กลับไป จากมา : การสดุดีแด่ฮีโร่ในดวงใจ ของศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ Revisited < >Departed กลับไปจากมา

หญิงชราที่ปรากฏในวิดีโอในห้องแสดงเล็กของนิทรรศการ “Revisited < >Departed กลับไป จากมา” ของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่นั้น แท้จริงแล้วคือแม่ยายของมณเฑียร บุญมา ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของไทยผู้ล่วงลับ ผู้เป็นอาจารย์ของนาวินนั่นเอง

ผลงานวิดีโอชิ้นนี้มีที่มาจากการที่นาวินกลับไปเยี่ยมบ้านที่มณเฑียรเคยอาศัยและทำงานอยู่ตอนยังมีชีวิต และถือโอกาสไปเยี่ยม “คุณยาย” ซึ่งเป็นแม่ภรรยาของมณเฑียร ในครั้งนั้นเขาได้พบเปียโนเก่าที่ภรรยาของมณเฑียรเคยเล่นเพลงให้มณเฑียรฟัง

เขาจึงตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เปียโนตัวนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จึงจัดแจงหาเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาเล่นเปียโนเก่าตัวที่ว่า ในเพลง Funeral March ของโชแปง ซึ่งเป็นเพลงที่มณเฑียรชอบฟัง โดยให้คุณยายมานั่งฟังแล้วบันทึกภาพและเสียงเอาไว้ พอเล่นเสร็จเขาก็ขอให้คุณยายมานั่งอยู่หน้าเปียโนตัวนี้เพื่อขอสัมภาษณ์ แล้วบันทึกภาพเอาไว้เช่นเดียวกัน

ซึ่งภาพของหญิงชราที่นั่งอยู่ในภวังค์แห่งความหวนคำนึง คลอเคียงด้วยเสียงเปียโนหวานเศร้าของเพลง Funeral March ในผลงานชิ้นนี้ขับเน้นให้เราจินตนาการถึงความทรงจำของอดีตที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาที่เธอกำลังระลึกถึงอยู่ก็เป็นได้

ส่วนภาพวาดของหญิงชรานั่งหน้าเปียโนตัวเดียวกันที่ฝังอยู่บนผนังนั้นมีที่มาจากการไปเยี่ยมครั้งนั้น ที่นาวินบังเอิญพบว่าบนผนังด้านหลังเหนือเปียโนตัวนี้ มีเฟรมผ้าใบเปล่าๆ ฝังอยู่

ซึ่งนาวินคาดเดาเอาว่ามณเฑียรคงกำลังตระเตรียมจะทำอะไรสักอย่างกับภาพนี้

แต่ยังไม่ทันได้ทำก็จากไปเสียก่อน

เขาจึงขออนุญาตครอบครัวและทายาทเพียงคนเดียวของมณเฑียรอย่างจุมพล บุญมา ทำการสานต่อผลงานชิ้นนี้

ด้วยการจำลองภาพนี้ขึ้นมาอีกครั้งบนเฟรมผ้าใบชนิดเดียวกันและขนาดเท่ากัน โดยวาดออกมาเป็นภาพในจินตนาการของศิลปิน ที่เป็นคุณยายแวดล้อมด้วยบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งมณเฑียรและภรรยาผู้ล่วงลับ กับจุมพลหลานชายในสองช่วงเวลาทั้งในวัยเด็กและวัยโตอยู่ในภาพเดียวกัน

รวมทั้งสมาชิกครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา และเหล่าบรรดาสัตว์เลี้ยงต่างๆ

เขาทำผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นสองภาพ โดยภาพหนึ่งเขามอบให้กับจุมพลไปติดตั้งไว้ใน Montien Atelier

ส่วนอีกภาพเขาเก็บเอาไว้เอง ซึ่งก็คือชิ้นที่ถูกนำมาแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้นั่นเอง

ในห้องแสดงงานนี้ยังมีโปสการ์ดรูปการ์ตูนถ่ายทอดความทรงจำอันน่าประทับใจในวันที่มาเล่นเปียโนจากสาวน้อยนักเล่นเปียโนส่งมาให้นาวิน นำมาใส่กรอบแสดงอยู่ด้วย

เมื่อเข้าไปในห้องนิทรรศการหลัก สิ่งแรกที่เห็นเด่นชัดถนัดตาคือตู้ขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากลังไม้บรรจุสินค้า

เมื่อเดินอ้อมไปจะเห็นป้ายร้านห้อยอยู่และมีประตูเข้าไปข้างใน ภายในถูกจัดวางเหมือนกับร้านขายผ้าเก่าแก่โบราณ ด้านในของร้านมีจอโทรทัศน์ที่ฉายและคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของร้านและเรื่องราวส่วนตัวของพ่อของศิลปินผู้เป็นเจ้าของร้านแห่งนี้

กลางร้านมีภาพวาดขนาดใหญ่ ยาวเกือบห้าเมตรแสดงอยู่ ในภาพมีพ่อของนาวินเป็นศูนย์กลาง ห้อมล้อมด้วยเหล่าบรรดาสมาชิกครอบครัว ตั้งแต่บรรพบุรุษที่เดินทางมาจากอินเดีย ไปจนถึงรุ่นลูกหลานเหลน (รวมถึงตัวศิลปินเอง) และญาติสนิทมิตรสหายต่างเพศต่างวัยต่างอาชีพมากหน้าหลายตา

ดูคล้ายกับภาพถ่ายมุมกว้างของครอบครัวขนาดใหญ่อันอบอุ่น ที่บอกเล่าเรื่องราวระหว่างสมาชิกในบ้านกับชุมชนที่พวกเขาคุ้นเคยกันมาเนิ่นนาน

อันที่จริงผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้มีชื่อว่า A Tales of Two Homes (O.K. Store) (2015) เป็นผลงานชิ้นหนึ่งของนิทรรศการ เรื่องเล่าบ้านบ้าน เรื่องราวนาวิน ที่จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 20 ปี นาวินโปรดักชั่น บริษัทผลิตงานศิลปะของนาวินที่เชียงใหม่ในปี 2015

A Tales of Two Homes (O.K. Store) (2015)

ซึ่งนาวินนำข้าวของต่างๆ ที่ถูกเก็บรวบรวมมาจากร้านโอเค ร้านขายผ้าตึกแถวของครอบครัวที่เคยเป็นบ้านที่เขาเคยอาศัยอยู่สมัยเป็นเด็ก ก่อนที่จะถูกปิดตัวลงเพราะพ่อของเขาผู้เป็นเจ้าของร้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ทำกิจการต่อไป

นาวินจึงนำข้าวของที่รวบรวมมาได้ ประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของงานศิลปะจัดวางที่จำลองภาพจากความทรงจำในวัยเยาว์เมื่อครั้งที่เขาเคยอาศัยอยู่ในร้านแห่งนี้กับพ่อของเขาขึ้นมาใหม่ในพื้นที่แห่งนี้

ส่วนภาพวาดขนาดใหญ่ในร้านมีชื่อว่า OK Family (2015) นั่นเอง

OK Family (2015)

ด้านข้างของตู้ไม้เป็นผลงานภาพวาด “ถุงร้านโอเค” O.K. Store”s paper Bags (1971-2015) ถุงกระดาษสีน้ำตาลหลากรุ่นหลายแบบ ที่เคยใส่ผ้าให้กับลูกค้า และใช้เก็บข้าวของภายในร้านมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ที่นาวินและทีมงานเก็บรวบรวมมาจากร้านได้กว่า 30 ชิ้น ถูกจำลองออกมาเป็นภาพวาดเหมือนจริง

O.K. Store’s paper Bags (1971 – 2015)

จนดูเหมือนถุงร้านโอเคของจริงที่จัดแสดงอยู่เคียงข้างแทบไม่ผิดเพี้ยน

ถัดไปมีจักรเย็บผ้ารุ่นเก่าตัวหนึ่งวางอยู่ เหนือขึ้นไปบนผนังมีภาพวาดแขวนอยู่ ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า A Tales of Two Sisters (2011) เป็นภาพของผู้หญิงสองคนสองรุ่น ผู้หญิงคนหนึ่งในภาพ คือแม่ของนาวิน ผู้ล่วงลับไปแล้ว กำลังนั่งเย็บผ้าอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส

A Tales of Two Sisters (2011) ถ่ายภาพโดยจิราภรณ์อินทมาศ

เด็กหญิงอีกคนในภาพคือลูกสาวของนาวิน กำลังยิ้มแย้มพลางยื่นดอกมะลิให้ผู้หญิงสูงวัยกว่า (“มะลิ” เป็นชื่อของเด็กหญิง)

ด้วยผลงานชิ้นนี้ ผู้หญิงสองคนสองรุ่นที่ไม่มีทางมาพบเจอกันได้ในความเป็นจริง ก็ได้มาพานพบกัน เหมือนเป็นสองศรีพี่น้อง ในภาพวาดอันมีที่มาจากจินตนาการและความทรงจำของศิลปินนั่นเอง

“พอทำงานมาถึงจุดนึง วัยเราเปลี่ยน แทนที่เราจะเดินทางไปทำงานและแสดงงานในต่างประเทศ เราก็กลับมาดูสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา เรากลับไปที่ร้านของพ่อ เราเห็นพ่อเริ่มแก่แล้ว แต่เขาก็ยังไปทำงานอยู่ หลายคนก็บอกว่าทำไมยังให้เขาไปทำงาน ทำไมไม่ให้อยู่บ้าน แต่เรามองว่าเขารักอาชีพของเขา เขาอยู่ร้านแล้วมีความสุข ทั้งๆ ที่เขาก็แทบจะไม่ได้ขายผ้าแล้ว แต่ก็ได้ไปเจอคน แต่หลังๆ พอเขาอายุมากขึ้น แล้วก็ป่วยจนไปเปิดร้านไม่ไหว ทางพี่น้องก็เลยตัดสินใจปิดร้าน และแบ่งพื้นที่ให้เช่า ประจวบกับจังหวะที่กำลังจะทำ 20 ปี นาวินโปรดักชั่น แล้วพ่อก็อายุ 80 ปี เราก็คิดว่าแทนที่จะฉลองธรรมดา เราอยากเอางานศิลปะเข้าไปรวมอยู่ด้วย ก็เลยทำขึ้นมาเป็นนิทรรศการที่เป็นความสัมพันธ์เรื่องตลาด เรื่องชุมชน กับความเป็นครอบครัวที่เราเคยเกิดและเติบโตในร้านนี้ เราก็เลยทำออกมาเป็นภาพวาดของคนที่ยังอยู่ กับคนที่จากไปแล้ว ทำให้คนที่ไม่เคยเจอกัน ได้มาเจอกันในภาพวาด”

(ยังมีต่อสัปดาห์หน้า)

นิทรรศการแสดงเดี่ยว “กลับไป จากมา” โดยนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง)

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562

แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +668-3087-2725

เอื้อเฟื้อภาพโดย ศิลปิน, นาวินโปรดักชั่น – สตูดิโอเค และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่