หลากทัศนะ หลัง คสช.ออกคำสั่งปลดล็อก เปิดพื้นที่ประชาชน-พรรคการเมือง ทำกิจกรรม

วันที่่ 12 ธันวาคม 2561 ก้าวย่างการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ขยับไปอีก หลังการหารือระหว่าง คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคการเมือง และคสช.ที่สโมสรกองทัพบกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จนเกิดไทม์ไลน์การเลือกตั้ง และกฎหมายต่างๆที่จะทยอยออกมาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องนั้นคือ คำสั่ง คสช.โดยเฉพาะคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองที่ออกมาตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป แต่ล่าสุดวันนี้ (12 ธันวาคม 2561) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 ว่าด้วย การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อปลดล็อกข้อห้ามในการทำกิจกรรมทางการเมืองให้กับประชาชนและพรรคการเมือง (อ่านรายละเอียดข่าวได้ ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขบางประการที่เกิดคำถามขึ้นโดยเฉพาะข้อ 2 ที่ระบุว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้” 

ข้อความดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย อาทิ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“สำหรับข้อที่ 2 ยังมีความไม่แน่ชัดในความหมาย เนื่องจากคำว่า ‘ไม่กระทบกระเทือน’ นั้นจะมีขอบเขตระดับไหน ซึ่งอาจจะหมายถึง การไม่ยกเลิกคดีความหรือเงื่อนไขที่ คสช. เคยใช้กับพรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชน ก่อนหน้าจะมีคำสั่งยกเลิกฉบับนี้ หรือ มีผลยกเลิกการดำเนินคดี หรือการดำเนินการ หรือ การปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่ได้กระทำไปก่อนจะมีคำสั่งยกเลิกนี้ แต่เขียนไว้เพื่อป้องกันการกระทำที่ได้ทำไปก่อนจะมีคำสั่งยกเลิกออกมา”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีมุมมองต่อคำสั่งดังกล่าวว่า มีลักษณะเหมือนปลดแต่ยังไม่ปลดจริงๆ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และอดีตนักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นต่อคำสั่งนี้ว่า

แม้ยกเลิกประกาศ คสช คำสั่ง คสช บางฉบับไปแล้ว พรรคการเมืองอาจไ้ด้ “ปลดล็อค” แต่ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย กลับยังคงถูกล็อคด้วย “โซ่ตรวน” ในนามของ “คดีความ” ต่อไป

ประชาชนเหล่านี้ คือ ผู้รักประชาธิปไตย ออกไปใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร แต่กลับต้องแบกรับคดีความเอาไว้ ราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร ทั้งๆที่ คสช ต่างหากที่ละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยกำลังทหาร มีความผิดฐานกบฏตาม ป อาญา มาตรา 113 แต่ตั้งตนเป็น “กฎหมาย” นิรโทษกรรมตนเอง

ในคำสั่งหัวหน้า คสช ล่าสุด เมื่อยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช ที่กำหนดความผิดและโทษไปแล้ว ตามหลักกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดและโทษถูกยกเลิกไป การดำเนินคดีต่างๆตามกฎหมายนั้นก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย ซึ่ง นักกฎหมาย คสช ย่อมทราบดี จึงจงใจเขียนยกเว้นไว้ว่า คดีใดที่ดำเนินอยู่ก็ให้ดำเนินคดีต่อไป

การเขียนยกเว้นไว้เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติมองประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช เป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องดำเนินคดีให้หลาบจำ

เรายืนยันว่า ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่ถูกดำเนิน “คดีการเมือง” ในยุคสมัยของ คสช ต้องได้รับความยุติธรรม ต้องไม่ถูกดำเนินคดีต่อไป พวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ ต้องทำให้ประกาศ คำสั่งอยุติธรรมเหล่านี้เป็นโมฆะ คืนความเป็นธรรมให้กับ “เหยื่อ” ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นต่อต้าน คสช

การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 คสช. ไม่ใช่ “คนกลาง” แต่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในการเมืองไทย การกำหนดให้ดำเนินคดีกับประชาชนต่อ ถือเป็นประจักษ์พยานชั้นดี

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เดิมพันสำคัญ คือ เราต้องยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช ให้จงได้

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกพรรคอนาคตใหม่และอดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเคยถูกตั้งข้อหาฐานขัดคำสั่งที่ 3 /2558 ข้อ 12 จากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช.หลายครั้ง ได้กล่าวว่า

“เห็นได้ชัดว่า คสช. เชื่อว่า กลุ่มคนเหล่านี้ อาทิ “คนอยากเลือกตั้ง คือศัตรู คสช.” ทั้งๆที่ผ่านมาสิ่งที่คนเหล่านี้เขาต้องการก็ล้วนเป็นเรื่องที่พลเมืองดีคสรจะทำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องการป้องทรัพยากรที่ดิน เรื่องการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอน ผลของคำสั่ง คสช. จะทำให้คดีจะยังคงดำเนินต่อไป ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลในอนาคตให้แก้ไขสิ่งที่ คสช. ทำกับประชาชน โดยจะต้องมีการแก้ไขเยียวยาวให้คนที่ถูก คสช. เล่นงานได้รับความเป็นธรรม ความเป็นธรรม การแก้ไขความผิดพลาดใดๆที่ คสช. ทำขึ้น จะเป็นโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น”
เช่นเดียวกับ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ด้วยว่า
ยังต้องรอความชัดเจน เพราะนักกฎหมายยังบอกว่าตีความได้สองทางว่าจะหมายถึงคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว หรือที่ดำเนินอยู่ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไรหากคดีที่เกิดขึ้นโดยคสช.จะจบไปโดยคสช. เพราะไม่เคยคิดจะขอให้คสช.มาเกี่ยวข้องอะไรกับคดีเราอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีข้อหาที่หนักกว่าอีกมากมายที่ถูกตั้งให้ เช่น ม.116 ที่ก็ยังสู้คดีต่อไปด้วย