ไซเบอร์ วอชเมน : ความสุดโต่ง-รุนแรงจึงผลิบาน เมื่อปัจจัยเกื้อหนุน

ข่าวเหตุกราดยิงในสหรัฐที่เกิดขึ้นห่างกันภายใน 24 ชั่วโมง ภายในวอลล์มาร์ต เมืองเอลปาโซ มลรัฐเท็กซัส และกลางเมืองเดย์ตัน มลรัฐโอไฮโอ จนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

นำไปสู่การโต้เถียง ไม่ว่าเรื่องกฎหมายควบคุมปืนที่เคยเป็นถึงวาระในสภาคองเกรสตั้งแต่สมัยบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อน

และการตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ความคิดสุดโต่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในตอนนี้อย่างชาตินิยมคนขาวเป็นเลิศ ซึ่งยังคงแทรกซึมอยู่ในสังคมอเมริกัน

ก่อนที่จะโลดแล่นอย่างเปิดเผยผ่านคำปราศรัยหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

ในยุคอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ที่เข้าถึงและเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว ความรู้ ความคิด วิทยาการและวัฒนธรรมต่างๆ แม้แต่ความคิดสุดโต่ง ไม่ว่าชาตินิยมจ๋าหรือคลั่งศาสนา ก็ได้อานิสงส์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความคิดอันน่ากลัวด้วย

ท่ามกลางสังคมโลกที่ทุกคนเชื่อมโยงกัน ผู้คนหลากเชื้อชาติและศาสนาเดินทางไป-มา แม้จะเหมือนเป็นสิ่งใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ความหวาดกลัว ความเกลียดชังที่มีมานาน ก็นำพาโลกเข้าสู่ศตวรรษใหม่ด้วยภัยก่อการร้าย ความท้าทายใหม่เข้ามาที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องหาสิ่งที่เคยดีอยู่แล้วให้กลับมาและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ว่ามีหน้าตาเป็นยังไง

แสดงออกจนถึงขั้นผลิตความรุนแรงเชิงรูปธรรมขึ้นมาทำลายชีวิตคนอื่นในที่สุด

 

เหตุกราดยิงสังหารประชาชนในห้างกลางเมืองเอลปาโซ ซึ่งติดชายแดนเม็กซิโกครั้งนี้ ทางฝ่ายสืบสวนชี้ว่าผู้ก่อเหตุ (และรอมอบตัวภายหลัง) ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและเชิดชูอุดมการณ์ชาตินิยมคนขาวเป็นเลิศ และแสดงออกอย่างเปิดเผยผ่านสื่อโซเชียล

จนล่าสุดประกาศเจตจำนงต่อต้านผู้อพยพ ก่อนคว้าปืนอาก้าไปสังหารประชาชนที่กำลังซื้อของเสียชีวิต 20 ราย โดยเรียกการโจมตีว่าเป็นการตอบโต้การรุกรานเท็กซัสของพวกชาวสเปน (เพราะชาวเม็กซิโกพูดภาษาสเปน)

นับเป็นการก่อเหตุบนแรงจูงใจทางความคิดที่เกลียดชัง และแน่นอนว่าผู้ก่อเหตุยึดถือศีลธรรมคนละชุดต่างจากคนส่วนใหญ่

จากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุกราดยิงกลางเมืองในมลรัฐโอไฮโอ จนมีผู้เสียชีวิต 9 คน โดย 1 ใน 9 คนเป็นน้องสาวของมือกราดยิง

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ทราบเหตุจูงใจของการก่อเหตุนั้นคืออะไร แต่ก็มีกระแสความเห็นว่า มือปืนก่อเหตุจากปัจจัยเรื่องเชื้อชาติ แต่ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีทั้งคนผิวขาวและผิวสีอย่างละครึ่ง

แม้เราจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวของผู้ก่อเหตุทั้ง 2 กรณีว่าทำไมถึงนำไปสู่การฆ่าได้โดยไม่รู้สึกผิด แต่บางทีเราอาจสามารถหยุดต้นเหตุก่อนนำไปสู่การฆ่าครั้งใหม่ได้

 

ความคิดสุดโต่ง ถือเป็นคำที่ปรากฏมานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 จากเหตุเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด และลากโลกทั้งใบไปสู่ยุคแห่งความกลัว

ความคิดชาตินิยมคนขาวเป็นเลิศถูกผลิตและส่งต่อผ่านโลกออนไลน์

ก่อนหน้านี้เราอาจไม่เอะใจ แม้เคยได้ชื่อกลุ่มนีโอนาซี หรือคู คลักซ์ แคลน (KKK-Ku Klux Klan) แต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน แนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง เกลียดมุสลิมจนลุกลามถึงคนต่างชาติ ต่างเชื้อชาติ ได้บ่มเพาะและเติบโตในความคิดผู้คน ท่ามกลางเศรษฐกิจและการเมืองที่ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อปัจจัยความสับสน ไม่แน่นอน ขาดความมั่นคงเกิดขึ้นและบ่มเพาะมามากพอ

ประกอบกับปัญหาระดับปัจเจกบุคคลที่ได้รับผลกระทบและได้รับความคิดที่ก่อเกิดความรู้สึกเกลียดชังและอยากกำจัดสิ่งที่เกลียดชัง ในที่สุดก็ส่งผลสุดท้ายออกมาในรูปแบบความรุนแรงขึ้น

การกราดยิงในเวอร์จิเนีย เทค ในสหรัฐ ปี 2007 เหตุยิงและระเบิดในนอร์เวย์ปี 2011 จนมาถึงเหตุกราดยิงในมัสยิดกลางเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ และเหตุกราดยิงในเอลปาโซ แม้จะระบุว่าการเข้าถึงและครอบงำอาวุธปืนเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ

แต่ความคิดสุดโต่งก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องยับยั้งก่อนผลิตผู้ก่อความรุนแรงหน้าใหม่ด้วย

 

โดยเฉพาะในสหรัฐ ในช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ความคิดสุดโต่งไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์หรือวงแคบเฉพาะกลุ่มความเชื่อแล้ว แต่กลับเผยแพร่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองดึงดูดผู้คนให้สนับสนุน กลายเป็นฝ่ายรัฐส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศความรุนแรง

ทำให้ความคิดที่ถูกจำกัดไม่ให้ใครมองเห็น กลับเผยตัวผ่านคำพูดและการกระทำอย่างชัดแจ้ง และกลายเป็นเหตุรุนแรงตามมา

ซึ่งนิวยอร์กไทม์สได้รายงานเชิงวิเคราะห์ว่า เพียง 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุกราดยิงที่มีเหตุจูงใจในแนวคิดชาตินิยมคนขาวเป็นเลิศถี่ขึ้นกว่าหลายปีก่อน และกำลังเชื่อมโยงกับอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินนโยบายชาตินิยม-ประชานิยมหรือขวาสุดโต่ง ท่ามกลางบรรยากาศโลกที่กำลังหันขวาเต็มตัว

ความรักชาติชนิดเข้มข้นจึงมากขึ้น และแสดงออกในลักษณะต่อต้านสิ่งที่ไม่ใช่เอกลักษณ์ของชาตินิยม เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา โลกาภิวัตน์ หรือแม้แต่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

เราเคยมีบทเรียนจากการใช้ความคิดสุดโต่งเป็นพลังทางการเมืองมาแล้ว และตอนจบก็ไม่สวย อย่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่อุดมการณ์ชาตินิยมสุดขั้วไปถึงขีดสุดที่ลงเอยด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายล้านชีวิต

แม้เราพยายามจะนำบทเรียนนี้ไปเรียนรู้และเตือนใจไม่ให้เกิดขึ้น แต่โลกหลังสงครามโลกก็ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นไปทั่ว แม้แต่ประเทศไทย ความรุนแรงระดับย่อมจนถึงระดับความขัดแย้งทางการเมืองจากความคิดสุดโต่งและเกลียดชัง ก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้ง 6 ตุลาคม 2519 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ ความคิดสุดโต่งและเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ด้วยการผลิตซ้ำความเชื่อว่า ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่รักชาติ รักสถาบัน ต้องถูกทำลายให้สิ้น ได้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสู่การเข่นฆ่าโดยลืมเรื่องมนุษยธรรมแทบทันที

ความคิดเหล่านี้ยังคงมีอยู่ ยิ่งบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียยังคงเห็นได้

 

ในความเห็นส่วนตัว ความเชื่อสุดโต่งที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือใบสั่งฆ่านั้น ไม่ว่าสุดขั้วข้างไหน ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องระวังและยับยั้งไม่ให้เติบโตเป็นอันขาด

ไม่ว่าในระดับปัจเจกอย่างเราทุกคน จนถึงสถาบันทางสังคมและไปถึงรัฐ การยึดมั่นความเชื่ออะไรที่สุดโต่งเกินไป ยิ่งถูกกดดันหรือถูกคุกคามจากปัจจัยที่ตรงข้ามกับความเชื่อที่ยึดมั่นแล้ว

อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่อาจทำให้ส่งผลตรงกันข้ามขึ้นได้

แม้ไม่ใช่ผู้กระทำโดยตรง แต่หากส่งเสริมความรุนแรงผ่านความคิดเห็นในช่องคอมเมนต์บนโพสต์อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น

เราไม่มีทางลอยนวลพ้นผิด หรือปฏิเสธความรับผิดชอบกับเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ได้เลย