โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระสมเด็จหลังพระสิวลี หลวงพ่อกวย ชุตินธโร วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท

หลวงพ่อกวย ชุตินธโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระสมเด็จหลังพระสิวลี

หลวงพ่อกวย ชุตินธโร

วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท

 

 

“หลวงพ่อกวย ชุตินธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดโฆสิตาราม (วัดบ้านแค) ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมรุ่นเก่าอีกรูป ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคกลาง

วัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้างและปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหา ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หนึ่งในนั้นคือ “พระสมเด็จหลังพระสิวลี” เป็นพระเครื่องที่สร้างเอง ผสมเนื้อและกดพิมพ์ สร้างเมื่อประมาณปี 2514-2515 กดพิมพ์เองที่วัดบ้านแค เป็นพระสมเด็จพิมพ์ฐาน 3 ชั้น หลังเป็นพระสิวลี แบ่งเป็นพิมพ์เอวเล็กและพิมพ์เอวใหญ่

ทั้งหมดแตกกรุออกมาเมื่อปี พ.ศ.2539 แต่ยังไม่เผยแพร่มากนัก อีกทั้งมีส่วนผสมของผงพระสมเด็จของแท้ และผ่านการปลุกเสกจากหลวงพ่อกวยหลายวาระด้วยกัน

จุดสังเกตในพระสมเด็จพิมพ์นี้ คือ เนื้อพระส่วนใหญ่ จะเป็นเนื้อผงผสมน้ำมันตังอิ้ว ที่เป็นเนื้อผงใบลาน และเนื้อผงอิทธิเจ ด้วยเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นานหลายสิบปีแล้ว พระจึงแห้งผาก แต่ดูแกร่ง และบางองค์ปรากฏคราบกรุให้เห็น พิมพ์ทรงคมชัด เนื้อแกร่งเก่าได้อายุ หลายองค์มีรอยเนื้อปลิ้นเนื้อเกินของการกดพระให้เห็น

เนื่องจากเป็นการกดพิมพ์คันโยก พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อเกินหรือล้น ไม่เพียงพบตรงบริเวณด้านหน้าพระ แต่ด้านหลังพระสมเด็จก็พบเนื้อเกินมากบ้างน้อยบ้าง ตามแรงกดพระ ทั้งพระพิมพ์เอวเล็ก และเอวใหญ่ องค์พระด้านหน้า บริเวณข้อพระหัตถ์ข้างซ้ายมือองค์พระ จะปรากฏเส้นปลายจีวรในพิมพ์ และเห็นชัดเจนในองค์ที่สวยสภาพเดิม

ส่วนพระสิวลีด้านหลัง ทั้งพิมพ์เอวเล็กและเอวใหญ่ จะมีขอบสองขอบ และอักขระนะชาลิติ ปรากฏอยู่สี่มุม

ปัจจุบัน เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

พระสมเด็จ หลวงพ่อกวย (หน้า)

 

อัตโนประวัติ ชื่อกวย ปั้นสน เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2448 ที่หมู่บ้าน บ้านแค หมู่ 9 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

ครั้นเมื่อครบอายุบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2467 ที่วัดโบสถ์ ต.โพธิ์งาม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท โดยมีพระชัยนาทมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อปา วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เเละพระอาจารย์หริ่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ชุตินธโร แปลว่า ผู้ตัดกิเลส

อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านแค หลังจากนั้นได้ไปเรียนวิชาแพทย์โบราณกับหมอเขียน เพื่อเรียนวิชารักษาโรคระบาด หรือโรคห่าเเละโรคไข้ทรพิษ

พ.ศ.2472 เดินทางไปเรียนวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม ตลอดจนวิธีทำเครื่องรางของขลังกับหลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี

พ.ศ.2477 จำพรรษาที่วัดหนองแขม ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เพื่อเรียนแพทย์แผนโบราณต่อกับนายป่วน บ้านหนองแขม และเรียนแพทย์แผนโบราณต่อกับหมอใย บ้านบางน้ำพระ

ขณะจำพรรษาที่วัดหนองแขม ได้มีพระภิกษุชื่อ แจ่ม เดินทางท่องเที่ยว ไปพบตำราเป็นสมุดข่อยอยู่ในโพรงไม้ แต่เอามาไม่ได้ เพราะตำรานั้นมีอาถรรพ์แรงมาก จึงได้มาชักชวนพระกวยให้ไปดู ปรากฏว่ามีตำราอยู่โพรงไม้จริง มีรอยคนเอาพวงมาลัยดอกไม้ ธูปเทียนมาบูชาใต้โคนไม้

จึงได้จุดธูปบอกเล่าและอธิษฐานว่า ถ้าหากว่าท่านจะให้ตำรานี้ให้ข้าพเจ้าเอาไปเก็บรักษาไว้ ข้าพเจ้าจะนำเอาตำรานี้ไปทำประโยชน์แก่วัดและช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น

ก่อนอัญเชิญตำรานั้นมาเก็บไว้

พระสมเด็จ หลวงพ่อกวย (หลัง)

 

ครั้งหนึ่ง ไปจำพรรษาที่วัดบางตาหงาย อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เรียนวิชาทำแหวนแขน, ตะกรุด, มีดหมอ และอื่นๆ ศิษย์ร่วมรุ่นของหลวงพ่อที่เป็นที่รู้จักกัน คือ หลวงปู่พิมพา วัดหนองตางู อ.บรรพตพิสัย

ต่อมาเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงกลับมาอยู่วัดบ้านแค เริ่มสักยันต์ให้ศิษย์ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ขนาดสักกันทั้งกลางวันกลางคืน

ในช่วงนั้น ข้าวยากหมากแพง โจรร้ายเต็มบ้านเมือง โดยเฉพาะเเถบภาคกลางตอนล่าง นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี เป็นแหล่งกบดานของโจรเสือร้ายหลายกลุ่ม ชาวบ้านแคได้อาศัยบารมีหลวงพ่อกวย เพื่อคุ้มครองครอบครัวและทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ก็จะเอามาฝากที่วัด

จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ที่บ้านแค เล่าว่า พวกโจรเสือไม่มีใครกล้ามาลองดีด้วยเลย

 

หลวงพ่อกวยไม่ชอบการก่อสร้าง ชอบความเป็นอยู่สมถะ แม้กุฏิของหลวงพ่อก็เป็นไม้ทรงไทยโบราณ แต่การก่อสร้างนั้น หลวงพ่อยกหน้าที่ให้กรรมการวัด แม้การก่อสร้างก็ให้กรรมการวัดและชาวบ้านทำ ดังนั้น วัดบ้านแคจึงมีแต่กุฏิเก่าๆ

ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 5 ธันวาคม 2511 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2521 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท หมอวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคขาดสารอาหารมาเป็นเวลา 30 ปี แพทย์จึงให้สารอาหารประเภทโปรตีนเป็นเวลาถึง 1 เดือน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อยู่โรงพยาบาลได้ไม่นานก็กลับวัด เมื่อกลับวัด หลวงพ่อก็ยังได้ฉันอาหารเพียงวันละ 1 ครั้งเช่นเดิม อีกทั้งยังคงคร่ำเคร่งในการสร้างและปลุกเสกวัตถุมงคล

มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2522 สิริอายุ 74 ปี พรรษา 54

ปัจจุบัน วัดโฆสิตาราม เเละบรรดาศิษย์หลวงพ่อกวย ได้ยึดถือเอาวันที่ 12 เมษายนของทุกปี เป็นวันทำบุญประจำปี เพื่ออุทิศและรำลึกถึง

 

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อกวย ชุตินธโร

2.พระสมเด็จ หลวงพ่อกวย (หน้า)

3.พระสมเด็จ หลวงพ่อกวย (หลัง)