ไทยร่วมอาเซียนถก 5 ยักษ์การค้าโลก ลุ้นปลดล็อก 13 ประเด็นเพิ่มการค้าโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 4-7 เมษายนนี้ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเสาเศรษฐกิจ ที่ประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ใช่ประธาน จะรับจัดการประชุม SEOM ครั้งที่ 2 ของทุกปี โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนจะพบกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ และแคนาดา อีกด้วย

นางอรมนกล่าวว่า โดยจะหารือประเด็นสำคัญ อาทิ 1.การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานสาขาต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ SEOM เช่น การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อรับสิทธิทางภาษีได้โดยไม่ต้องเสียเวลาติดต่อภาครัฐ เรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ที่จะผลักดันให้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เชื่อมโยงระบบเพื่อแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ภายในปีนี้

2.การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขายานยนต์ของอาเซียน เพื่อยอมรับระบบการตรวจสอบระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้ายานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน 3.การส่งเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจไปประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ที่ปัจจุบันมีเพียงเจ้าหน้าที่เสาการเมืองและความมั่นคง เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ครบทั้งสามเสา 4.เตรียมความพร้อมการลงนามความตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าบริการของอาเซียน และพิธีสารแก้ไขความตกลงการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ปลายเดือนเมษายนนี้ ที่ภูเก็ต (5) การปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO Reform) ที่เป็นผลจากการสัมมนาที่ไทยจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และ (6) ความคืบหน้าการขับเคลื่อน 13 ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562

นางอรมนกล่าวว่า นอกจากนี้ อาเซียนจะร่วมประชุมกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ 5 ประเทศ  ได้แก่ 1.จีน หารือเรื่องการรับรองกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและทบทวนกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) เพื่อให้กฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้วัตถุดิบจากนอกภูมิภาค และการเพิ่มจำนวนกฎเฉพาะรายสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตไทย

2.เกาหลี ติดตามความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) ซึ่งรายการสินค้าสำคัญที่ไทยต้องการให้เกาหลีเปิดตลาดเพิ่มเติม อาทิ สินค้าประมง (กุ้ง/ปลาหมึกแช่แข็ง) มันสำปะหลังอัดเม็ด มะม่วง ข้าวกล้อง อาหารแปรรูป พลาสติกและเคมีภัณฑ์ แผ่นไม้อัด สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย กระเบื้องเซรามิก เป็นต้น 3.ญี่ปุ่น หารือความพร้อมการลงนามพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้รวมเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เพิ่มในความตกลง AJCEP เดิมที่ครอบคลุมเฉพาะด้านการค้าสินค้า โดยขณะนี้เหลือเพียงเวียดนามที่ยังไม่ลงนามความตกลงฯ

4.สหรัฐ หารือเรื่องความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ที่สหรัฐเสนอ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกฎระเบียบต่างๆ ด้านมาตรฐานยานยนต์ และด้านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.แคนาดา หารือความเป็นไปได้เรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หลักการ รูปแบบ และระดับความคาดหวังของแต่ละฝ่าย

นางอรมนกล่าวว่า การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

มติชนออนไลน์