พระนารายณ์ที่อินเดียไม่ได้ทรงตรี แล้วทำไมช่างไทยจึงเอาตรียัดใส่มือพระนารายณ์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มา : http://tykatai.diaryclub.com/20100531/Japan-2010-episode-1

ตามความเชื่อในปรัมปราคติของพวกพราหมณ์ในชมพูทวีปนั้น พระนารายณ์ท่านมีสี่กร จึงมีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “จตุรภุช” (แปลว่า สี่กร นั่นแหละ) โดยในพระกรทั้งสี่ยังทรงไว้ด้วย จักร สังข์ คทา และธรณี (บางทีแทนด้วยดอกบัว) อยู่แยกกันในแต่ละพระกรอีกต่างหาก

“จักร” เป็นเครื่องสูงนะครับ ไม่ใช่อาวุธที่ใช้รบได้จริง แม้ว่าภาพยนตร์เทพเจ้าของพวกแขกจะพาเราเคลิบเคลิ้มถึงอานุภาพที่เทพเจ้าขว้างเอาจักรไปบั่นหัวใครต่อใครเล่นก็ตาม เพราะในสนามรบจริงนั้น จักรแทบจะใช้เป็นอาวุธคู่กายไม่ได้เลย เพราะเป็นของใช้แล้วทิ้ง ขว้างไปแล้วคงไม่เหลืออาวุธอะไรไว้ใช้ติดมืออีกหากไม่พกสำรองมาด้วย

แต่จักรกลับเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในเชิงสัญลักษณ์ ในฤคเวท ที่แต่งขึ้นราว 3,500 ปีมาแล้ว และหนังสือเก่าแก่ที่สุดของพวกพราหมณ์บางตอนบรรยายถึง “พระสุริยะ” เอาไว้ว่าคือ “จักร” ที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า

จึงไม่แปลกอะไรเลยที่พระวิษณุ (ชื่อของพระนารายณ์สมัยพระเวท) ที่ในสมัยพระเวท ซึ่งเก่าแก่ก่อนเกิดศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะครองตำแหน่งเทพแห่งแสงอาทิตย์ในสามช่วงเวลาคือ เช้า กลางวัน และเย็น จะทรงจักรอยู่ในพระหัตถ์ เพราะนับว่าเกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์มาแต่เดิม

ศาสนาพุทธเองก็ใช้รูป “ธรรมจักร” เป็นเครื่องหมายประจำศาสนาของตน นัยว่าเป็นกงล้อแห่งธรรมที่เคลื่อนไปยามเมื่อพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา

รูปทรงและจินตกรรมถึงการเคลื่อนไหวของ “จักร” จึงหมายถึงการเริ่มต้น การเคลื่อนไป หรือการดำเนินอยู่ของอะไรสักอย่างหนึ่ง และถ้าอะไรสักอย่างที่เริ่มต้น เคลื่อนไหว หรือดำเนินอยู่ดังกล่าวเป็นเรื่องมงคล ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย

“สังข์” ก็เป็นเครื่องสูงอีกเช่นกัน คงไม่มีใครคิดเอาชนะอริศัตรูด้วยการใช้สังข์ไปไล่ฟาดใส่กระหม่อม แม้แต่พระนารายณ์เองก็เถอะ ธรรมเนียมการใช้สังข์ยามศึกสงครามเป็นการเป่าสังข์ก่อนที่จะเริ่มทำการสัปประยุทธ โดยถือว่าเป็นการเอาฤกษ์ เอาชัย

เสียงจากซากเปลือกหอยธรรมดาตัวหนึ่งทำไมจึงศักดิ์สิทธิ์นัก?

แน่นอนว่า หอยสังข์ โดยเฉพาะหอยสังข์ที่มีลักษณะมงคลต้องตามตำราเป็นสิ่งของหายาก

แต่สิ่งที่ชวนพิศวงมากกว่าคือ “โลก” ภายในเปลือกของสังข์ที่มีลักษณะคดโค้งเป็นวง ไม่ต่างไปจากวงขมวดพระเกศาของพระพุทธเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพราะโลกภายในเปลือกสังข์นั้นสามารถสร้าง “ชีวิต” คือตัวหอยขึ้นมาได้ (ในทำนองเดียวกันบรรพบุรุษของชาวจีนก็อัศจรรย์ใจกับ “โลก” ภายใน “กระดองเต่า” จนใช้กระดองเต่าเป็นเครื่องมือประกอบพิธีกรรมและเสี่ยงทายมาตั้งแต่ยุคเมื่อเกือบ 4,000 ปีมาแล้ว)

อะไรก็ตามที่ได้ผ่านเข้าไปในโลกนั้นและกลับออกมาแล้วถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะ “เสียง” ที่ได้จากการพ่น “ลมหายใจ” เข้าไปก่อนการรบก็ดี หรือ “น้ำ” ที่ผ่านเข้าไปพร้อมการบริกรรมพระเวทหรือโศลกศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ โดยพราหมณ์ เพื่อใช้ในพิธีอภิเษกต่างๆ (เช่น อภิเษกสมรส บรมราชาภิเษก ฯลฯ) ก็ดี

ในแทบจะทุกวัฒนธรรมของโลก ทั้ง “ลมหายใจ” และ “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิต” แต่ก็เป็นเพียงนามธรรม หรือเรื่องในอุดมคติเท่านั้น ใครเลยจะเห็นว่าลมแห้งๆ ที่พ่นออกมาจากร่างกายของเรา กับน้ำเฉอะแฉะเป็นชีวิตจริงๆ ไปได้ เว้นก็แต่ลมหายใจ หรือน้ำ นั้นได้ผ่านเข้าไปในโลกที่สามารถให้กำเนิดชีวิตอย่างเปลือกหอยสังข์?

“คทา” ก็เป็นเครื่องสูงอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นของที่อินเดียรับเอามาจากโลกที่อยู่ทางตะวันตกของตนเอง เพราะมีอยู่ก่อนแล้วทั้งในดินแดนเมโสโปเตเมีย อียิปต์ หรือแม้กระทั่งกรีก

ในโลกเหล่านั้น คทาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ จึงครองอยู่ในพระหัตถ์ของกษัตริย์ (และไม่แปลกอะไรที่เทพเจ้าที่ครองพระองค์ในวรรณะกษัตริย์อย่างพระนารายณ์จะทรงคทา) หรือผู้ทรงฤทธิ์อย่างพวกพ่อมด ซึ่งก็เป็นชนชั้นนำเดิมในโลกเหล่านั้นด้วย

เราคงพอนึกภาพกษัตริย์ชาวยูโรเปียน หรือแม้กระทั่งฟาโรห์แห่งอียิปต์ทรงครองคทาอยู่ในพระหัตถ์ พระองค์ไม่เคยใช้คทาในการรบพุ่ง หรือทำอย่างอื่นหรอก นอกเหนือจากทรงเอาไว้ในเวลาชี้พระดรรชนีมีพระราโชวาทสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชาของพระองค์

ทั้งจักร สังข์ และคทา จึงเป็นตัวอย่างในการอธิบายว่าทำไมกษัตริย์จึงต้องครองเครื่องสูง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และความเป็นสิริมงคลต่างๆ ทุกวันนี้ยังเห็นอยู่ได้ทั่วไปในทุกๆ ราชวงศ์ ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นต้น

“ธรณี” กลับเป็นสิ่งเดียวที่ไม่ใช่เครื่องสูง แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แน่นอนว่า ธรณี หมายถึง “แผ่นดิน” และเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์อย่างพระนารายณ์จะครองแผ่นดินก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดพิกลอันใด

บางครั้ง “ธรณี” ก็ใช้สัญลักษณ์แทนด้วยรูป “ก้อนดิน” แต่บางทีก็แทนด้วยรูป “ดอกบัว” ในระบบสัญลักษณ์ของชมพูทวีป ดอกบัว ถือเป็นสิ่งที่โผล่พ้นน้ำไม่ต่างไปจากโลก ความตอนนี้มีอยู่ในคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ที่ชื่อว่า มีตริ

ที่มา : http://www2.g-pra.com/auctionc/view.php?aid=3471546

รูปพระนารายณ์ทรงจักร สังข์ คทา ธรณี (หรือ ดอกบัว) พบทั่วไปในอินเดีย และในอุษาคเนย์ด้วย ลักษณะอย่างนี้ดูจะเป็นแบบแผนของรูปพระนารายณ์ที่คุ้นเคยกันดี

แม้ว่าในตำราเล่มสำคัญในศาสนาพราหมณ์อย่างวิษณุธรรมโมตระปุราณะ จะระบุไว้ว่าพระแสงอาวุธของพระนารายณ์ได้แก่ 1.ศักดิ์ (หอกซัด) 2.ทัณฑ์ (ไม้ตะบอง) หรือ คทา (ไม้ตะพด, ในอินเดียสมัยโบราณเองก็ดูจะสับสนระหว่าง ทัณฑ์และคทาอยู่ เพราะใช้สลับกันอยู่หลายครั้ง) 3.ขรรค์ 4.บาศ 5.ธง 6.ธนู 7.ตรีศูล 8.สังข์ 9.เหติ (ขวานชนิดหนึ่ง) 10.ดุจภินทิ (ดิ่ง)

รวมเรียกว่า “ทศายุธ” หรืออาวุธ 10 ชนิด

รูปพระนารายณ์ไม่จำเป็นต้องทรงอาวุธคู่พระหัตถ์อยู่เฉพาะ จักร สังข์ คทา และธรณี ก็ตามที แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็นิยมอยู่เพียงแค่สี่อย่างนี้เท่านั้นแหละครับ

จึงเป็นอะไรที่น่าประหลาดอยู่พอสมควร ที่ในศิลปะไทยนั้น กลับนิยมเขียนหรือปั้นรูปพระนารายณ์ทรง “ตรี” จนเป็นปกติมันเสียอย่างนั้น

และถึงแม้ว่าจะในตำราวิษณุธรรมโมตตระ จะระบุเอาไว้ว่า พระนารายณ์ก็ทรงตรี (ศูล) เอาไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ได้ เพราะถือเป็นหนึ่งในทศายุธของพระนารายณ์ อย่างที่บอกเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ตำราปุราณะเก่าแก่ของอินเดียฉบับนี้ ก็เป็นชุดความรู้ที่ดูออกจะไกลตัวเกินไป เพราะไม่มีหลักฐานว่าอยุธยายึดถือ หรือเกี่ยวข้องอ้างอิงไปถึงเลย และหากจะเกี่ยวข้องกันอยู่บ้างกระเซ็นกระสายทำไมจึงเลือกเฉพาะ “ตรี” ไม่เลือกอย่างอื่น?

แต่รูปพระนารายณ์ทรงตรีในศิลปะไทยก็เพิ่งเริ่มมีในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อหลัง พ.ศ.2200 ลงมาแล้ว และส่งผ่านมาจนเป็นแบบแผนในยุคกรุงเทพฯ เท่านั้นนะครับ

รูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น ยังทรงจักร สังข์ คทา และธรณี ตามธรรมเนียมแบบแผนอย่างอินเดียอยู่ โดยรับผ่านจากพวกขอมมาอีกทอดหนึ่ง

การที่อยู่ๆ คนอยุธยาจะจับเอาตรียัดใส่ไว้ในพระหัตถ์ของพระนารายณ์นั้นจึงต้องมีสาเหตุมาจากอะไรสักอย่างหนึ่ง

พระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐ ในนามของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป เคยตั้งประเด็นสงสัยอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า “ตรี” ในที่นี้อาจตัดมาจากคำว่า “ธาตรี” ที่แปลว่า “แผ่นดิน” ได้บ้างกระมัง? เพราะในคำพากย์รามเกียรติ์สมัยกรุงเก่ามีข้อความที่ว่า “สี่มือถือทาย สังข์จักรคทาธาตรี”

คำพากย์รามเกียรติ์ เป็นบทพากย์โขนหรือหนังใหญ่ ที่อายุไม่ได้เก่าแก่ไปกว่าช่วงราว พ.ศ.2230 อันเป็นรัชสมัยของพระเพทราชา ร่วมระยะเวลาเดียวกันกับช่วงที่เริ่มมีแบบแผนการสร้างรูปพระนารายณ์ถือตรีอยู่

ความตรงนี้น่าสนใจเพราะเป็นไปได้บทพากย์มหรสพ (ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมในรูปมหรสพหรือไม่ก็ตามที) ย่อมมีผลต่อการสร้างความเข้าใจของผู้คนในวงกว้างมากกว่า ตัวอักษรที่จดจารอยู่ในตำรา ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่มากที่สามารถอ่านหรือเข้าถึงตำราฉบับนั้น

ผมคิดว่าข้อสงสัยของ เจ้าคุณอนุมานฯ และพระสารประเสริฐ น่าขบคิดและตีความต่อเป็นอย่างมาก เพราะประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ใช่ทุกคน (ทั้งที่รู้ และไม่รู้หนังสือ) จะทราบว่า “ธาตรี” แปลว่า “แผ่นดิน”

และจะแปลกอะไรที่ช่าง (ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้ที่รู้ และไม่รู้หนังสือ) จะเข้าใจว่า พระนารายณ์นั้นทรงตรี เพราะแค่จะได้ยินคำพากย์ที่ว่าถนัดหูหรือเปล่ายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ?