คำ ผกา | จดหมายถึงแคนดิเดต เราเปลี่ยนผัวได้เสมอ

คำ ผกา

แหม…พอใกล้ๆ เลือกตั้งนี่ ประชาชนอย่างเราเนื้อหอมมาก กลายเป็น “หญิงสาว” ที่ใครๆ ก็หมายปองครองรัก ทั้งออดทั้งอ้อน ทั้งเขียนจดหมายรัก ทั้งขอความเมตตาสงสาร

อุปมาอุปไมยเรื่องความรักกับการเลือกตั้ง มันดูจะเริ่มมาจากการมองเรื่องการแต่งงานจากสองฐานคิดที่แตกต่างกัน

1.การแต่งงานแบบคลุมถุงชน

คือการแต่งงานที่ผู้ใหญ่เลือกคู่ให้ โดยฐานคิดที่ว่า หนุ่มสาวอาจเลือกคู่โดยวู่วาม เอาเรื่องรูปร่างหน้าตา เสน่หาเป็นที่ตั้ง เลือกโดยลุ่มหลง มัวเมา เลือกโดยคิดถึงความสุขระยะสั้น ไม่มองอะไรยาวๆ

ผู้ใหญ่ผ่านโลกมามากกว่า ย่อมอ่านคนได้ทะลุปรุโปร่งกว่า รอบคอบกว่า สามารถสืบประวัติ สายตระกูล เบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยไม่มีความมัวเมา เอนเอียงใด

การเลือกย่อมเที่ยงธรรม ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เพราะความรักทำให้คนตาบอด เราจึงไม่ควรให้คนมีความรักเลือกคู่ครองเอง เพราะความรักจะบังตา เห็นแต่ข้อดี ไม่เหHนข้อเสีย

บนฐานคิดเช่นนี้ จึงห้ามมิให้ลูกหลานเลือกคู่ครองตามอำเภอใจ แต่ให้ผู้ใหญ่เป็นคนหาให้

2.การแต่งงานที่เอาความรัก ความพึงพอใจเป็นที่ตั้ง และเห็นว่า การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคน ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว

รักแล้วฝ่าฟัน ร่วมสร้างฝันไปด้วยกัน

ความรักห้ามไม่ได้ รักแล้วต้องแต่งงาน เพราะความรักกับการแต่งงานเป็นเรื่องเดียวกัน

จากนั้นรักแล้วต้องซื่อสัตย์ ต้องเสียสละ

และเนื่องจากการแต่งงานนี่เกิดจากความรัก จึงรับไม่ได้เรื่องการนอกใจ การมีเมียหลายคน เพราะถือว่าไม่ได้มีใครมาบังคับให้แต่งงาน

ตรงกันข้ามกับการคลุมถุงชน ที่ผู้ชายเมื่อแต่งงานกับเมียที่ผู้ใหญ่จัดหาให้ก็สามารถไปมี “อีตัวเล็กๆ”

หรือมีเมียที่ตัวเองสมัครใจรักใคร่ไว้ข้างกายอีกคนก็ไม่แปลก

ในขบวนการเรียกร้องเอกราชในหลายๆ สังคม กลุ่มคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องการปลดแอกจาก “สังคมเก่า” ได้ผลิต “เรื่องเล่า” ทั้งผ่านงานเขียน วรรณกรรม

ล้วนแต่มีธีมของรักโรแมนติกว่าด้วยความรักของคนหนุ่มสาวที่ถูกพ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่ กีดกัน อันนำมาซึ่งการต่อสู้ ขัดขืนอำนาจของ “คนแก่” เพื่อปลดปล่อยตนเองไปสู่อิสรภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ เสรีภาพที่มีพลังในการปลุกเร้ามากที่สุดคือ อิสระที่รัก

อิสระที่จะแต่งงานกับคนที่เรารักและเลือก โดยไม่มีพ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่คร่ำครึมาเป็นอุปสรรค

(ซึ่งนิยามความรักและการแต่งงานของ ศ. 19 ต้น ศ. 20 นี้มีปัญหาในตัวเอง และไม่เป็นสตรีนิยมอย่างมาก อันอยู่นอกเหนือประเด็นที่เขียนในคอลัมน์นี้)

ดังนั้น อุปมาเรื่อง “ความรัก” กับ “การเมือง” มีความจริงรองรับอยู่ในประเด็นดังต่อไปนี้

– การบังคับให้รัก หรือคลุมถุงชน หมายถึง ระบอบเก่าที่อำนาจอยู่ในมือ “ผู้ใหญ่” ไม่กี่คน มีสิทธิเหนือชีวิตของลูกหลาน สั่งให้ซ้ายต้องซ้าย สั่งให้ขวาต้องขวา สั่งให้แต่งงานต้องแต่ง สั่งให้มีลูกต้องมี พูดง่ายๆ คือ เราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตเรา ผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณกับเราต่างหากที่เป็นเจ้าของชีวิตเรา คอนเซ็ปต์ว่าด้วยชีวิตและครอบครัวแบบนี้ มักเกิดในสังคมที่ยังไม่เป็นสมัยใหม่ ยังไม่มีสำนึกเรื่องประชาธิปไตย

– แนวคิดว่าปัจเจกชนย่อมมีชีวิตและเป็นเจ้าของชีวิตของเขาเอง รักเอง เลือกเอง และนี่คือการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การปลดแอกตนเองจากพวกคนแก่ที่ไม่ยอมวางมือจากอำนาจ สร้างสังคมสมัยใหม่ของคนหนุ่มคนสาว เฉลิมฉลองสิทธิเบื้องต้นที่ยืนยันว่าเราคือเจ้าของชีวิตของเรา นั่นคือ การมีเสรีภาพที่จะรักและแต่งงานกับคนที่เรารัก แต่งงานเพราะรัก ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ หรือแต่งเป็นหน้าที่ หรือแต่งเพราะความเหมาะสม ผลประโยชน์ หรือแต่งเพราะเชื่อว่าผู้ใหญ่เลือกย่อมรู้ดีกว่าเรา และนี่คือฐานของการนำสังคมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่และประชาธิปไตยที่เชื่อในเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะ “เลือก” อย่างน้อยที่สุดคือเลือกคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของเรา

ดังนั้น การที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจเหนือชีวิต ร่างกายของตน สามารถแต่งงานกับคนที่เราเลือกเอง จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง มีอำนาจในการปกครองเอง มีอำนาจบริหารจัดการประเทศชาติบ้านเมืองของตนเอง เช่นเดียวกับที่เรามีอำนาจในการบริหารจัดการครอบครัวของเราเองโดยไม่ต้องมี “ผู้ใหญ่” มาบงการ

ประชาธิปไตยกับรักโรแมนติก จึงกลายเป็นอุปมาอุปไมยของกันและกันไปโดยปริยาย ในแง่ของอำนาจอธิปไตยที่ปัจเจกบุคคลจะมีเหนือตนเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐสมัยใหม่ไม่ได้มีแค่แนวคิดประชาธิปไตย แต่ยังมีรัฐสมัยใหม่ที่ยังไม่ยอมให้อำนาจเป็นของประชาชน จึงพยายามจะสร้างอุปมาอุปไมยอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวพันกับบ้าน, ความรัก และครอบครัว โดยบอกกับประชาชนว่าพวกเขาคือ “ลูก” ประเทศคือบ้าน

โดยที่ผู้ปกครองคือภาพตัวแทนของ “พ่อและแม่” ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Patriotism

อันคำว่า Patriot นั้นรากศัพท์ของมันมาจากคำว่า Fatherland ต่อมาถูกเรียกว่าเป็น Homeland – ในที่นี้เราจึงเห็นทั้งคำว่า Home คำว่า Father ที่ชัดเจนว่าอุปมาอุปไมยนี้มีฐานของความเข้าใจโดยสมมุติให้ประเทศชาติเป็นเหมือนบ้าน, ประชาชนในชาติคือคนในครอบครัวเดียวกัน คุณธรรมหลักๆ ที่แนวคิดนี้ต้องการคือความสามัคคี

ถ้าใครแก่พอจะจำได้ว่ามีแบบเรียนที่สอนเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการให้เด็กลองหักไม้ไผ่ 1 อัน จะพบว่าหักได้โดยง่าย แต่ถ้าเอาไม้ไผ่หลายๆ อันมามัดรวมกัน จะหักไม่ได้เลย

นำไปสู่การสรุปบทเรียนว่า ถ้าคนในชาติ (ครอบครัว) สามัคคี ไม่แตกแยก ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา ก็จะทำให้ศัตรูภายนอกไม่สามารถมาทำร้ายเราได้ ดังนั้น คนชาติเดียวกันต้องรู้รักสามัคคี

โดยอุปมานี้ จึงง่ายมากที่หากมีคนคิดต่างจากคำสอนกระแสหลักในสังคม ก็จะมีชุดคำอธิบายที่น่าเชื่อถือว่า คนที่คิดต่าง คิดไม่เหมือนคนอื่น น่าจะโดนล้างสมองจาก “ต่างชาติ” ถูกส่งมาเพื่อบ่อนทำลายความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ

ทีนี้พอเราแตกสามัคคี ต่างชาติก็จะสบโอกาสมาทำลายประเทศของเราได้พอดี

ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลงกล!

ในบ้านเมืองที่อยู่กันด้วยอุดมการณ์ Patriotism จึงไม่ต้องการความคิดเชิงวิพากษ์ เห็นต่าง แต่ต้องการให้คนเชื่อฟัง และเคารพในตัว “ผู้นำ” อย่างไม่มีเงื่อนไข

เหมือนที่เราต้องเชื่อฟังพ่อและแม่ ในวงเล็บว่า เป็นพ่อและแม่ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การเถียง การคิดต่าง การออกนอกลู่นอกทางจากที่พ่อและแม่ขีดเส้นไว้ให้คือการถ่วงความเจริญ ทำให้พ่อและแม่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง เพราะมีตัวป่วนคอยฉุดรั้ง คอยถาม คอยทักว่า คอยตรวจสอบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ในวิธีของ Patriotism ผู้นำต้องเป็นพ่อและแม่ที่ต้องดุสักหน่อย ดุไม่พอ ต้องมีวิธีลงโทษคนในบ้านให้เด็ดขาด ใช้อำนาจเต็ม ควบคู่ไปกับการใช้ soft power กล่อมว่า ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะรัก เพราะหวังดี เพราะเรามีศัตรูที่คอยบ่อนทำลายเราอยู่ข้างนอก ดังนั้น สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ อย่าเพิ่งถามว่า “ผู้นำ” เราผิดหรือถูก แต่เราต้องเชื่อฟัง ทำตาม และไม่แตกแถว ต้องจับมือกันไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นช่องโหว่ให้ศัตรูฉวยโอกาสกลับเข้ามาได้

เราอาจจะอดอยาก เศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องทน ดีกว่าให้ศัตรูฉวยโอกาสเข้ามาทำร้ายเรา

เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วการอ่านจดหมายรักจากนักการเมืองถึงประชาชนอย่างเราๆ ในช่วงนี้จึงสนุกมาก

เพราะในการเปลี่ยนผ่านจากรัฐโบราณมาสู่รัฐสมัยใหม่ของไทยนั้น ในเรื่องอุดมการณ์ความรักและการมีครอบครัว เราได้สมาทานอุดมการณ์ความรักและครอบครัวแบบ “เสรีนิยม” ไปอย่างหมดจด

คือ เชื่อในรักโรแมนติก และการแต่งงานที่ไม่มีพ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่มาบงการ

เชื่อในระบบผัวเดียวเมียเดียว เอะอะอ้างรักแท้แบบนกเงือก เชื่อเรื่องครอบครัวอบอุ่น บางครอบครัวล้ำไปถึงการเป็นประชาธิปไตยในครอบครัว พ่อ-แม่ต้องเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ไม่ใช้อำนาจกดทับ ข่มขู่ ให้เสรีภาพแก่ลูกในการพูดคุย ถกเถียงแลกเปลี่ยน

แต่ในขณะที่รักโรแมนติก รักเลือกได้ เป็นอุดมการณ์หลักที่คนไทยยึดมั่นถือมั่นอยู่ ในเชิงการเมืองเรากลับมีอุดมการณ์ patriotism เป็นวาทกรรมหลักมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่เรื่องความรัก สามัคคี นี่เป็นคาถาที่สำคัญที่สุด พูดอีกก็ถูกอีก มีสถานะเป็นสัจธรรม

สิ่งที่คนไทยกลัวที่สุดคือ “ความขัดแย้ง” และเรามองว่า ความคิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถาม คือชนวนของความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อุดมการณ์ patriotism เริ่มถูกท้าทาย คนรุ่นใหม่มีโลกที่กว้างขึ้น การล้างสมองด้วยเครื่องมือเชยๆ อย่างแบบเรียน ประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพลงปลุกใจในยุคสงครามเย็น วิทยุ โทรทัศน์ พากันเสื่อมอิทธิฤทธิ์โดยทั่วถึงกัน

มาถึงวันนี้คนไทยไม่ได้ศรัทธาผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์ที่เข้มแข็งเด็ดขาด

ไม่เชื่อเรื่อง เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย แต่เขาอยากได้ผู้นำที่เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ เป็นตัวแทนของเขา ให้เกียรติเขา ไม่กดข่มเขาให้ดูเล็กกระจ้อยร่อย

ผู้นำแบบที่คิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องข่มขู่คนในบ้านด้วยการตะคอก ด่าทอ สลับกับปล่อยมุขขำขัน ตบหัว ลูบหลัง สลับกันไปมา เพราะนึกว่าประชาชนเป็นลูกที่ต้องกำราบไว้ไม่ให้เหลิง

พอลูกจะกลัว จะเกลียด ก็ทำเป็นยักคิ้ว เล่นตลกกับมันสักหน่อย สักพักก็ต้องกลับมาตะคอกมันใหม่ เดี๋ยวมันได้ใจ

อย่าว่าแต่ผู้นำ แม้แต่ในครอบครัว คงไม่มีใครรับได้ถ้าพ่อ-แม่จะเป็นแบบนี้ เสียแต่ว่า เราเลือกพ่อเลือกแม่ เลือกเกิดไม่ได้ แต่ถ้าเราเจอ “ผู้นำ” ที่ทำกับเราแบบนี้ เราคงไม่อาจจะรับได้ เว้นแต่เราไม่ได้เลือก และเราถูกทำให้จำนนต่อการมีอยู่ของผู้นำแบบนั้น

แต่เมื่อมีโอกาสจากการเลือกตั้งแม้เพียงเล็กน้อย “ผู้นำ” ที่เคยทำตัวเป็นพ่อ-แม่ไบโพลาร์ ก็ต้องรีบปรับบทบาท และคราวนี้ปรับหนักมาก จากพ่อแม่ที่ด่าๆๆ ทวงบุญคุณ คราวนี้มามาดใหม่ มาแบบ “จีบ”

คิดถึง, อยากมาหาแต่มาไม่ได้, รักผมไหม, เชื่อผมไหม, ไว้ใจให้ผมนำทางชีวิตไหม?

บ้างก็มาบอกว่า แม้ผมจะน่าเบื่อ แต่ผมยังมั่นคงเหมือนเดิม ผมไม่มีวันทำร้ายคุณ ไม่ควบคุมคุณ ไม่มีวันหนีไปไหน ผมชอบฟังคุณเถียง ชอบเห็นคุณยิ้ม และชอบอยู่ข้างๆ คุณตลอดเวลา กาลเวลาทำให้ผมแกร่งขึ้น วันนี้ผมพร้อมดูแลคุณ วางแผนชีวิตให้เราและลูกๆ ของเราต่อไป ให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง ซื่อตรงต่อกันตลอดไป คุณเลือกได้เสมอ เลือกผมเถอะครับ

ผมรักคุณ

โอ้โห…อ่านแล้ว ฉันได้แต่คิดว่า นี่เขาเห็นเราเป็นสาวเครือฟ้า ไร้เดียงสา หลงคารมผู้ชายง่ายดาย พร้อมจะถูกหลอกครั้งแล้วครั้งเล่าหรืออย่างไร

ก็คงต้องบอกว่า หมดยุคสาวเครือฟ้าแล้ว ผู้หญิงสมัยนี้ไม่ต้องการแต่งงาน ไม่จำเป็นต้องมีผัว สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกเรื่อง

ดังนั้น จึงไม่มีทางที่ หลงคารมลมปากใคร เพียงเพราะอยากแต่งงานมีผัวจนตัวสั่น ไม่แยแสกับ commitment ไม่จำเป็นว่าเสียตัวให้ใครแล้วต้องแต่งงานกับคนนั้น หรือถ้าเคยแต่งงานแล้วเจอผัวตบ ผัวซ้อม หลอกลวง ต่อให้ซมซานกลับมากราบเท้าขอคืนดี ก็ไม่ให้อภัย

ที่ตลกที่สุด จดหมายรักบางฉบับพยายามมาสอนเราว่า เลือกผัวผิด คิดจนวันตาย ดังนั้น เลือกให้ดีๆ

เราก็คงต้องบอกว่า เราไม่ต้องการมีผัวคนเดียวไปจนตาย

สำคัญที่สุด ผัวไม่ใช่แกนกลางของชีวิต แต่แกนกลางของชีวิตคืออำนาจในการเลือก และสิทธิเหนือชีวิตและร่างกายของเราอันจะไม่ถูกละเมิดด้วยอำนาจเถื่อน

นี่ต่างหากที่เราไม่พึงสูญเสีย

ดังนั้น ไม่ต้องโน้มน้าวเราด้วยจดหมายรักที่อ่านแล้วขนลุกไปหมดเพราะเลี่ยนและล้าสมัยอย่างไม่เคยพบไม่เคยเห็น เพราะเราไม่ได้แคร์การมีผัว

แต่เราแคร์ที่เราจะมีสิทธิได้เปลี่ยนผัวเสมอ

เมื่อผัวคนเดิมไม่ถูกใจเรา