คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง : ความเท่าเทียมทางเพศ และปรากฏการณ์ห้ามผู้หญิง เข้า “สพรีมาลา” ในอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในอินเดียตอนนี้ไม่มีกรณีความขัดแย้งทางศาสนาไหนจะร้อนแรงและโด่งดังไปกว่ากรณีคำตัดสินของศาลสูงอินเดียให้ผู้หญิงสามารถเข้าในเทวสถาน “สพรีมาลา” (Sabarimala) ในรัฐเกลาระได้

เรื่องของเรื่องคือ มีกลุ่มสตรีไปฟ้องต่อศาลสูงอินเดียในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา (2561) ว่าขอให้พิจารณาการที่เทวสถานสพรีมาลาห้ามผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คืออายุในช่วง 10-50 ปี เข้าในเทวสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย

ปรากฏว่าศาลสูงของอินเดียพิจารณาว่าการห้ามผู้หญิงเข้าเทวสถานนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญของอินเดีย จึงอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าในเทวสถานได้

ภายหลังได้มีผู้หญิงหลายคนเข้าไปในเทวสถานนั้น

ล่าสุดในเดือนต้นมกราคมปีนี้มีสตรีสองคนเข้าไปถึงตัวองค์เทวสถาน จนเกิดมีการประท้วงทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน โดยฝ่ายที่ต่อต้านอ้างว่าคำตัดสินดังกล่าวทำลายประเพณีที่เชื่อถือกันมายาวนานนับพันปี

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัฐเกราละตอนนี้มีผู้ถูกจับกุมแล้วนับพันคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบง่ายๆ

ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรหลายอย่าง และตัวสพรีมาลาเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จึงอยากจะชวนท่านผู้อ่านคุยกันครับ

 

“สพรีมาลา (Sabarlimala)” แปลว่า ภูเขา (มาลา-ในภาษาทมิฬ) ของนางสพรีหรือศพรี ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งในมหากาพย์รามายณะ ผู้เป็นสตรีชราบ้านป่ารอคอยการมาของพระรามและเลี้ยงดูพระรามด้วยความซื่อง่ายๆ จริงใจ

เป็นปกติที่อินเดียจะเอาสถานที่ตามที่ปรากฏในวรรณคดีทางศาสนามาใช้เรียกภูมิสถานต่างๆ เช่นเดียวกับไทยเราครับ

เทพเจ้าในเทวสถานสพรีมาลาคือ “สวามีอัยยัปปา” (Swami Ayyappa) หรืออัยยัน (Ayyan) เทพเจ้าองค์นี้เองก็มีความซับซ้อนของความเป็นมาและความเชื่อ ซึ่งถูกเชื่อมโยงการนำมาเกี่ยวข้องกับการห้ามผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าเทวสถานนั่นเอง

สวามีอัยยัปปามีความเป็นมาหลายแบบ อย่างแรกคือเป็นเทพท้องถิ่นซึ่งปรากฏเฉพาะในอินเดียใต้ สวามีอัยยัปปา หรืออัยยัน (Ayyan) อาจมีที่มาเดียวกันกับเทพท้องถิ่นที่ชื่ออัยยันนา (Aiyyanna) ซึ่งเป็นครามเทวดาหรือเทพหมู่บ้าน โดยเทพทั้งสององค์มีเทวลักษณะใกล้เคียงกัน และเดิมได้รับการกราบไหว้โดยชนชั้นที่ไม่ใช่พราหมณ์

นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสตา” (ศาสฺตา) หรือที่เรารู้จักกันดีในคำภาษาไทยว่า “ศาสดา” (บาลีว่า สัตถา) ศาสตาแปลว่าครู หรือผู้สั่งสอน เป็นกลุ่มเทพที่นิยมนับถือในอินเดียใต้ อันแสดงร่องรอยของการนับถือ “ศรามณะ” หรือสมณะผู้ออกเรือน

โดยสวามีอัยยัปปานับเป็นธรรมศาสตา หนึ่งในอัษฏศาสตาทั้ง 8 องค์

 

ทั้งนี้ นักวิชาการบางท่านยังเสนอว่า ภูเขาสพรีเดิมอาจเป็นที่ตั้งของวิหารในพุทธศาสนา เพราะมีการกล่าวถึงวิหารของพระนีลกัณฑ์อวโลกิเตศวร ตั้งอยู่บนภูเขาสหยะ ซึ่งอาจเป็นเขาลูกใดลูกหนึ่งในอินเดียใต้ ในตำนานของฝ่ายมหายาน

ที่จริงเทวสถานในปัจจุบันบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1950 เทวรูปประธานที่ทำด้วยโลหะถูกนำมาแทนที่เทวรูปหินเดิม

นอกจากนี้ ตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงสวามีอัยยัปปาว่าเป็นอดีตราชกุมารของกษัตริย์ในอินเดียใต้ ท่านจึงอยู่ในลักษณะเทพท้องถิ่นที่เป็นผีบรรพบุรุษด้วย

ขณะเดียวกันยังได้มีการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานในคัมภีร์พรหมาณฑะปุราณะ อันเป็นคัมภีร์สันสกฤตว่าด้วยตำนาน “หริหรสุตะ” (ลูกชายของพระวิษณุและพระศิวะ) แทรกด้วยตำนานพื้นบ้านอีก

ตำนานว่ามีอสุรีตนหนึ่งได้รับพรว่า จะตายด้วยลูกชายของพระวิษณุและพระศิวะเท่านั้น ปางนั้นพระศิวะสมพาสกับพระวิษณุซึ่งแปลงเป็นนางโมหิณี (น่าสนใจว่าเรื่องนี้คล้ายตำนานในคัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปางของเรา ซึ่งพระอีศวรสมพาสกับพระนารายณ์ในรูปนางอัปสรา และต่อมาบุตรนั้นคือหนุมาน) ครั้นบุตรพระเป็นเจ้า (คือพระอัยยัปปา) ประสูติแล้วก็ถูกนำไปยังมนุษยโลกพร้อมสายสร้อยที่พระศอจึงได้นามว่ามณีกัณฑ์ เมื่อปราบอสุรีชื่อนางมหิษี น้องสาวมหิษาสูรที่ถูกพระเป็นเจ้าปราบไปก่อนแล้ว นางมหิษีกลับสู่รูปหญิงงามทูลขอพรว่าจะแต่งงานด้วย พระมณีกัณฑ์ประสงค์จะครองเพศพรหมจรรย์จึงให้พรว่า หากไม่มีสาวกใหม่ของพระองค์เดินทางมายังสพรีมาลาเมื่อใด เมื่อนั้นพระองค์จะแต่งงานด้วย

เทวีจึงไปเฝ้ารอ และกลายเป็นเจ้าแม่ “มาลิกาปุรัตตัมมา” ซึ่งมีเทวสถานอยู่ใกล้กัน

เหตุนี้ผู้แสวงบุญยังสพรีมาลา หากเป็นผู้แสวงบุญรายใหม่ที่มาครั้งแรก จะต้องสวมชุดแดงให้ทราบ หากเคยมาแล้วจะสวมน้ำเงิน และยังไม่ปรากฏว่าปีใดไร้ผู้แสวงบุญหน้าใหม่ตราบปัจจุบัน

การแสวงบุญมายังสพรีมาลาโดยธรรมเนียม จะต้องถือพรตเป็นเวลา 41 วัน แล้วจาริกมา หากผู้แสวงบุญนำเครื่องสักการะใส่ถุงผ้า (เรียกในภาษามาลายลัมว่าอิรุมุทิเกตตุ (irumudikettu)) ทูนหัวมาและผ่านการถือพรตแล้ว จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นเทวสถานด้วยทางของบันไดศักดิ์สิทธิ์ 18 ขั้น (เรียกว่าปัตติเนตตัมปาทิ) หากไม่ได้ถือพรตและนำของมาถวายจะต้องขึ้นตัวเทวสถานด้วยเส้นทางอื่น นับถือกันว่าบันได 18 ขั้นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มากและได้รับการสักการบูชาด้วย

จากเทวตำนานเรื่องหริหรสุตะ เทวสถานจึงอ้างว่า พระสวามีอัยยัปปาประสงค์จะครองเพศพรหมจรรย์ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จึงไม่ควรเข้าเทวสถานของพระองค์

หลังมีคำตัดสิน ฝ่ายสนับสนุนประเพณีอ้างว่าประเพณีนี้เป็นสิ่งที่มีมายาวนานนับพันปีไม่ควรถูกละเมิด และการห้ามเช่นนี้ก็เป็นเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องกฎหมาย แม้แต่นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน นเรนทร โมที ก็ออกมากล่าวอ้างเช่นนั้น โดยกล่าวเสริมว่าแม้แต่บางเทวสถานก็ยังห้ามผู้ชายเข้าเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีบรรดาคุรุ เช่น สัธคุรุ ชัคคี วาสุเทพ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ โดยอ้างว่า “ทีผู้ชายยังห้ามเข้าห้องน้ำหญิงเลย” หรือมักมีคนอ้างว่า คนเหล่านี้ไม่เคารพพระเจ้า และคำตัดสินก็ละเมิดความเชื่อท้องถิ่น หรือไม่ก็ล้ำเลยไปถึงว่า ผู้หญิงที่เข้าไปสพรีมาลา ได้รับการว่าจ้างจากมุสลิม จากคริสเตียน หรือไม่ก็พวกคอมมิวนิสต์ให้ทำลายศาสนาฮินดู ซึ่งได้รับการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนเพราะสตรีทุกคนที่ไปสพรีมาลาในช่วงนี้ ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงแผ่ขยายเป็นวงกว้างล้วนเป็นฮินดูและมีศรัทธาในศาสนา

ฝ่ายสนับสนุนคำตัดสินมีทั้งนักบวช เช่น สวามีสันทีปานันทะ คิริ ซึ่งเห็นว่าในคัมภีร์ฮินดูแต่โบราณไม่มีการห้ามผู้หญิงประกอบพิธีกรรมแต่อย่างใด หรือนักประวัติศาสตร์เช่น เอ็น เอส มาธวัน (N.S. Madhvan) ก็อ้างว่า ประเพณีการห้ามผู้หญิงเข้าสพรีมาลาไม่ได้เป็นประเพณีเก่าแก่อย่างที่อ้างกัน เพราะมีหลักฐานว่า ก่อนปี 1950 มหารานีแห่งตรวันคอร์ (Travancore) ได้เข้ามาประกอบพิธีอันนประสาน (ป้อนข้าวทารกครั้งแรก) ในปี ค.ศ.1939 หรือทีเคอาร์ ไนอาร์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มัน โมหัน ซิงห์ ก็อ้างว่า มารดาได้เคยนำไปประกอบพิธีที่สพรีมาลาเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การอ้างประเพณีเป็นกฎอย่างเป็นทางการ นี้จึงไม่น่าจะเก่าไปกว่าปี 1971 และแม้ว่าสตรีมักจะไม่นิยมไปยังสพรีมาลา แต่ก็ไม่ได้ห้ามอย่างเด็ดขาดเช่นในปัจจุบัน

 

กลุ่มสตรีที่ต่างเรียกร้องการเข้าถึงสพรีมาลาเห็นว่าประเพณีดังกล่าวควรได้รับการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

ผมเห็นว่า ข้อดีของกรณีนี้อย่างน้อยแสดงให้เห็นอยู่สองอย่าง

อย่างที่หนึ่ง การที่ศาลสูงของอินเดียออกคำตัดสินที่เน้นความเท่าเทียมกันตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่สวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาลนายกฯ โมทีซึ่งมาจากพรรค BJP อันเป็นพรรคฝ่ายขวา ชาตินิยมละฮินดูนิยม แสดงความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายตุลาการสามารถดำเนินการไปตามหลักการอย่างมั่นคง

อย่างที่สอง ข้อเรียกร้องของสตรีเหล่านี้ได้พากลับไปสู่รากฐานความเชื่อที่สำคัญอันหนึ่งในสังคมฮินดูปัจจุบันที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งยังมองว่า “ประจำเดือน” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีมลทิน ต่างกับฝ่ายบุรุษ ที่การห้ามเข้าในสถานที่ของผู้หญิงนั้นมีเหตุผลด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ

การท้าทายรากฐานความเชื่ออย่างเข้มข้นนี้ ตั้งคำถามต่อการผูกขาดความศักดิ์สิทธิ์ของบุรุษ และต่อรากฐานทางศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในสังคมประชาธิปไตยเต็มใบอย่างอินเดีย ที่การปะทะกันของความศักดิ์สิทธิ์ในโลกสมัยใหม่ (ความเท่าเทียม) กับความศักดิ์สิทธิ์ในโลกเก่าเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นักวิเคราะห์บางท่านเห็นว่า ทั้งพรรคบีเจพีและองค์กรฮินดูชาตินิยมพากันไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านคำตัดสินและยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน เพราะอีกไม่นานอินเดียก็จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง การปลุกผีศัตรูของฮินดูหรือกระพือข่าวการทำลายล้างประเพณีเก่าๆ ดีๆ จึงเกิดขึ้นโดยอาศัยกรณีสพรีมาลานั่นเอง

แต่การท้าทายเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อกรณีเดียวกันในสังคมไทยหรือไม่ ผมคิดว่ายังและอีกนาน ถ้าไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร ลองกลับไปอ่านดูด้านบนอีกรอบเถิดครับ

เอาแค่เลือกตั้ง ยังเลื่อนจนไม่รู้จะเลื่อนอย่างไรแล้ว