ตั้งรัฐบาลใหม่ลากยาว สะเทือนงบประมาณปี “63 ฉุดเศรษฐกิจ-เมกะโปรเจ็กต์

กว่า 2 เดือนแล้ว หลังมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่ลงตัว และด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ของพรรคแกนนำ กับ ส.ส.ในสังกัดพรรคเล็กพรรคน้อยที่ประกาศตัวเป็นแนวร่วมที่มีคะแนนเสียงไม่เพียงพอ

จำต้องดึงพรรคขนาดกลางโดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย” กับ “ประชาธิปัตย์” เข้าร่วม ให้พ้นระดับ “เสียงข้างน้อย” ทำให้เกิดการดึงเกมสร้างราคา ชิงความได้เปรียบในการเจรจาต่อรองกันอย่างหนัก โดยมีเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเดิมพัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดเจนเวลานี้คือ การบังคับใช้กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีอันต้องล่าช้าออกไป

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากยังไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ทำให้ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ต้องล่าช้าออกไป 3 เดือน จากเดิมต้องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563

สำนักงบประมาณจึงให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายประจำจากฐานงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของงบฯ รายจ่ายประจำปี 2562 ขณะที่รายจ่ายในการลงทุนให้เบิกจ่ายจากงบฯ เหลื่อมปี 2562 ไปก่อน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ระหว่างที่รองบประมาณใหม่ การเบิกจ่ายจะยึดกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ไปก่อน ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบฯ รายจ่ายประจำกว่า 80% ส่วนที่เหลือจะเป็นงบฯ ตามโครงการรัฐบาล เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไร

ขณะที่นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ห่วงว่าหากรัฐบาลชุดใหม่มีการขอทบทวนการจัดสรรงบประมาณกันมาก เพื่อทำตามนโยบายที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ ทางสำนักงบประมาณก็ต้องให้เวลาทบทวน โดยจะเสนอหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน ซึ่งอาจจะ 3 เดือน หรือหากดูแล้วไม่มีการทบทวนงบฯ กันมาก ก็อาจจะใช้งบฯ ไปพลางก่อนแค่ 1 เดือน โดยจะเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณาช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

“เดิมจะต้องเสนอกรอบวงเงินเข้า ครม.ตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ถึงตอนนี้กว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ก็น่าจะเดือนมิถุนายน ซึ่งเมื่อมี ครม.ชุดใหม่ก็ต้องแถลงนโยบายต่อสภา จากนั้น ครม.ชุดใหม่จะนำนโยบายที่แถลงมาจัดทำนโยบายในระยะข้างหน้า แต่คำของบประมาณปี 2563 ส่งเข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว อย่างไรก็ดี สำนักงบฯ จะเปิดให้รัฐบาลใหม่ขอเพิ่มเข้ามาได้” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

สำหรับงบฯ ปี 2563 มีกรอบวงเงินรายจ่ายที่ ครม.เห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท มีการขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลใหม่ทบทวนแล้ว หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินขาดดุลก็สามารถเพิ่มได้ เนื่องจากยังมีกรอบวงเงินขาดดุลเพิ่มเติมได้อีก 1 แสนล้านบาท

“คาดว่างบฯ ปี 2563 จะเบิกจ่ายได้ในต้นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ หรือต้นไตรมาสแรกของปีปฏิทิน 2563 คงมีผลกับเศรษฐกิจปีหน้า ส่วนปีนี้ (2562) เมื่อรัฐบาลมาช้า ไตรมาสสุดท้ายอาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะเม็ดเงินจะลงในระบบได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้แค่ราวครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ารัฐบาลใหม่มา โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เดินได้ เอกชนก็จะลงทุนเต็มที่ จึงไม่น่าห่วงเท่าไหร่” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

พร้อมการันตีว่าช่วงที่งบฯ ปี 2563 ยังไม่บังคับใช้ การเบิกจ่ายงบประมาณจะไม่สะดุด เพราะสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน โดยงบฯ ประจำ และงบฯ ลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่องสามารถเบิกจ่ายได้ แต่จะไม่มีงบฯ สำหรับโครงการลงทุนใหม่

 

อย่างไรก็ดี ในมุมของนักวิเคราะห์ นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ชี้ว่า หากงบประมาณปี 2563 ล่าช้าถึง 1 ไตรมาส จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ไม่ถึง 3%

ที่สำคัญ งบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า ยังไม่น่ากังวลเท่ากับการที่จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า แล้วทำให้เอกชนรอ ไม่กล้าลงทุน

ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนมีการชะลอตัว เพื่อรอความชัดเจนในโครงการลงทุนที่เป็นลักษณะการร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP) หรือการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เพราะนอกจากโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ที่ภาคเอกชนซึ่งมีกลุ่มซีพีเป็นแกนนำจะได้รับเลือกให้ได้รับสัมปทานโครงการชัดเจน มีโครงการลงทุนอื่นๆ ที่ยังต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อการประมูลที่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งเปิดประมูลอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

เนื่องจากเอกชนทั้งไทย ต่างชาติ กำลังจับตาดูว่าเมื่อมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามานั่งในกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว นโยบายการลงทุนจะเปลี่ยนไปหรือไม่

ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนถึง 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และถือเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยปีนี้แทบจะความหวังเดียว เพราะเครื่องยนต์อื่นๆ ดับหมด ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น

“การลงทุนภาครัฐชะลอตัวมาสักพักแล้ว โดย 4 ไตรมาสที่ผ่านมาพลาดเป้าตลอด ปีนี้ทาง TMB Analytics ก็มองโตแค่ 2.5% แต่ถ้าความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลทำให้โครงการเมกะโปรเจ็กต์ช้า เนื่องจากทิศทางของภาครัฐยังไม่แน่นอน จะดึงการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งตัวนี้เป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวไปด้วย ทั้งๆ ที่แทบจะเป็นความหวังเดียวของปีนี้ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ เพราะเครื่องยนต์อื่นดับเกือบหมด”

ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าว

 

เมื่อพิจารณาจากความล่าช้าในเกมการจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 พร้อมทั้งภาวะชะลอตัวของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

นี่คือโจทย์ใหญ่ และจะเป็นพลังฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่จะต้องจับตากันต่อไปว่า จะมีทางออกอย่างไรในท้ายที่สุด