เซอร์รุ่นเดอะ ผู้ปลดปล่อยศิลปะ ให้เป็นอิสระจากความจริง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเดือนเมษายนนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดและวันเสียชีวิตของศิลปินสมัยใหม่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

มักซ์ แอร์นส์ท (Max Ernst) (2 เมษายน 1891 – 1 เมษายน 1976)

ศิลปินชาวเยอรมัน (โอนสัญชาติเป็นอเมริกันในปี 1948 และฝรั่งเศสในปี 1958) ผู้ทำงานจิตรกรรม, ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และบทกวี เขาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะดาดา (Dada) และเซอร์เรียลิสต์ (Surrealism)

เกิดในปี 1891 ที่เมืองบลืล (Bruhl) (ใกล้กับเมืองโคโลญ) ในประเทศเยอรมนี

เขาเติบโตในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด

พ่อแม่ของมักซ์สอนให้ลูกๆ มีความเคารพยำเกรงในพระเจ้า

แต่ในขณะเดียวกันก็สอนทักษะอันหลากหลายให้

ถึงแม้พ่อของเขาจะเป็นคนหูหนวก แต่เขาก็สอนสิ่งต่างๆ ให้ลูกมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดภาพ

พ่อของมักซ์สอนให้เขาวาดรูปตั้งแต่วัยเยาว์

มักซ์ได้แรงบันดาลใจทางศิลปะจากพ่อของเขาเป็นอย่างมาก

ในปี 1914 เขาเข้าเรียนสาขาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยบอนน์

แต่เขาก็หยุดเรียนไปเพราะสนใจในศิลปะมากกว่า

เขาเรียนรู้ศิลปะด้วยตัวเองโดยไม่เคยผ่านการฝึกฝนหรือเล่าเรียนศิลปะที่ไหนเลย

แต่เขาเองก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในยุคก่อนหน้าอย่าง โคล้ด โมเนต์, ปอล เซซานน์ และวินเซนต์ ฟาน โก๊ะห์

และผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับจินตนาการและจินตภาพจากความฝันของศิลปินรุ่นพี่อย่างจอร์โจ เดอ คิริโก

แอร์นส์ทเคยเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

ประสบการณ์อันเลวร้ายจากสงครามก่อให้เกิดบาดแผลต่อจิตใจของเขา

รวมถึงส่งผลต่อแนวคิดพื้นฐานในการทำงานของเขาอย่างมาก

ด้วยการนำความทรงจำเกี่ยวกับสงคราม มาผสมผสานเข้ากับความทรงจำวัยเด็ก

สร้างเป็นผลงานที่หลุดโลก ไร้ตรรกะเหตุผล

เต็มไปด้วยด้วยสีสันและอารมณ์ขันเชิงเสียดสี และต่อต้านขนบธรรมเนียมประเพณีและรูปแบบเดิมๆ ของศิลปะ

และตั้งคำถามต่อความความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของศิลปะ ด้วยการทำงานที่ไม่มีเรื่องราวชัดเจน ล้อเลียนศรัทธา ท้าทายความเชื่อทางศาสนา

ผลงานเหล่านี้เป็นการกรุยทางให้แก่ศิลปะยุคสมัยใหม่อย่างมหาศาล

เมื่อเขากลับคืนสู่เยอรมนีหลังสงคราม เขากับฌอง อาร์พ (Jean Arp) เพื่อนกวีและศิลปิน ร่วมกันต่อตั้งกลุ่มศิลปินในโคโลญ

และเริ่มสนิทสนมกับกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าชาวฝรั่งเศส

The Barbarians (1937), ภาพจากhttps://bit.ly/2CPxknw

ในช่วงปี 1920 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งลัทธิเคลื่อนไหวทางศิลปะเซอร์เรียลิสต์ ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิดาดาที่มีแนวคิดปฏิเสธความเป็นเหตุผลและจิตสำนึก พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่พาผู้คนไปสู่หายนะ โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 1

พวกเขาจึงทำงานโดยละทิ้งเหตุผลทั้งมวล แต่ใช้สัญชาตญาณและความบังเอิญ และความเหลวไหลไร้สาระ

ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอิสระและเสรีภาพ และใช้มันในการกระตุ้นผู้คนให้คิดถึงมุมมองและหนทางใหม่ๆ

โดยนำมาผนวกกับทฤษฎีของนักจิตวิเคราะห์เลื่องชื่ออย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เกี่ยวกับจิตไร้สำนึก หรือสภาพดั้งเดิมของจิตใจที่ไม่มีการควบคุม ไร้การไตร่ตรอง ไร้เหตุผล ที่ถูกระบายผ่านความฝัน และโอบรับแนวคิดทางสังคมฝ่ายซ้ายของมาร์กซิสต์มาใช้

The Elephant Celebes (1921), ภาพจากhttps://en.wikipedia.org/wiki/Surrealism

ในปี 1922 เขาย้ายไปอยู่ปารีสซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของศิลปินเซอร์เรียลิสต์ แอร์นส์ทเป็นศิลปินคนแรกที่หยิบเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์และความฝันของฟรอยด์มาสำรวจจิตใจส่วนลึกของตัวเองและนำมันมาใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขา

ด้วยการนำเสนอภาพวาดอันแปลกประหลาดพิสดารราวกับความฝัน

เขามีความสนใจอย่างมากในการแปรเปลี่ยนความป่วยไข้ทางจิตใจเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกพื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์อันเป็นอิสระและถูกปลดปล่อยจากการถูกจองจำ

ในขณะเดียวกัน เขาก็พยายามค้นหาต้นตอของความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ศิลปะเป็นอิสระจากจิตใจส่วนลึก ด้วยการหาทางเข้าถึงสภาวะพื้นฐานของมนุษย์ก่อนที่จะรู้ภาษา และปลดปล่อยสัญชาตญาณเบื้องต้นของมนุษย์เพื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา

ในช่วงปี 1925 เขาเริ่มต้นทำการทดลองทำงานที่ถ่ายทอดจิตนภาพจากจิตไร้สำนึกของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคอย่างฟรอททาจ (Frottage) หรือการใช้กระดาษวางบนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ อย่างเปลือกไม้ ใบไม้ หรือผ้า แล้วใช้ดินสอหรือแท่งสีฝนจนเกิดเป็นภาพของวัตถุเหล่านั้นขึ้นมา

หรือเทคนิคแกรททาจ (Grattage) หรือการขุดขีดผิวนอกของภาพวาดที่ถูกเคลือบสีทับกันหลายชั้น จนเปิดเผยให้เห็นสีที่ถูกซ่อนเอาไว้ข้างใต้

Ohne titel (Sedona Landschaft) (1957), ภาพจากhttps://bit.ly/2I2gkxT

และเทคนิคดีโคลแมเนีย (Decalcomania) หรือการนำเอากระดาษหรือผ้าใบที่ระบายสียังไม่ทันแห้งมาประกบกันแล้วดึงออกมาจนกลายเป็นพื้นผิวขรุขระแปลกตา

การทดลองและการคิดค้นทางเทคนิคในการทำงานศิลปะของแอร์นส์ทเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการสร้างภาพจิตรกรรมหรือภาพวาดลายเส้นที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่ไม่ใช่ความจงใจหรือการบังคับควบคุมของศิลปินแล้ว

ยังเป็นการแปรเปลี่ยนวัตถุในชีวิตประจำวันให้เป็นเครื่องมือในการสำรวจจิตสำนึกร่วมของสังคม

Of This Men Shall Know Nothing (1923), ภาพจากhttps://bit.ly/2ODLAVh

ซึ่งกลายเป็นแนวความคิดหลักของกลุ่มเซอร์เลียลิสต์อย่าง Automatism หรือการสร้างงานภายใต้สภาวะอัตโนมัติ ที่เกิดขึ้นเองโดยที่ศิลปินไม่ได้บังคับควบคุม

เทคนิคเหล่านี้ในปัจจุบันได้กลายเป็นเทคนิคพื้นฐานทางศิลปะหรือแม้แต่เป็นการละเล่นทางศิลปะของเด็กๆ ด้วยซ้ำไป

อีกทั้งยังเป็นเทคนิคที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแอ็บสแตร็ก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism) ในเวลาต่อมา

ถึงแม้เขาจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ศิลปะมากกว่าจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วๆ ไป

แต่เขาก็ส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะรุ่นหลังอย่างมาก ผลงานของเขากลายเป็นรากฐานให้แก่ศิลปินผู้มีความสนใจทางด้านเทคนิคทางศิลปะ, จิตวิทยา และความปรารถนาในการท้าทายและเผชิญหน้ากับจารีตแบบแผน และขนบธรรมเนียมประเพณีทางสังคม

L’Ange du Foyer (1937), ภาพจากhttps://bit.ly/2OF5fUW

และถึงแม้จะถูกขับออกจากกลุ่ม แต่เขาก็เป็นหนึ่งในศิลปินเซอร์เรียลิสต์คนสำคัญ ผู้มีส่วนสร้างยุคทองของลัทธิเซอร์เรียลิสต์ร่วมกับเพื่อนศิลปินอย่างฆวน มิโร (Joan Miro), ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) และเรอเน มากริตต์ (Rene Magritte)

หลังจากเสียชีวิตในปี 1976 แต่มรดกทางความคิดและการทำงานของเขาก็ยังคงเป็นต้นธารแห่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินไปทั่วโลก

ผลงานของเขาเองก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และตัวแทนของของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลิสต์อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

ข้อมูล https://www.max-ernst.com, https://bit.ly/2TP7B4d