ศัลยา ประชาชาติ : “ชิมช้อปใช้” ทะลุเป้า คนแห่จองสิทธิ์-ใช้สิทธิ์ ค้าปลีกส้มหล่น คนต่อคิวจับจ่าย

ถึงเวลานี้ ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการเร่งขับเคลื่อนแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5%

และหนึ่งในมาตรการสำคัญคือมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 19,093.5 ล้านบาท

วัตถุประสงค์คือการมุ่งเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นการบริโภค คาดหวังว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบได้ 3 รอบครึ่ง

วางกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน ซึ่งต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com เพื่อเข้าร่วมมาตรการ โดยต้องระบุจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งต้องไม่ใช่จังหวัดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน และต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 วัน

ผู้ลงทะเบียนผ่านจะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วน คือ 1. “แจกเงินฟรี” 1,000 บาท และ 2. “เงินชดเชย” หรือ “แคชแบ็ก” อีก 15% ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือให้แคชแบ็กสูงสุดไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน เมื่อเติมเงินใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจากบัญชี g-Wallet ในแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน”

 

แคมเปญ “ชิมช้อปใช้” เปิดให้เริ่มลงทะเบียนวันแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา โดยธนาคารกรุงไทยผู้จัดทำระบบ วางโควต้ารับลงทะเบียนไว้ไม่เกินวันละ 1 ล้านราย ปรากฏว่าการลงทะเบียนวันแรกเต็มโควต้าในเวลา 13.44 น.

ขณะที่การลงทะเบียนวันที่ 2 (24 กันยายน) ครบ 1 ล้านราย ตั้งแต่ 08.11 น. ต่อมาวันที่ 3 (25 กันยายน) ครบตั้งแต่ 06.18 น. วันที่ 4 (26 กันยายน) ครบตั้งแต่ 05.40 น. วันที่ 5 (27 กันยายน) ครบตั้งแต่ 02.56 น. วันที่ 6 (28 กันยายน) ครบ ตั้งแต่ 02.53 น. วันที่ 7 (29 กันยายน) ครบตั้งแต่ 02.54 น. วันที่ 8 (30 กันยายน) ครบตั้งแต่ 03.06 น. วันที่ 9 (1 ตุลาคม) ครบตั้งแต่ 03.14 น. วันที่ 10 (2 ตุลาคม) ครบ 1 ล้านคน เวลา 03.01 น. ถือว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม

อย่างไรก็ดี “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่าผู้ที่ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน (วันแรก) หลังจากการตรวจสอบสิทธิ์จากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย และตรวจสอบจังหวัดที่แสดงความประสงค์ไปท่องเที่ยวไม่ซ้ำซ้อนกับจังหวัดในทะเบียนบ้านแล้ว พบว่าผ่านเกณฑ์ 807,321 ราย ส่วนการลงทะเบียนวันที่ 2 มีผู้ผ่านเกณฑ์ 775,232 ราย

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังสรุปยอดผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23-26 กันยายน ว่า มีผู้ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ 3,115,449 ราย และช่วง 3 วันแรกที่เปิดให้ใช้จ่ายเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 27-29 กันยายน พบว่ามีผู้เริ่มไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 ราย มียอดการใช้จ่ายประมาณ 294 ล้านบาท

“ลวรณ” กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินตามสิทธิ์ดังกล่าว พบว่า กว่า 50% ของการใช้จ่าย หรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ รองลงมาคือร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท สำหรับร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาท

ส่วนร้านค้าทั่วไป ซึ่งส่วนนี้รวมถึงห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆ พบว่ามียอดใช้จ่ายประมาณ 79 ล้านบาท และการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่จะได้รับเงินคืน 15% มีการใช้จ่ายแล้ว 5 ล้านบาท

“โครงการนี้ไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เมื่อเริ่มใช้จ่ายจะเห็นว่าเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจริงในพื้นที่ เป็นร้านขนาดเล็ก ร้านค้าในชุมชนที่ได้อานิสงส์” นายลวรณกล่าว

 

แม้ภาครัฐก็ไม่ได้ปิดกั้นห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ แต่จะจำกัดสิทธิโมเดิร์นเทรดให้เลือกเข้าร่วม (1 tax ID ต่อ 1 จังหวัด) โดยใน 1 จังหวัดดังกล่าวจะได้รับแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่เอาไว้รับชำระเงิน 20 จุด อาทิ เซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เข้าร่วม 6 สาขา โรบินสัน 16 สาขา บิ๊กซี 9 สาขา เทสโก้โลตัส 20 สาขา เซ็นทรัลพลาซา (เฉพาะศูนย์อาหาร) 17 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 14 สาขา เพาเวอร์บาย 17 สาขา อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ 5 สาขา เป็นต้น

ช่วงที่ผ่านมามีกระแสความไม่คล่องตัวของการใช้สิทธิ์ ตั้งแต่ระดับบุคคลผู้ขอใช้สิทธิ์ ทั้งการลงทะเบียนที่ผ่านยาก การได้รับ SMS ช้า การยืนยันตัวตนไม่ผ่านต้องไปสาขาธนาคาร ฯลฯ

ไปจนถึงระดับร้านค้าที่มีปัญหาติดขัด โดยเฉพาะกรณีห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสที่มีประชาชนแห่ไปใช้สิทธิ์จำนวนมาก

แต่เนื่องจากมีช่องให้จ่ายเงินเพียงช่องเดียว มีการแชร์ภาพในโซเชียลมีเดียว่าประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ต้องทิ้งรถเข็นและสินค้าที่เตรียมจะซื้อเอาไว้จำนวนมาก หลังลูกค้าได้รับแจ้งว่าแอพพลิเคชั่นล่ม

“ลวรณ” อธิบายยืนยันว่า ที่ผ่านมาระบบของชิมช้อปใช้ยังไม่เคยล่ม แต่ปัญหาในกรณีเทสโก้โลตัสเกิดจากการที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิ์เข้าร่วมทั้งสิ้น 20 สาขาในกรุงเทพฯ ซึ่งตามเงื่อนไขของมาตรการจะจำกัดสิทธิ์โมเดิร์นเทรดให้เลือกเข้าร่วมเพียง 1 จังหวัด (1 tax ID ต่อ 1 จังหวัด) โดยใน 1 จังหวัดดังกล่าวจะได้รับแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่เอาไว้รับชำระเงิน 20 จุดเท่านั้น ส่วนจะวาง “ถุงเงิน” ที่ใดบ้างขึ้นกับการบริหารจัดการของร้านค้าเอง

“สมมุติถ้าเข้าร่วม 5 สาขา ก็จะทำให้แต่ละสาขามี 4 จุดจ่ายเงิน แต่กรณีที่เกิดขึ้นเขาใช้ 20 สาขา ทำให้แต่ละสาขามีจุดรับชำระเงินแค่ 1 จุด ฉะนั้น คิวยาวมากแน่นอน ถ้าเป็นผมจะลดจำนวนสาขาที่เปิดรับถุงเงินให้เหลือ 10 สาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะสาเหตุที่ลูกค้าทิ้งรถเข็นไว้ เป็นเพราะว่าจำนวนคนมาใช้สิทธิ์เยอะ และช่องทางชำระเงินมีเพียงจุดเดียว จึงทำให้รอคิวนานจนเกิดปัญหาขึ้น”

นายลวรณกล่าว

 

ขณะที่นายธวัชชัย ชีวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงว่า กรณีห้างเทสโก้โลตัสที่ปรากฏเป็นข่าวว่าประชาชนไปใช้สิทธิ์จำนวนมากแต่จ่ายเงินไม่ได้นั้น เนื่องจากโครงการนี้ต้องการให้เม็ดเงินไปสู่ร้านค้าชุมชนเป็นหลัก จึงจำกัดสิทธิ์โมเดิร์นเทรดแค่ 20 จุดชำระเงิน ซึ่งห้างที่มีหลายสาขาจะต้องบริหารจัดการ กรณีเทสโก้โลตัสนั้นเข้าใจว่าขณะนี้กำลังปรับแผนบริหารคิว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

แม้จะมีปัญหาจุกจิกระหว่างทาง แต่เสียงตอบรับที่ดีเกินคาด ทำให้รัฐบาลเตรียมลุย “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” ต่อ

ล่าสุด รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาต่ออายุมาตรการดังกล่าว ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้ นั่นแปลว่าใครยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนไม่ทัน อดใจรออีกไม่นาน ชิมช้อปใช้ เฟส 2 ยังมีลุ้นแน่นอน