วิเคราะห์ | “ทษช.” ลุ้นชะตากรรมยุบพรรค 7 มี.ค.ชี้ขาด เกมแตกแบงก์พันป่วน

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ทันที

เมื่อ 7 เสือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หลังจากที่ประชุม กกต.มอบหมายให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น

วันถัดมาองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวทันที

และมีมติเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(13) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92

พร้อมกันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้พรรคไทยรักษาชาติ ในฐานะผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพรรคไทยรักษาชาติที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีด้วยกัน 20 หน้า

โดยประเด็นหลักๆ ที่ยื่นแก้ข้อกล่าวหานั้น เป็นการยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ และไม่มีเจตนาพิเศษใดๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นอย่างอื่น

โดยการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคไทยรักษาชาตินั้น ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

พร้อมทั้งเป็นไปตามความประสงค์และความยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ

ส่วนข้อกล่าวหาการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคไทยรักษาชาติได้แก้ข้อกล่าวหาว่า ความหมายของคำว่าปฏิปักษ์ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า เป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม น่าจะหมายถึงการนำระบอบคอมมิวนิสต์ มาใช้ปกครองในประเทศไทย หรือการเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

คำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ยังขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรค ถือว่าคำร้องยุบพรรคเป็นคำร้องประเภทเดียวกับคดีอาญาการเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีวิตไม่ต่างจากการประหารชีวิตในทางการเมือง

สำหรับประเด็นที่ กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ พรรคมองว่าไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต

นอกจากเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พรรคไทยรักษาชาติยังได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คน และพยานคนกลางซึ่งเป็นบุคคลภายนอก 5 ปากด้วย

รวมทั้งยังมีการยื่นพยานเอกสารเพิ่มเติมอีก 9 รายการ

ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาหลายฉบับ

รวมถึงเอกสารการแปรญัตติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลาออกจากฐานันดรของพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบพิจารณาสำนวนร่วมกับบัญชีพยานก่อนหน้านี้ด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นคำชี้แจง ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดส่งคำชี้แจงของพรรคไทยรักษาชาติมาให้ กกต.ดำเนินการพิจารณาแก้ข้อกล่าวหา ซึ่ง กกต.ได้จัดทำคำคัดค้าน

โดยคำชี้แจงนั้นเป็นการยืนยันว่าการมีมติของ กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำเข้าความผิดตามที่มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด กกต.จึงไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน

โดยการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการเรียกพยานเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

เป็นการพิจารณาในรายละเอียดของคำร้อง คำชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆ ที่พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นคำคัดค้านแก้ข้อกล่าวหา

หลังจากที่ศาลใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมงเศษ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุม โดยระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายราย ศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาสั่งในวันนัดพิจารณาต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม เวลา 13.30 น. และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น.

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลโดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติ หากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาออกมาสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แน่นอนย่อมกระทบสิทธิการลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ทางพรรคไทยรักษาชาติส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 108 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 175 คน รวมทั้งสิ้น 283 คน

รวมทั้งหากมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถือเป็นพรรคน้องของพรรคเพื่อไทย (พท.) ตามยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย เพื่อหวังแก้เกมบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามที่พรรคการเมืองเข้าใจตรงกันว่าหากพรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส.เขตมากแล้ว จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลง

การแตกพรรคของพรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคไทยรักษาชาติ จึงหวังแก้เกมบัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยตั้งเป้าให้พรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคที่เก็บแต้ม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อนำเสียงมารวมกันภายหลังการเลือกตั้ง

หากเจออุบัติเหตุโดนยุบพรรคจะเท่ากับว่ายุทธศาสตร์แตกแบงก์พันของพรรคเพื่อไทยต้องเจอกับสภาพเกมโอเวอร์ ไม่สามารถนำคะแนนเสียงของพรรคไทยรักษาชาติมาช่วยรวมเป็นเสียง ส.ส.ได้ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยต้องแก้เกมก่อนการเลือกตั้งโดยด่วน เพื่อทวงคืนคะแนนเสียงที่จะไปเสียกับพรรคไทยรักษาชาติ

แต่หากผลออกมาในทางที่ดีแบบ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่ยุบพรรคตามคำร้องที่ กกต.เสนอไปนั้น พรรคไทยรักษาชาติก็สามารถหาเสียงเลือกตั้งต่อไปได้ เพียงแต่พรรคจะไม่มีชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ชะตาของพรรคไทยรักษาชาติ รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส. 283 ชีวิตนั้น จะออกมาในทางใด 7 มีนาคม ได้รู้กัน