อภิญญา ตะวันออก : “คุกไร้ฝา” ตอนจบ

เสียงจากนักเขียนคนหนึ่ง (จบ)

ต่อความเป็นไปได้ที่ผมจะพบกับความหวัง สำหรับความลับ ความทะเยอทะยานและทุกอย่างทั้งหมดที่กล่าวมา ก่อนที่มันจะเลือนหายไปโดยไม่มีสิ่งใดตามมา

แต่เมื่อนั้น ความกระหายใคร่รู้ที่ผมมีอยู่คงจืดจาง ความปรารถนาที่จะเขียนหนังสือก็คงถึงกาลมืดดับ

และท่านผู้อ่านที่รักยิ่ง ถึงตอนนั้น ตัวตนของผมก็คงด่าวดิ้นไปด้วย

ขณะที่ผมมีอายุ 28 ปี ยี่สิบแปดปีแห่งความรักในวรรณกรรมและองค์ความรู้

ที่ถูกทิ้งไว้เพียงไม่กี่บรรทัดแก่คนรุ่นหลัง ด้วยความหมายอันแหว่งวิ่นไม่สมบูรณ์นั่น อีกเนื้อหาบางอย่างที่ผมไม่ยินดี ในงานบางชิ้นที่ผมไม่เคยมีโอกาสจะแก้ไขอย่างที่ใจปรารถนา

และหากว่าชีวิตผมในที่นี้ มันคือปุ่มปมขัดแย้งกับประเทศของตน ผมก็ใคร่อยากให้งานทั้งหมดนี้อันตรธานหายไปด้วยเช่นกัน

หายไปอย่างไร้ตัวตน

นอกจากกระดาษสองสามแผ่นนี้ ที่อาจเป็นพยานในความมุ่งมั่นของผม

ฆุน สรุน, พนมเปญ มกราคม 1973

 

คือจุดจบของท่วงทำนองแห่งวงวรรณกรรมที่กลายเป็นมหากาพย์แห่งความเกี่ยวพันไปสู่สิ่งอื่น ซึ่งคือเกร็ดที่มาของวงการน้ำหมึกกัมพูชา จากบันทึกสองสามหน้าที่ฆุน สรุน ทิ้งไว้ นั่นคือความเรียง “เสียงจากนักเขียนคนหนึ่ง” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในเรื่องสั้นชุด “ผู้ถูกกล่าวโทษ” (ดูคริสโตเฟอร์ มักเกต์)

1. เริ่มจาก วารสารรีพับลิก “เลอ แขฺมร์ อินดิเพ็นเดนต์” ก่อตั้งโดยซิม วา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย น้าชายนักเขียนแนวอัตตภวนิยมกัมพูชา-สุต โปลิน

2. ราวปี พ.ศ.2499 มิติละครเวทีสมัยใหม่โดยเปา ยูเลง-อุม เฌือน ศิษย์กีย์ โปเร (Guy Poré) ลูกพี่ลูกน้องของอังเดร กีด (André Gide) ซึ่งได้รับเครดิตว่าเป็นผู้บุกเบิกวัฒนธรรมละครเวทีสมัยใหม่มาสู่กัมพูชา

3. เกี่ยวกับกวีนิพนธ์ “นี่แหละมนุษย์” ของกอย สารุน ที่ฆุน สรุน ชื่นชมได้รางวัลกรมงุย กวีพื้นบ้านผู้ได้รับการยกย่องจากราชสำนักสยามและกัมโพชในปี 2515 นับเป็นยุคเฟื่องฟูด้านกวีนิพนธ์

4. ศาสตราจารย์เก่ง วรรณสัก : นักภาษาศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อยุคคนหนุ่ม เกิดในครอบครัวใกล้ชิดกับกลุ่มราชนิกุล เคยลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคประชาธิปไตย และเป็นอาจารย์ภาควิชาอักษรศาสตร์ที่ฆุน สรุน เคยเป็นนิสิต

5. มรดกอาณานิคมที่น่าพรั่นพรึงต่อระบบการทรมานและการสอบสวน ผู้ถูกคุมขังในโรงพักกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นอยู่ที่แออัด นับเป็นกรณีพิเศษสำหรับฆุน สรุน ที่ถูกคุมขังนานถึง 7 เดือน จนเกิดเรื่องสั้นชุด “ผู้ถูกกล่าวโทษ” วรรณกรรมเด่นยุคเขมรสาธารณรัฐที่ถูกลืมยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

6. สุสานตวลสแลง โรงเรียนมัธยมปลายที่ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์กักกัน-เอส21 ที่ซึ่งฆุน สรุน และภริยาเสียชีวิต บุตรสาวคนเดียวที่รอดชีวิตจากเขมรแดง ดูจะเป็นหลักฐานประวัติที่มีชีวิตของฆุน สรุน ที่น่าสนใจ แต่สตรีวัย 50 ปีผู้มีชีวิตเรียบง่าย นอกจากไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับผู้ให้กำเนิดแล้ว มรดกกรรมอันเดียวที่เธอได้มาจากฆุน สรุน คือใบหน้าที่คล้ายกับภริยาของเขา

7. เขียว กุมาร์ ศาสตราจารย์ฟิสิกส์แห่งคณะวิทยาศาสตร์และศึกษาศาสตร์วิทยาลัย ปัญญาชนสายคอมมิวนิสต์นิยม, อุย วันทอน ประธานคณะกรรมาธิการคณิตศาสตร์เขมรวิทยา และฌุก เมง เมา คือกลุ่มบุคคลและสถาบันที่ออกโรงปกป้องฆุน สรุน

 

เกี่ยวกับแง่มุมชีวิตนักเขียนยุคมืดกัมพูชาที่ไม่ถูกรับรู้ในสังคมมากว่า 45 ปีนั้น นามฆุน สรุน จึงเป็นมรดกวรรณกรรมแห่งความลึกลับที่น่าหลงใหลโดยเฉพาะชาวต่างชาติ อาทิ นักวรรณกรรมศึกษาชาวญี่ปุ่น นักอักษรศาสตร์และภาพยนตร์สารคดี ที่ต่างพยายามนำความเป็นฆุน สรุน ในแบบที่ตนรู้จักออกมาเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

คริสโตเฟอร์ มักเกต์ อาจารย์ภาษาฝรั่งเศสแห่งภาควิชาอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยพนมเปญ ดูจะสำเร็จมากที่สุดในความพยายามอันต่อเนื่องยาวนาน จากการสืบค้นต้นฉบับงานเขียนของฆุน สรุน ทั้งหมดที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่สมัยที่เขายังมีชีวิต

กระนั้น มักเกต์ก็รื้อฟื้นชีวิตฆุน สรุน อีกครา ด้วยฉบับแปล “ผู้ถูกกล่าวโทษ” (L”accusé) ตีพิมพ์ในภาษาฝรั่งเศส (du sonneur/2018) โดยก่อนหน้านั้น งานแปลบางชิ้นได้ถูกเผยแพร่แต่ในหมู่นักอ่านที่ไม่ปะติดปะต่อและสร้างความ “ตื่นเร้า” ในแวดวงแคบๆ ที่ต้องการจะเสพอ่านวรรณกรรมแห่งการดับสูญที่ว่านี้

ย้อนไปในปี พ.ศ.2558 ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกัมพูชา อีกครั้งหนึ่งที่เรื่องราวของฆุน สรุน ถูกผลิตเป็นภาพยนตร์สารคดี ในชื่อ “สุสานฆุน สรุน” (A Tomb for Khun Srun) โดยอีริก กัลมาร์ด์ อดีตครูวรรณคดีผู้ลุ่มหลงต่อกวีนิพนธ์นักเขียนเขมร

ภาพยนตร์บอกเล่าถึงครูคณิตศาสตร์โรงเรียนมัธยมปลาย และสมาชิกคณะกรรมการหนังสือตำราเรียนแห่งกระทรวงศึกษาธิการในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 เป็นที่เปิดเผยต่อจากภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ฆุน สรุน เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง/2516) ต่อมาโดยองค์กรดังกล่าว ในปี พ.ศ.2521 ฆุน สรุน ถูกสังหารที่ศูนย์กักกันตวลสแลง (เอส21)

“ตามที่ผมศึกษา งานของเขาเกือบทั้งหมด ล้วนมีปริบททางวัฒนะและสังคมเขมร ปัญหาร่วมสมัยในยุคของเขา ที่ยังมีคุณูปการมาถึงปัจจุบัน ตัวอย่าง ถ้าฆุน สรุน แต่งกวีนิพนธ์หรือบทวิพากษ์สังคมปัจจุบัน เขาก็คงเขียนมันอย่างลุ่มลึกและเชื่อมโยง” (เสียงแห่งอเมริกา)

อีริก กัลมาร์ด์ ยังเชื่อมั่นว่า ฆุน สรุน คือแรงบันดาลใจต่อชาวเขมรรุ่นหลัง ทั้งที่มีชาวกัมพูชาน้อยนิดมากที่รู้จักนักเขียนขวัญใจชาวเทศ อิม ลิม ผู้เกิดในห้วงปีที่งานเขียนฆุน สรุน ถือกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยพนมเปญผู้นี้ให้เครดิตฆุน สรุน ว่า ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เนื้อหาภาพยนตร์จะครอบคลุมและวิเคราะห์ออกมาอย่างครบถ้วน

โดยเฉพาะประเด็นที่กัมพูชาประสบหายนะจนทุกวันนี้ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนร่ำรวยกับคนจน ผู้มีอำนาจและปัญหาที่ดินทำกิน

ทุกอย่างเคยเป็นวาทกรรมในงานเขียนและบทกวีฆุน สรุน เช่นไร

ปัญหาก็ยังไม่เคยเปลี่ยนไปเช่นนั้น

 

ฉันยอมรับว่า ฆุน สรุน อาจอยู่ในร่องแห่งการค้นหาของฉันด้วย โดยเฉพาะความสงสัยที่มีต่อยุค “เขมรสาธารณรัฐ” (2513-2518) ราวกับประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาดังกล่าวได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ต่อเมื่อ “เขมรแดง/กัมพูชาประชาธิปไตย” (2518-2522) ปกครองประเทศ ก็พบว่าอุบัติการแห่งวงวรรณกรรมและงานศิลป์ของระบอบคอมมิวนิสต์ แทบจะไม่หลงเหลือใดๆ ไว้เลย นอกจากตัวละครนักอุดมคติในนิยายขนาดสั้น วรรณกรรมใต้ดินที่ไม่ปรากฏผู้แต่งแต่เชื่อกันว่าเป็นงานที่เขียนโดยสหายนวน เจีย

การหายไปของนักเขียนและศิลปินแนวสัจสังคมนิยมกัมพูชาอย่างไม่ทิ้งไว้ด้วยร่องรอยหลักฐานนี้ เป็นยิ่งกว่าโศกนาฏกรรม “การสังหารหมู่ของป่าวรรณกรรม” ดังที่อเล็กซานเดร โซลเยนิตซิน นักเขียนโนเบลเคยเปรียบเปรย

เมื่อเทียบกับผลิตกรรมเพื่อชีวิตของเวียดนาม ที่งานมรดกศิลป์ยุคดังกล่าว ช่างเฟื่องฟูทั้งเชิงความหมายและคุณภาพและทิ้งบทบาทความสำคัญของตนไว้อย่างอหังการ ทั้งตัวตนที่ทรงพลังของนักเขียนและจิตรกร ผ่านนวนิยาย เรื่องสั้นและภาพเขียน ซึ่งกลายเป็นงานที่นักสะสมและเสพอ่านแสวงหา

การมาถึงของฆุน สรุน พร้อมๆ กับวารสารยุคเขมรสาธารณรัฐ และภาพศิลปะโฆษณาชวนเชื่อและสื่อสิ่งพิมพ์ยุคนั้น จึงเป็นความน้อยนิดที่เติมเต็มอารมณ์ “ขาด” ของฉันในหลายปีที่ผ่านมา ที่เบื่อหน่ายข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่มีแต่คำว่าเขมรแดง ศูนย์กักกันนักโทษตวลสแลง และการสังหารหมู่ที่ไม่หลงเหลือแม้แต่สุสานเพื่อการรำลึก สำหรับแง่มุมของศิลปะและวรรณกรรม ราวกับเป็นความเลือนรางจากปลายอุโมงค์ที่มืดมนอนธการ

แต่ในที่สุด นักโทษแห่งคุกไร้ฝาที่ตายไปแล้วอย่างฆุน สรุน ก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

อย่างน่าอัศจรรย์ สำหรับความหมายของคำว่า “อำนาจแห่งศิลปะ-อำนาจแห่งวรรณกรรม” ที่ยังพอจะเชื่อว่า น่าจะมีอยู่

ไม่ว่า ครั้งที่หนึ่งหรือครั้งที่สองของการสังหารหมู่ ณ แห่งวรรณกรรม

ผ่านโดยการกระทำของมนุษย์ หรือโดยวิทยาการแห่งเทคโนโลยี

ในหลายทศวรรษก่อน

หรือ ณ สหัสวรรษนี้