว่า บทกวีคือ “เพชรพลอยของถ้อยคำที่เจียระไนมาจากผลึกของความคิด”

ความคิดนั้นใช้ภาษา คือถ้อยคำเป็นสื่อ

ดังนั้น การมีถ้อยคำและการใช้ถ้อยคำจึงเป็นเรื่องสำคัญของความคิด

งานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นเรื่องของ “ศิลปะการใช้ถ้อยคำ” จึงมิใช่ “สักว่ามี สักว่าใช้” เพียงเท่านั้น

โดยเฉพาะร้อยกรอง ก็มิใช่แค่เอาคำมากรองมาร้อยเพียงเท่านั้น หากต้อง “เจียระไน” ทั้งถ้อยคำและถ้อยความนั่นเลย

เพราะฉะนั้น การมีและการใช้ถ้อยคำจึงเป็นเรื่องสำคัญของความคิดโดยตรง

สิ่งจำเป็นสุดของผู้รักรู้รักเรียนในเรื่องนี้จักต้องมีและให้ความสำคัญก็คือ “คลังคำ”

มิได้หมายถึงการเปิดบัญชีฝากคำซึ่งมีค่าเท่ากับทอง เช่นทองคำไว้กับธนาคารนะ

แต่คลังคำคือการสั่งสมประสบการณ์จากการ “อ่านเขียนเรียนรู้”

อันเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาทุกระดับสมควรจักต้องมีและจัดให้มี

ดังธนาคารกรุงเทพกับสถาบันอุดมศึกษาร่วมตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ได้เริ่มดำเนินมาและจะดำเนินต่อไปตราบที่ยังเห็นสำคัญกันอยู่

มาสุราษฎร์ฯ สิ่งแรกที่ระลึกถึงเป็นการส่วนตัวก็คือ สวนโมกขพลาราม และท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ด้วยได้เคยมาพำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านอาจารย์ขณะอยู่ในสมณเพศ

เคยเขียนถึงท่านอาจารย์ไว้ว่า

พุทธทาสนามท่านปานขุนเขา

ทว่าเบาสบายอย่างว่างน้ำหนัก

และตัวตนของท่านนั้นใหญ่นัก

ใหญ่ด้วยหลักให้สละละตัวตน

ขอพูดถึงท่านอาจารย์พุทธทาสในเรื่องงานวรรณกรรมว่า งานชุด “ธรรมโฆษณ์” ของท่านอาจารย์นั้น ถือเป็น “ปิฎกสี่” เพิ่มจากพระไตรปิฎก จัดเป็นจตุปิฎกได้เลย

หมายความว่า ยุคสมัยนี้ ใครที่ต้องการศึกษาธรรมแนวปฏิบัติ ผสานกับทฤษฎีที่ถูกต้องถูกแท้แล้วต้องอ่านงานชุด “ธรรมโฆษณ์” ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

คุณวิลาศ มณีวัตร นักประพันธ์คนสำคัญชาวสุราษฎร์ฯ เคยกล่าวเป็นใจความว่า ชีวิตนี้ถ้าจำเป็นต้องไปอยู่เกาะ ไม่อาจคืนฝั่งได้ทั้งชีวิตแล้ว หนังสือสองเล่มที่ขอติดตัวไปก็คือวิถีพุทธธรรม และภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

โดยส่วนตัว หนึ่งในสองเล่มนั้นคือ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” เป็นหนังสือเล่มแรกที่ให้ “ชีวิตใหม่” แก่เราโดยตรง ทำให้ต้องตามไปอ่านอีกเล่มคือ “วิถีพุทธธรรม” นั้น ทั้งที่เคยอ่านเล่มอื่นของท่านอาจารย์มาบ้างแล้ว

และ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” นี่เองที่ทำให้ตั้งใจบวชเรียนในพรรษา ออกพรรษาแล้วจึงถือธุดงค์ไปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์

ได้บอกกับนักศึกษาราชภัฏสุราษฎร์ฯ ว่าโชคดีที่อยู่สุราษฎร์ฯ มีท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นหลักแห่งพุทธธรรมที่ถูกต้องถูกแท้ ซึ่งวิทยาการก้าวหน้าของโลกตะวันตกกำลังสนใจกับหลักธรรมที่แท้ของพุทธะ

อยากจะบอกด้วยว่าสมควรต้องมีแผนกพุทธทาสวิทยาในคณะศึกษาศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ด้วยซ้ำ

ท่านศรีเยาวหราล เนห์รู นายกฯ คนสำคัญของอินเดียเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ท่านเป็นคนไม่มีศาสนา แต่ถ้าจะให้เลือกนับถือศาสนาแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือศาสนาพุทธ”

และผู้ถอดรหัสพุทธธรรม นำมาปรับใช้กับชีวิตยุคปัจจุบันดีที่สุดก็คือท่านพุทธทาสภิกขุ จากงานวรรณกรรมของท่านที่เปรียบดังเป็นปิฎกสี่หรือจตุปิฎกนั้น

ผลึกแห่งความคิดที่จะเจียระไนเป็นเพชรพลอยของถ้อยคำ คือ บทกวีที่ดีนั้นมาจากสิ่งนี้ คือ

หลักสัจธรรมแห่งศาสนธรรม

ไม้ร่าย

ลมร่ายไม้ร่าย ระเริงเสียง

ส่ายเพียงแผ่นฟ้า ภูผาไหว

แดดสาดส่องปรุทะลุใบ

ไล้ไม้ โลมไม้ ลงมาดิน

หริ่งหริ่งเรื่อยรับระยับไม้

ร่ายเพลงแห่งไพรและเพิงหิน

ผีเสื้อใบไม้ พริบพรายบิน

ค่อยร่วงค่อยริน ระเริงรำ

ความนิ่ง มีใน ความไม่นิ่ง

ลึกซึ้งหนึ่งสิ่ง ในสิ่งส่ำ

หยัดร่างหยั่งราก แกร่งกรากกรำ

ทำโดยไม่ทำ ตลอดมา

ดวงแดดเลือนดับกับพื้นทราย

ใบไม้ทักทายกับลมป่า

ความเงียบกึกก้องอยู่โกลา

เสียงของธรรมดา อันได้ยิน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

(จากเขียนแผ่นดิน สวนโมกข์)