เกษียร เตชะพีระ | ตุลาการภิวัตน์กู้โลกร้อน

เกษียร เตชะพีระ

ในสภาพที่ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนนานาประเทศถ่วงช้า ลังเล อิดเอื้อนกระทั่งปัดปฏิเสธที่จะยอมรับ และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนหรือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming or climate change) ที่กำลังคุกคาม สวัสดิภาพและวิถีชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมหนักหน่วงขึ้นตามลำดับ ผ่านปรากฏการณ์อากาศปรวนแปรสุดโต่ง (extreme whether) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอื่นๆ ที่แพร่กระจายและร้ายแรงมากขึ้นนั้น

นับแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมาได้เกิดกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มพลเมืองหลายประเทศทั่วโลก ใช้เครื่องมือ นิติธรรมเท่าที่มีไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับระหว่างประเทศ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเพื่อบังคับให้รัฐบาลและบริษัทเอกชนปกป้องสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่เกี่ยวโยงกับปัญหาโลกร้อนหรือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพิ่มทวี จำนวนมากขึ้นตามลำดับ

มาร์ตา ตอร์-ช้อบ นักนิติศาสตร์หญิงผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิ่งแวดล้อมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นผู้อำนวยการวิจัยแห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (Centre national de la recherche scientifique – CNRS) วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่า :

“ปัญหาภูมิอากาศได้หลุดพ้นจากบรรดากลุ่มผู้ทำงานด้านการเจรจาระหว่างประเทศ กลายมาเป็นภารกิจของพลเมืองทั่วไป และยักย้ายถ่ายโอนมาอยู่เบื้องหน้าศาลยุติธรรมแห่งชาติทั้งหลายแล้ว โดยอิงอาศัยบรรดารัฐธรรมนูญและกฎหมายพื้นฐานต่างๆ ของแต่ละประเทศเพื่อหล่อเลี้ยงการฟ้องร้องดำเนินคดีของมัน”

โดยผ่านการฟ้องร้องคดีแล้วคดีเล่า บัดนี้ภูมิอากาศได้กลายเป็นประเด็นใหม่ทางกฎหมายแล้ว สิ่งที่เหลือให้ต้องทำตอนนี้เพื่อใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์กอบกู้โลกร้อนคือบัญญัติแนวคิด “นิเวศฆาต” (ecocide) ลงในกฎ ระเบียบของศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง

ขอยกตัวอย่างคดีตุลาการภิวัตน์กู้โลกร้อนเด่นๆ ในนานาประเทศบางคดี

ดังนี้ :

1)กรณีปากีสถาน :

ปี ค.ศ.2015 ในปากีสถาน ชาวนาแคว้นปัญจาบชื่อ อัชการ์ เลการี สุดทนที่จะเห็นพืชผลของตนถูกทำลายย่อยยับโดยสภาพภูมิอากาศย่ำแย่อีกต่อไป จึงฟ้องรัฐบาลกลางต่อศาลสูงในกรุงลาฮอร์ในข้อหา

“ละเลย ถ่วงช้า และทอดทิ้งการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังในอันที่จะนำนโยบายต่อต้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงระดับชาติมา ทำให้เกิดผลจริง อันเท่ากับล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเหนือชีวิตและศักดิ์ศรีของพลเมือง”

กระบวนการไต่สวนดำเนินคดีนี้ปลุกทั่วประเทศปากีสถานให้ตื่นตัว ในที่สุดศาลสูงกรุงลาฮอร์ตัดสินคดี เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.2015 ว่า “จะต้องเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองปากีสถาน โดยเฉพาะกลุ่มชนที่ล่อแหลมและอ่อนแอในสังคม ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้”

ศาลสั่งให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดนโยบายรัฐในเรื่อง ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2)กรณีเนเธอร์แลนด์ :

คดีโดดเด่นอีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2015 มูลนิธิเออร์เจนดาของเนเธอร์แลนด์ในนามเจ้าทุกข์ ที่เป็นพลเมือง 886 คนได้ยื่นฟ้องรัฐเนเธอร์แลนด์เรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนลง อย่างน้อย 25% ภายในปี ค.ศ.2020 โดยเปรียบเทียบกับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อปี ค.ศ.1990

ปรากฏว่าศาลชั้นต้นกรุงเฮกตัดสินเข้าข้างฝ่ายโจทก์โดยสวนความคาดหมายของคนทั่วไป ศาลอธิบายเหตุผลไว้ในคำพิพากษาว่ารัฐเนเธอร์แลนด์สามารถ “ทำได้มากกว่านี้เพื่อต่อต้านภยันตรายอันปรากฏชัดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในสภาพที่รัฐมีหน้าที่ดูแลหรือหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง (duty of care) ในการปกป้อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อม” และ “ดำเนินมาตรการระวังป้องกันเพื่อพลเมืองของตน”

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศกก่อน ศาลอุทธรณ์เนเธอร์แลนด์ก็ตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่ารัฐเนเธอร์แลนด์กระทำการ “ผิดกฎหมายและละเมิดหน้าที่ดูแล/หน้าที่ใช้ความระมัดระวังของตน”

มาร์ตา ตอร์-ช้อบ ให้ความเห็นว่า การอ้างอิงถึง “หน้าที่ดูแล” หรือ “หน้าที่ใช้ความระมัดระวัง” (duty of care) ในคำพิพากษานี้สำคัญยิ่ง เพราะมันเป็น “หลักการกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐ สถาบันและบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องมีหน้าที่ระมัดระวังไม่ให้ก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น” อันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับอนาคตของความยุติธรรมทางภูมิอากาศ (climate justice) เพราะ “มันเชื่อมโยงการปกป้องชีวิต ที่พำนักอาศัยและชีวิต ครอบครัวของพลเมือง และฉะนั้นจึงรวมไปถึงสิทธิมนุษยชนด้วย เข้ากับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อน”

ในคำพิพากษานั้น เอาเข้าจริงศาลเฮกได้อ้างอิงถึงมาตรา 2 และ 8 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมอบหมายให้รัฐบาล “มีพันธกรณีที่พึงต้องปฏิบัติกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการละเมิด ผลประโยชน์ของพลเมืองในอนาคต”

มาร์ตา ตอร์-ช้อบ อธิบายไขความให้แม่นยำชัดเจนขึ้นว่า พูดอีกอย่างก็คือ “หน้าที่ดูแลหรือหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง (duty of care) เมื่อเผชิญกับภาวะภูมิอากาศซึ่งได้รับความกระทบกระเทือน ได้ถูกเชื่อมโยงในทางนิติศาสตร์เข้ากับสิทธิมนุษยชนแล้ว”

อันนับเป็นกรณีตัวอย่างบรรทัดฐานในทางประวัติศาสตร์

3)กรณีสหรัฐอเมริกา :

ในสหรัฐ ปฏิบัติการผ่านกระบวนการยุติธรรมอีกกรณีหนึ่งได้ส่งผลผลักดันขับเคลื่อนมติมหาชน กล่าวคือ เด็กและผู้ใหญ่ 21 คนด้วยการสนับสนุนขององค์การ Our Children”s Trust ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกลางสหรัฐต่อศาลมลรัฐออริกอนในคดีที่เรียกว่า “จูเลียนา” (ชื่อเด็กโตที่สุดในหมู่โจทก์) กล่าวหารัฐบาลว่าไม่รุกเข้าแก้ไขปัญหาโลกร้อน อันส่งผลให้เป็นการละเมิดหลักการทรัสต์สาธารณกุศล (public trust) ของสหรัฐเองซึ่งกำหนดให้ต้องเคารพและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติส่วนกลาง

ฝ่ายโจทก์จึงเห็นว่าด้วยการกระทำดังกล่าว รัฐบาลกลางสหรัฐได้ท้าทาย “สิทธิตามรัฐธรรมนูญของชนรุ่นเยาว์เหนือชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของตน”

ปรากฏว่าศาลยุติธรรมอเมริกันได้ปัดปฏิเสธคำร้องขอของรัฐบาลทรัมป์หลายต่อหลายครั้งที่ให้ระงับการดำเนินคดีนี้เสีย ซึ่งอาจไปลงเอยตัดสินกันขั้นสุดท้ายที่ศาลสูงสุดของสหรัฐ

มาร์ตา ตอร์-ช้อบ เตือนให้ระลึกว่าข้อตกลงกรุงปารีสในการประชุมนานาชาติเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 (ที่เรียกว่า COP21) เพื่อจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งมีผลเชิงปฏิบัติในเดือนธันวาคม ศกก่อนโดยอาศัยคู่มือการประยุกต์ของการประชุม COP24 นั้นมีสถานะทางกฎหมายอยู่กึ่งกลางระหว่างกฎหมายอย่างอ่อน (soft law ที่ไม่มีสภาพบังคับ) กับกฎหมายตามที่เป็น (hard law ที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์และมีสภาพบังคับ)

ในความหมายนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับให้บรรดารัฐภาคีสัญญาต้องมีโครงการปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องปรับแก้โครงการปฏิบัติการนี้ให้ลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทุกๆ ห้าปีอย่างโปร่งใส ฉะนั้น จึงอาจหยิบยกข้อตกลงกรุงปารีสไปใช้อ้างอิงเพื่อฟ้องร้องในศาลยุติธรรมได้เช่นกัน

4)กรณีฝรั่งเศส :

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม ศกก่อน องค์กรเอกชนกรีนพีซ ออกซ์แฟม มูลนิธิเพื่อธรรมชาติกับมนุษย์ และสมาคมกิจการของเรา ได้ร่วมกันออคำเรียกร้องออนไลน์ (เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ https://laffairedusiecle.net/ ซึ่งแปลว่า “กิจการแห่งศตวรรษ”) เพื่อขอให้สาธารณชนลงชื่อสนับสนุนการฟ้องร้องรัฐฝรั่งเศสต่อศาลยุติธรรม ในข้อหา “ผิดฐานบกพร่องต่อหน้าที่” (carence fautive) ในการปฏิบัติงานเพื่อจำกัดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จนถึงต้นเดือนมกราคมศกนี้ ได้มีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 2 ล้านคนแล้ว อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

คำถามก็คือ ประชาสังคมกับบรรดาองค์กรเอกชนจะประสบความสำเร็จโดยผ่านกระบวนการสื่อสารต่างๆ ในอันที่จะบังคับให้รัฐบาลและวิสาหกิจเอกชนทั้งหลายรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนหรือไม่?