การศึกษา / จับตา ‘ป.ป.ช.’ ปลดล็อก กก.สภา ‘ยื่น-ไม่ยื่น’ ทรัพย์สิน

การศึกษา

จับตา ‘ป.ป.ช.’ ปลดล็อก

กก.สภา ‘ยื่น-ไม่ยื่น’ ทรัพย์สิน

 

ไม่รู้ว่าเป็นการคลี่คลายหรือซ้ำเติมสถานการณ์ที่คุกรุ่นอยู่แล้ว ให้เดือดระอุมากยิ่งขึ้นกันแน่

สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน

โดยยกเว้นให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ส่งผลให้นายกสภาและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้ง 28 แห่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

ขณะที่นายกสภาและกรรมการสภาของกลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐเดิมยังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. รวมถึงคู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

มหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบราชการ มี 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.มหาวิทยาลัย (ม.) กาฬสินธุ์ 2.ม.นครพนม 3.ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 4.ม.นเรศวร 5.ม.มหาสารคาม 6.ม.รามคำแหง 7.ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 8.ม.อุบลราชธานี 9.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ 10.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 8 แห่ง และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง

ทำให้กลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มรภ. และ มทร. มองว่าไม่เป็นธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ ด้วยว่าต่างเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเหมือนกัน แต่กลับได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน

 

นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า มนพ.เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ เมื่อ ป.ป.ช.มาอธิบายว่า มาตรา 44 ที่ออกมา ยกเว้นให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตนมองว่าไม่ควรแยกกันแบบนั้น เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ถือเป็นมหาวิทยาลัยรัฐเหมือนกัน เพียงแต่การบริหารไม่ใช่ระบบราชการเท่านั้น

“มองว่านายกสภาและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ควรจะต้องยื่นบัญชีมากกว่าอีก เพราะหากเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐที่เข้มงวดกว่ามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ไม่ควรมีการจำแนกกัน ถ้ากำหนดไม่ให้ยื่นบัญชี ควรจะต้องกำหนดเหมือนกันทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะทำให้มหาวิทยาลัยรัฐลุกขึ้นมาแย้งได้”

นายภาวิชระบุ

 

สําหรับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 28 แห่ง ที่นายกสภาและกรรมการสภาได้รับอานิสงส์ไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบด้วย 1.ม.เทคโนโลยีสุรนารี 2.ม.วลัยลักษณ์ 3.ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 4.ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย 5.ม.แม่ฟ้าหลวง

6.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 7.ม.มหิดล 8.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 9.ม.บูรพา 10.ม.ทักษิณ

11.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12.ม.เชียงใหม่ 13.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 14.ม.พะเยา 15.ม.นวมินทราธิราช

16.สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา 17.ม.เกษตรศาสตร์ 18.ม.ขอนแก่น 19.ม.สวนดุสิต 20.ม.ธรรมศาสตร์

21.สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ 22.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 23.ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 24.ม.ศิลปากร 25.ม.สงขลานครินทร์

26.ม.แม่โจ้ 27.สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย และ 28.สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

 

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินบางตำแหน่งออกไป โดยให้บังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2561 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

1.แก้ไขนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ตามมาตรา 4 ในส่วนกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยแก้ไขตัดคำว่า “กรรมการ” และเพิ่มเติมข้อความเป็น “ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด” อันมีผลทางกฎหมาย ดังนี้

1.1 กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่อยู่ในนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ จึงส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เป็นผู้ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป

ซึ่งบุคคลดังกล่าวคือบุคคลตามข้อ 4 (7) 7.8 อันได้แก่ กองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน

1.2 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ โดยสามารถพิจารณากำหนดเฉพาะบางตำแหน่งที่มีความสำคัญซึ่งแตกต่างจากบทนิยามเดิมที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่สามารถพิจารณากำหนดบางตำแหน่งได้ จึงต้องประกาศทุกตำแหน่ง

2.ยกเลิกข้อ 5 ของประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ได้ปรากฏชื่อตำแหน่งในประกาศดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะประกาศกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมในภายหลัง

“ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขประกาศ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการขององค์การมหาชน และกรรมการของกองทุนต่างๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าสมควรกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่

“ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 หรือมาตรา 103 จะมีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกัน คือ กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป แต่หากเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ”

นายวรวิทย์ระบุ

 

ต้องจับตาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะหารือในเร็วๆ นี้ว่า ที่สุดแล้วกรรมการสภาและนายกสภาของมหาวิทยาลัยรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จะได้รับการยกเว้นด้วยหรือไม่

ถ้าไม่ได้รับการยกเว้น จะเข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จะเข้าข่ายมาตรา 102 ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย หรือจะเข้าข่ายตามมาตรา 103 ที่ต้องยื่นทรัพย์สินแต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป

ซึ่งตอนนี้กรรมการสภาและนายกสภาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าต้องยื่นบัญชี จะโดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ยังไงก็ไม่อยู่แน่นอน

    ถึงตอนนั้นก็จะเกิดสภาพสุญญากาศอย่างแน่นอน