คำ ผกา | เด็กเขาไม่เอา

คำ ผกา

เวลานี้เมื่อจะเขียนคำว่า “สังคมไทย” ลงในบทความ มันจะเป็นคำที่มีปัญหามาก

เช่น ถ้าฉันจะเขียนว่า “สังคมไทยตระหนกพานไหว้ครูของนักเรียนไทย” ก็จะเป็นประโยคที่ใช้ไม่ได้

เพราะในสังคมไทยที่ว่านี้มีทั้งคนตระหนก และมีทั้งคนที่ชื่นชมยินดี

รู้สึกว่า เออ สังคมไทยมีอนาคต และนั่นคือสิ่งที่ได้อ่านได้ฟังกันมานับครั้งไม่ถ้วนว่านี่คือปรากฏการณ์ที่สังคมไทยแบ่งขั้วแบ่งข้าง หรือที่เรียกกันว่า polarization

ฟังคำว่า polarization แล้วให้ความรู้สึกไม่ค่อยดีนัก ฟังดูเหมือนสังคมกำลังแตกแยก และดูว่าสักวันจะลุกขึ้นมาฆ่ากันเป็นสงครามกลางเมืองแบบรวันดาหรือเปล่า

ซึ่งฉันเห็นว่ามันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

กระบวนการ polarization ในสังคมไทยที่เห็นชัดที่สุด คือตอนที่มีสีเหลืองและสีแดง ในช่วงหลังรัฐประหาร 2549

สีเหลืองมาจากสีของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

มีอุดมการณ์คือ ไล่ทักษิณและพวก โดยมองว่า ทักษิณและพวก คือระบอบทักษิณ คือทุนสามานย์ คือพวกขายชาติ และเพื่อขจัดระบอบทักษิณ

คนกลุ่มนี้ที่แม้ครั้งหนึ่งจะเคยต่อต้านเผด็จการ เป็นคนเดือนตุลาฯ หรือเคยร่วมต้านรัฐประหารมาก่อนในช่วงพฤษภาทมิฬ

มาครั้งนี้กลับยอมรับการรัฐประหาร

บอกว่า ยอมได้ ถ้ารัฐประหารเอาทักษิณออกถือว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อรักษาประชาธิปไตย รัฐประหารเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่เป็นไร

ส่วนเสื้อแดงนั้นมาจากกลุ่มคนต้านรัฐประหาร และมองว่า การขจัดทักษิณและระบอบทักษิณ ต้องทำผ่านการเลือกตั้งและด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร

กลุ่มคนเสื้อแดงยังมีทั้งฐานเสียงที่โหวตให้พรรคเพื่อไทยตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นพรรคไทยรักไทย

และมองว่าพรรคการเมืองที่เป็น “ตัวแทน” ของพวกเขาถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม

polarization นี้ยังทำให้เกิดภาพคนไทยสองกลุ่ม

กลุ่มคนเสื้อเหลือง เป็นคนในเมือง มีฐานะ มีการศึกษาดี คนกลุ่มนี้มองว่าตนเองเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร อย่างกว้างขวางและ “รู้ทัน” นักการเมือง คนกลุ่มนี้ฝันอยากเห็นการเมืองไทย “สะอาด” ปราศจากคอร์รัปชั่น มีธรรมาภิบาล จนนำมาสู่คำพูดที่ว่า “เสียงที่มีคุณภาพ”

กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนบ้านนอก การศึกษาน้อย ถูกนักการเมืองหลอกด้วยการเอาผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ มาล่อ จนนำมาสู่คำเรียก “ควายแดง”

ก่อนการรัฐประหารปี 2557 ภาพสองขั้วสองข้างระหว่างเหลืองและแดงถูกแบ่งและเป็นภาพเหมารวมเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ในกลุ่มคนที่เป็นเหลืองก็มีหลายเฉด และในกลุ่มที่เป็นแดงก็มีหลายเฉด

ในกลุ่มคนที่เป็นเหลือง มีตั้งแต่เหลืองเฉดส้ม คือรับรัฐบาลทักษิณไม่ได้ในเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องตากใบ เรื่องนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากร ที่ดิน พลังงาน อะไรก็ว่าไป เลยหลงไปทาง “เหลือง”

จนเมื่อเกิดรัฐประหารก็พยายามปลอบใจตัวเองว่า เอาน่า เขาคงอยู่แป๊บเดียว

เอาน่า เดี๋ยวก็เลือกตั้ง

แต่พอมันไม่เป็นเช่นนั้น แถมมาเจอรัฐประหารปี 2557 ซ้ำเข้าไป มาเจอลีลาการบริหารแบบรัฐบาล คสช. และพวก มาเจอลีลาการเลือกตั้ง 24 มีนาคม มาเจอลีลานายกฯ เลือก ส.ว. ส.ว.เลือกนายกฯ คนเหลืองเฉดส้มก็ถอยกราวรูด

ตอนนี้คนเหลืองเฉดส้มออกมาด่าเผด็จการทุกวี่วันหนักกว่าคนเสื้อแดงอีก

ถัดจากเหลืองเฉดส้มก็เป็นเหลืองตามน้ำ เป็นเหลืองไปกับเขาเพราะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเมืองอะไร รู้แต่ว่ามาอยู่ในโทนเหลืองๆ นี้จะทำให้ตัวเองดูดี ดูเป็นคนมีการศึกษา ดูเป็นคนที่รักชาติ บ้านเมือง

เรียกได้ว่ามาอยู่โซนนี้แล้วโอกาสที่จะผิดมีน้อย

เอะอะด่านักการเมืองก็ง่ายดี

เอะอะด่าชาวบ้านว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมืองก็ง่ายดี

เอะอะบ่นดิน น้ำ ลม ไฟ ว่าบ้านเมืองวุ่นวายเพราะคนโลภ บ้านเมืองวุ่นวายเพราะคนไม่ทำหน้าที่ของตนเอง มัวแต่ไปหวังให้คนอื่นช่วย มัวแต่ไปหวังให้รัฐบาลช่วย บลา บลา บลา

คนไม่รู้สี่และแปดกลุ่มนี้ ปัจจุบันจะทำเป็นไม่มีสี

บ้างก็บอกว่า พี่ไม่สนใจการเมืองแล้ว

บ้างก็บอกว่า ดูสิหลังเลืองตั้ง นักการเมืองก็แย่งเก้าอี้กันไปมาน่ารังเกียจจริงเอย

บ้างก็บอกว่า ใครเป็นนายกฯ เราก็ต้องตื่นเช้าไปทำงานเหมือนเดิม

บ้างก็หันไปทำบุญ บริจาคทาน ทำความดีเพื่อสังคม เนียนๆ ไปว่า ชั้นคือคนดีของสังคมตลอดไปและเสมอมา ส่วนความระยำตำบอนที่เกิดกับบ้านเมืองนั้นไม่เกี่ยวกับตัวฉันเลยสักนิดเดียว ฉันไม่มีส่วน ไม่รู้ ไม่เห็น – ฉันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร จนทำให้บ้านเมืองเราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้? ไม่ใช่ ไม่เกี่ยว ฉันแค่รักชาติบ้านเมือง หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ด่านักการเมือง ไล่นักการเมืองเพราะรักชาติ

จบนะ เรื่องรัฐประหารน่ะ อย่าโทษคนทำรัฐประหารสิ ถ้านักการเมืองไม่โกง มันจะเกิดรัฐประหารได้เหรอ

พ้นจากเหลืองสองเฉดนี้ก็เป็นเหลืองที่พ้นไปจากเรื่องการเมืองตามสถานการณ์ แต่เป็นเหลืองที่เลือกแล้วว่าไม่ว่าข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแบบไหน

ฉันเลือกทางนี้แล้วจะมั่นคงอยู่ในสายนี้ตลอดกาลไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนการเลือกศรัทธาในศาสนา เชื่อแล้วเลือกแล้วศรัทธาแล้ว ไม่ต้องตั้งคำถาม ข้อเท็จจริงก็ไม่สำคัญ จะมีอัพเดตข้อมูลใหม่อีกกี่ชุดก็ไม่มีความหมาย

คนกลุ่มนี้ขยับจากเรื่องการ “ไล่นักการเมืองชั่ว” และ “ไล่นักการเมืองโกง” ขึ้นไปสู่จุดของความเชื่อว่ามีขบวนการบ่อนทำลายประเทศไทย บ่อนทำลายความเป็นไทย บ่อนทำลายมรดก วัฒนธรรม

มักใช้ถ้อยคำภาษาแบบ “ทุบหม้อข้าว เผายุ้งฉางแผ่นดิน” อะไรทำนองนี้

ในที่สุดก็บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นภัยต่อประเทศชาติและสังคม

ฟังแล้วบรึ๋ยยยย มาก

แล้วทางฝั่งเสื้อแดงมีกี่เฉด

แม้ภาพเหมารวมของเสื้อแดงจะเป็นคนบ้านนอก คนเหนือ คนอีสาน คนจน คนที่ไม่ค่อยมีการศึกษาเป็นควายแดง

ซึ่งในหมู่คนเสื้อแดงจำนวนมากภูมิใจที่จะเรียกตัวเองว่า “ควายแดง”

แล้วการด่าคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความหมาย เพราะ “คนเสื้อแดง” ไม่ได้วัดคุณค่าของคนที่การศึกษา

คำด่านี้จึงไม่ valid และไม่ต้องฉลาดมากก็ต้องรู้ได้ว่า การเป็นคนบ้านนอกไม่ได้แปลว่า “จน” เสมอไป

จุดที่คนเสื้อแดงมีร่วมกันคือ หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง, คนเท่ากัน, ไม่เอารัฐประหาร ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ปัญหาการเมือง

เท่านี้จริงๆ สำหรับคนเสื้อแดง พ้นไปจากภาพเหมารวมนี้ก็พบว่า คนเสื้อแดงไม่ได้มีแต่ “คนบ้านนอก” แต่มีอยู่ในทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ตั้งแต่รวยสุดไปจนถึงจนสุด มีทั้งเรียนสูง มีทั้งเรียนน้อย

เฉดของเสื้อแดง ที่แบ่งกันอย่างทีเล่นทีจริง มีทั้งแดงทักษิณ แดงเพื่อไทย แดงไม่เอาทักษิณ

บ้างก็ว่าแดงทักษิณเป็นแดงล้าหลัง ชั้นเป็นแดงประชาธิปไตยย่ะ ไม่ใช่แดงทาสแม้วอะไรก็ว่ากันไป

และอาจจะมีบางคนที่บอกว่า เฮ้ยยย เราไม่ใช่แดง เราแค่เอาประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร แต่เราไม่ใช่เสื้อแดงนะ

ถ้าในเฉดสีเหลือง มี “เหลือง” ที่ไม่เอาเหตุไม่เอาผล เอาความเชื่อและศรัทธาเป็นที่ตั้ง ในฝ่ายแดงมีไหม ก็ต้องบอกว่ามี แดงที่แชร์ fake news ประเภทฝ่ายตรงข้ามเป็นมุสลิมที่วางแผนมาบ่อนทำลายพุทธศาสนาของไทยอะไรเป็นตุเป็นตะที่น่ากลัวมากหากจะมีคนเชื่อ conspiracy แบบนี้ขึ้นมาจริงๆ

ถามว่าหลังจากการรัฐประหารปี 2557 และ คสช.บริหารบ้านเมืองมายาวนานถึงห้าปี การเมืองสองขั้วสองข้างนี้ยังอยู่หรือไม่

คำตอบคือยังอยู่ แต่ไม่ได้ดำรงอยู่แบบสองขั้วสองข้าง เหลืองและแดง แบบที่เป็นหลังการรัฐประหารปี 2549

ห้าปีภายใต้ คสช. หากเราแยกกลุ่มเหลืองและแดงในเฉดที่เป็น “ความศรัทธา” ออกไป สองขั้วสองข้างในสังคมไทย ไม่ใช่เหลืองและแดง แต่เริ่มเป็นสองขั้วสองข้างระหว่างโปรเผด็จการอำนาจนิยม หรือจะโปรประชาธิปไตย กับสองขั้วสองข้างระหว่างอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า

สำหรับฉันถือว่าเป็นพลวัตที่น่าสนใจและถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในแง่ที่เราขยับจากการเมืองเลือกข้าง เอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ

ขยับขึ้นไปเป็น เอาประชาธิปไตย หรือไม่เอาประชาธิปไตย ขยับจากการเมืองเลือกข้าง ไปเป็นการเมืองสองขั้วสองข้างที่ base on อุดมการณ์อย่างชัดเจน และตรงไปตรงมามากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา ขอบคุณมีชัย ผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขอบคุณ กกต.ที่จัดการเลือกตั้งแบบนี้ และมอบสูตรคำนวณ ส.ส.แบบนี้ ขอบคุณองค์กรอิสระทุกองค์กรที่สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ จนทำให้สังคมไทยหลุดออกมาจากวาทกรรมผีทักษิณ

แล้วในที่สุดก็ถึงบางอ้อเสียทีว่า ความไม่เป็นประชาธิปไตย มันสร้างความหายนะได้ถึงเพียงนี้นี่เอง

ในวันนี้เราคงไม่บอกว่าคนที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองแบบอั๋น ภูวนาท หรือคนที่เคยชนะประกวดคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์เอาเงินรางวัลไปคืนพรรคเป็นเหลืองหรือแดง เพราะตอนนี้มันไม่มีเหลือง ไม่มีแดงแล้วจริงๆ มีแต่คนที่ต้องเลือกว่า โอเคกับระบบแบบนี้? (แบบที่ตั้งกันเอง เลือกกันเอง สรรหากันเอง กลับมาเลือกกันเอง ให้ตำแหน่งกันเอง แล้วก็มาบอกว่า การเลือกนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชน ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้) หรือไม่โอเคกับระบบแบบนี้?

พูดอย่างไม่กลัวผิด ฉันคิดว่าในบรรดาคนที่เคยเป็นเหลือง ปัจจุบันได้หันมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่โปรประชาธิปไตย และไม่เอาเผด็จการแล้ว

ไม่นับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคเหลือง-แดง เช่น กลุ่มเด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย สำหรับฉัน มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่พวกเขาจะไม่โปรประชาธิปไตย

เด็กที่เกิดมาหลังปี 2000 นั้น นอกจากจะไม่ถูกล้างสมองในแบบโลกยุคสงครามเย็น พวกเขายังโตมากับสื่อใหม่นอกพรมแดนรัฐชาติ

ถามเขาว่า ระหว่างสังคมที่มีเสรีภาพ กับสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ เขาอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

ระหว่างสังคมที่เห็นคนเท่ากัน กับสังคมที่เห็นคนไม่เท่ากัน เขาอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

ระหว่างสังคมที่ต้องซ้ายหันขวาหันตามผู้นำ กับสังคมที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเอง เขาอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

ระหว่างสังคมที่ต้องฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติตาม กับสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม เขาอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

ระหว่างสังคมที่เขากำหนดได้ว่าอยากให้เอาภาษีจากประชาชนไปทำอะไร กับสังคมที่รัฐเอาภาษีประชาชนไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก เขาอยากได้แบบไหน?

ระหว่างนายกฯ ลุงตู่, ธนาธร หรือชัชชาติ เขาอยากได้ใครเป็นนายกฯ?

ถามว่าเด็กเหล่านี้ ที่อยากเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่ปาก ไม่อย่างนั้นพวกเขาคงไม่ออกมาทำป้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วบอกว่า “สุดท้ายเป็นแค่ที่วนรถ” เป็นเหลืองหรือแดง?

พวกเขาไม่ใช่เหลืองหรือแดง แต่พวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มคนที่โปรประชาธิปไตย

นี่คือ polarization ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

และสำหรับฉัน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด สังคมไทยก็หลุดออกมาจากเรื่องคนดี ควายแดง แล้วขยับมาสู้กันในจุดที่ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนปิดบัง นั่นคือ ณ เวลานี้ จะเอาประชาธิปไตย หรือจะไม่เอาประชาธิปไตย แล้วอยู่ภายใต้ลุงตู่???

คนที่ออกมาด่าเด็กเรื่องทำพานไหว้ครูล้อการเมือง ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องห่วงใยเรื่องประเพณี วัฒนธรรม หรืออะไร มันก็แค่กลุ่มเชียร์ลุงตู่ และกลุ่มโปรเผด็จการซึ่งกริ้วที่โดนเด็กด่าเท่านั้น

เวลาจะอยู่ข้างเราหรือเปล่าฉันไม่รู้ รู้แต่ว่าเด็กที่ตามเรามาอยู่ข้างหลังของกาลเวลานั้นเขาไม่เอาเผด็จการ