ชายแดนใต้ : ปรากฏการณ์ฝูงชนนับหมื่นแม้ค่ำคืน (ถึงดึก) สะท้อนนัยยะอะไรบ้าง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้นับหมื่นคน (บางรายงานบอกว่าถึงแสน) ร่วมรับฟังบรรยายธรรมต้อนรับรอมฎอนโดยอุสตาซอัซฮัร อิดรุส นักบรรยายธรรมศาสนาอิสลามชื่อดังโลกมลายูอาเซียนจากมาเลเซีย เต็มสนามฟุตบอล 2 แห่ง (นราธิวาสและปัตตานี) สองคืนติดๆ 27-28 เมษายน 2562

สะท้อนนัยยะมากมายหลังเหตุการณ์ไฟใต้ 15 ปี

1.วัฒนธรรมฟังบรรยายธรรม

การเชิญคนทำความดี ละเว้นความชั่ว เป็นคำสั่งในศาสนาอิสลาม เปรียบเสมือนหัวใจของศาสนาอิสลามในการทำให้คนมุสลิมสะท้อนและยังคงอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม จนบางคนใช้คำว่าสังคมอนุรักษนิยม ที่ยากแนวคิดภายนอกจะไปแปลเปลี่ยนสังคมโดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมตะวันตกหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมส่วนกลางจากกรุงเทพมหานครหรือวิถีวัฒนธรรมสยามหรือไทยที่ยึดโยงกับบูรณาการกันอย่างลงตัวในศาสนาพุทธ พรามณ์ ฮินดู

การเชิญคนทำความดี ละเว้นความชั่ว มีหลากหลายวิธีการในสังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้

เช่น การแสดงธรรมเทศนาทุกวันศุกร์ในทุกมัสยิดในชุมชนไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงหรือไม่รุนแรงเพียงแต่เนื้อหาปรับตามยุค ตามสมัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นพลังหลักของคนเห็นต่างจากรัฐและรัฐในการช่วงชิงมวลชนคนชายแดนใต้ หรือการลงคะแนนเลือกตั้งหลังสุดการใช้เวทีนี้ของทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคประชาชาติที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนรวมมากที่สุด

นอกจากธรรมเทศนาวันศุกร์ยังมีธรรมเทศนา ตามเทศกาล งานบุญต่างๆ เพื่อระดมทุนสร้างสาธารณกุศลโดยเฉพาะศาสนสถานและสถาบันการศึกษา

การสอนศาสนาในทุกมัสยิดประจำวัน ประจำสัปดาห์ แต่ที่มีผู้คนมากที่สุด คือ มัสยิดกลาง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยบาบออิสมาอีล สะปันยัง และอิสมาอีลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งการสอนนี้ใช้เวลากลางวันเป็นหลักซึ่งในอดีต ก่อนความรุนแรงชายแดนใต้ (15 ปี) การสอนศาสนาแบบนี้มีทั้งกลางวันและกลางคืน

สำหรับการฟังการบรรยายธรรม จากวิทยากร ผู้นำศาสนามีทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง (เช่น ชัยค์ริฎอ จาก whitechannel.tv) มาตลอดแต่ผู้คนไม่มากเรือนหมื่นเรือนแสนเหมือนครั้งนี้ท่ามกลางกฎหมายพิเศษ 3-4 ฉบับ อันแสดงถึงวิถีวัฒนธรรมคนพื้นที่แม้มีเหตุการณ์รุนแรงไม่ปกติที่ผู้คนไม่กล้าออกจากบ้านในเวลากลางคืน

แต่ถ้าเรื่องนี้มันสามารถแหวกม่านความกลัวได้

2.อิทธิพลผู้นำศาสนา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นผู้นำศาสนายังคงเป็นชนชั้นนำในการนำสังคม

หากดูโครงสร้างการขับเคลื่อนชุมชน ไม่ว่าด้านสังคม ศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรมพบว่ายังมีโครงสร้างการบังคับบัญชาชุมชนที่เป็นทางการควบคู่กับรัฐผ่าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานราชการอื่นๆ

คือผู้นำศาสนาระดับมัสยิดทุกชุมชน เรียกว่าอิหม่าม โดยอิหม่ามเหล่านี้จะเลือกตัวแทนเขา 30 คน เป็นคณะกรรมการอิสลาม

คณะกรรมการอิสลามก็จะเลือกประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดโดยทุกจังหวัดก็ส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางชุมชนมุสลิมหรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคต้องฟังส่วนในพื้นที่ชายแดนใต้

หน่วยความมั่นคงก็จะตั้งบุคคลเหล่านี้เป็นคณะกรรมการต่างๆ ในชุมชนจนถึงระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้นำศาสนาอิสลามระดับแกนนำ จำนวนมากเป็นเจ้าของปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจะมีบุคลากรไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน และนักเรียนไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ตั้งแต่อายุ 3 ปีถึง 20 ปี

ทำให้มีอิทธิพลมากๆ ในการกำหนดทิศทางสังคมแม้แต่ผลการเลือกตั้งที่พรรคประชาชาติชนะการเลือกตั้งได้คะแนนมากที่สุด

(จึงไม่แปลกในเวทีบรรยายธรรมครั้งนี้ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา และแกนนำพรรค รวมทั้งว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่ปรากฏตัวหน้าเวที)

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเหตุการณ์ล่าสุดการกดดันของเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ทำหนังสือพร้อมแถลงการณ์ให้ยกเลิกคำสั่งตรวจสอบทุจริตในสถานศึกษาที่เรียกว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

และในที่สุดแม่ทัพภาคที่สี่ต้องยอมถอยยกเลิกคำสั่งดังกล่าว พร้อมตั้งนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนดังกล่าวเป็นกรรมการตรวจการละเมิดสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ รวมทั้งอีกหลายกรรมการ หลายที่ปรึกษาของหน่วยความมั่นคงโดยเฉพาะกรรมการคณะพูดคุยระดับพื้นที่

(โปรดดู https://www.publicpostonline.net/25651?fbclid=IwAR3rD1VEdOPj5ganNnT8cRK6h-To2JHjewZYDcAnXIgakc9mqsPdngGodGg)

3.บทบาทผู้นำศาสนาต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ทำไม? ปรากฏการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สังเวยชีวิตคนไทยไปแล้วไม่ต่ำกว่า 8,000 คน และยังไม่มีวี่แววความรุนแรงจะลดลง

ตรงกันข้าม (ความรู้สึกมวลชน) เหตุการณ์รุนแรงที่ได้ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์มาตลอด เป็นสิ่งยืนยันบ่งบอกให้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า วิกฤตการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงยืดเยื้อและความรุนแรงขึ้นลงอย่างนี้อีก

เมื่อผู้นำศาสนามีอิทธิพลต่อสังคม ดังนั้น ปัจจุบัน รัฐควรมีวิทยปัญญานำผู้นำศาสนามาร่วมแก้ปัญหา ผ่านการพูดคุย ก่อนจะปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้รัฐบาลยุค คสช. ความมั่นใจในอำนาจของหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ยิ่งสร้างความร้าวฉานกับผู้นำศาสนา ที่นับวันค่อยรุนแรง

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มากขึ้น หลังการเลือกตั้ง ต้องทำมากกว่านี้ ปรากฏการณ์ไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามแบบที่ทำกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องไม่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ ในทางกลับกันด้วยนโยบายการจัดการปัญหายาเสพติดของแม่ทัพภาคที่ 4 และนโยบายการพูดคุยของท่านอุดมชัยที่จะทำกับชาวบ้านมากขึ้นยิ่งต้องใช้โซ่ข้อกลางจากผู้นำศาสนา

4.ชาวพุทธในพื้นที่อีกตัวแปรสำคัญกับกระบวนการประชาธิปไตย

จากการสัมผัสของผู้เขียนในเวทีแลกเปลี่ยนวิชาการโดยเฉพาะกับชาวพุทธในสภาประชาสังคมชายแดนใต้และกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) นั้น “ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังแม่ทัพภาคที่ 4 ยกเลิกคำสั่งตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามพบว่า กระแสพุทธคนในพื้นที่ซึ่งเดิมไม่ดีอยู่แล้วกับรัฐและผู้นำศาสนา ยิ่งทำให้ชาวพุทธต้องรวมตัวแสดงจุดยืน ในการส่งสัญญาณในการแก้ปัญหาจากรัฐ

เมื่อ 26 เมษายน 2562 ที่โรงแรมซีเอสจังหวัดปัตตานี กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมเครือข่ายชาวพุทธทั้งภายในและภายนอกพื้นที่กว่า 11 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ชาวพุทธต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องการให้มีความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมของทุกศาสนา ต้องการการเดินทางอย่างสะดวกปลอดภัย ตลอดจนต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ การดำรงชีพ ความมั่นคงทางชีวิต ไม่ต้องการถูกขับไล่ออกนอกพื้นที่ หรือแยกที่อยู่ แยกพื้นที่ทำมาหากิน

ด้วยเหตุที่ชาวพุทธมีความรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ และตกอยู่ในความทุกข์มาเป็นเวลายาวนาน

มุมมองต่อสถานการณ์จึงมักเป็นในทางลบ หรือเป็นการมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) และอยากมีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อดำเนินการได้เลยโดยไม่รอการพูดคุย เช่น การทำความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญแก่ชาวพุทธมากขึ้น การติดตามคนผิดมาลงโทษ การให้ความเป็นธรรม

ในขณะเดียวกันก็หวังให้ฝ่ายรัฐบาลพูดคุยแบบสุจริต โปร่งใส จริงจัง มีความต่อเนื่อง เตรียมตัวให้ดี รวมทั้งมีการรับฟังปัญหาท้องถิ่น ก่อนการพูดคุย

กระนั้น ก็มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งไม่มากนักที่ฝากความหวังให้กระบวนการพูดคุยประสบความสำเร็จได้ด้วยดี

ชาวพุทธต้องการให้ในโต๊ะเจรจาพูดคุยสันติสุข ทั้ง 2 ฝ่ายคือฝ่ายปาร์ตี้ เอ (รัฐ) นั้น

1) ขอให้มีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

2) ขอให้กระบวนการพูดคุยมีความโปร่งใส

3) ข้อมูลต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย

ส่วนข้อเสนอต่อฝ่ายปาร์ตี้ บี หรือมารา ปาตานี และกลุ่ม BRN หรือกลุ่มที่ยังใช้ความรุนแรง กลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่ม คือ

1) ไม่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน

2) ไม่ใช้ประเด็นศาสนามาสร้างความแตกแยก

3) ให้พื้นที่ของชาวไทยพุทธ

และ 4) ขอให้รับฟังเสียงและเข้าใจจุดยืนของชาวไทยพุทธ สำหรับความหวังในอนาคตนั้น ชาวพุทธต้องการให้ทุกภาคส่วนมองเห็นความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายในการแก้ปัญหา

กล่าวโดยสรุป การแก้ปัญหาของรัฐต่อคนมุสลิมและพุทธมีจุดร่วมเดียวกันที่ถูกมองคือความรู้สึกไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน

ดังนั้น การเปิดพื้นที่ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลน่าจะเป็นทางออกดีที่สุด