บทวิเคราะห์/มารยาท อ่านว่า มา-ระ-ยาด

บทวิเคราะห์

 

มารยาท

อ่านว่า

มา-ระ-ยาด

 

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้ 6 เมษายน 2560

ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล

มาตรา 263…

(วรรค 7) “…เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้

เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้…”

มาตรา 264…

“…ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรี ตามวรรคหนึ่งและวรรคสามด้วยโดยอนุโลม…”

มาตรา 265

“…ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้วยโดยอนุโลม…”

มาตรา 266

“…ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้วยโดยอนุโลม…”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

อ่านแล้ว อาจจะเข้าใจยาก

อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุชัดเจนในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 / มาตรา 264 / มาตรา 265 / มาตรา 266

ว่า หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ไปแล้วอีก 90 วัน คือวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

คณะรัฐมนตรี (ครม.)

สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ต้องลาออกจากตำแหน่ง หากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง

กล่าวแบบชาวบ้าน หากกลุ่มบุคคลข้างต้น หากอยากไปต่อทางการเมือง โดยเฉพาะการลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องลาออกจากตำแหน่ง ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวชี้แจงไว้ชัดเจนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 กรธ.ไม่ให้แม่น้ำ 4 สาย คณะรัฐมนตรี คสช. สนช. สปท. ต้องเว้นวรรคการเมือง 2 ปีเหมือน กรธ. เพราะแม่น้ำ 4 สายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้กำหนดไว้ว่า หากคณะรัฐมนตรี คสช. สนช. สปท. ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

 

จึงเป็นเสมือน “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560” ที่ชัดจน

ไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรี คสช. สนช. สปท. สวมหมวก 2 ใบ หากมีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเล่นการเมืองต่อ

ซึ่งในกรอบเวลา 90 วันดังกล่าว ก็มีผู้สนองเจตนารมณ์ดังกล่าวชัดเจน

โดยเฉพาะสมาชิก สปท. มีผู้ลาออกในช่วง 90 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด 21 คน

สมควรบันทึกไว้ ได้แก่ 1.นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ 2.นายธงชัย ลืออดุลย์ 3.นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล 4.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ 5.นายเกรียงยศ สุดลาภา

6.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 7.นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ 8.นายชัย ชิดชอบ 9.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร 10.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

11.นายสมพงษ์ สระกวี 12.พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล 13.นายอับดุลลาฮิม มินซาร์ 14.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล 15.นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์

16.นายสุชน ชาลีเครือ 17.นายดำรงค์ พิเดช 18.นายวิเชียร ชวลิต 19.นายณัฏฐ์ ชพานนท์ 20.นายวิทยา แก้วภราดัย  21.นายนิกร จำนง

กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเล่นการเมืองผ่านการเลือกตั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนแม่น้ำอีก 3 สาย ได้แก่ คสช., ครม. และ สนช. ไม่พบว่ามีการลาออกตาม ‘เส้นตาย’

ส่งผลทำให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้

และเป็นความสมัครใจที่จะไม่ลงสนามเลือกตั้ง

เว้นแต่จะไปต่อทางการเมือง ในตำแหน่งอื่น คือ นายกรัฐมนตรี

ที่อาจไปใช้ช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเข้าไป

ซึ่งตอนนี้ยังมาไม่ถึง แต่ก็คาดหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะใช้ช่องทางนี้

จะต้องเผชิญข้อจำกัดอย่างไร คงต้องรอถึงเวลานั้นก่อน

 

แต่ ณ ปัจจุบัน เราได้เห็นคนในคณะรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่ง “หาช่อง” ที่จะไปต่อทางการเมือง

โดยมิได้สนใจว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญวางไว้อย่างไร

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อ 4 รัฐมนตรี อันประกอบด้วย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ประกาศจัดตั้งพรรคดังกล่าว โดยเข้ารับตำแหน่งสำคัญในพรรค ตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรค ตามลำดับ

ประกาศที่จะนำสมาชิกพรรคลงสนามเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ

โดยสวมหมวก “รัฐมนตรี” อีกใบหนึ่ง

 

ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย

นั่นก็คือ ตำแหน่งสำคัญทั้ง 4 ตำแหน่งข้างต้น

ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่งก็นำไปสู่คำถาม

แล้วคนเหล่านี้จะยึดโยงกับชาวบ้านอย่างไร

เพราะสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือการเป็น “ผู้แทนราษฎร” ก็ยังไม่มี

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทั้ง 4 คนประกาศสวมหมวกรัฐมนตรีต่อไป โดยมิได้สนใจว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่วางไว้นั้นต้องการอะไร

เหมาะหรือไม่อย่างไร

จริงอยู่ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่คนเหล่านี้ล้วนอยู่ในแม่น้ำ 3 สาย รับรู้มาโดยตลอดว่า กรธ.มีเจตนาที่จะไม่ให้สวมหมวก 2 ใบ

แต่ก็มาขัดขืน

โดยมีเพียงคำสัญญาจากนายอุตตมว่า

“จะไม่มีการใช้เวลาและทรัพยากรของรัฐมาใช้ประโยชน์เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน”

“เราพร้อมที่จะให้ตรวจสอบการทำงาน เพราะเรายึดมั่นในสิ่งซึ่งเราถือปฏิบัติ ในสิ่งที่เราตระหนักว่าต้องทำให้ถูกต้อง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พวกเรารับรองได้ว่าเราจะใส่หมวกใบเดียว คือหมวกของพลังประชารัฐ ไม่ต้องห่วง ถึงเวลาไปแน่”

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พยายามอธิบายว่าการลาออกเป็นเรื่องง่าย แต่ประโยชน์การลาออกในช่วงนี้คืออะไร

“ในฐานะผู้บริหารก็ต้องคิด อย่าเล่นแต่การเมือง แน่นอนว่าการเมืองก็ต้องกดดันให้ออก ซึ่งพูดกันทุกครั้ง ก็ขอให้ไปดูในอดีตกลุ่มการเมืองต่างๆ ในอดีตดำเนินการอย่างไร ยืนยันว่าจะทำดีกว่าในอดีต อย่าคาดคั้นมาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะทำดีกว่าความคาดหวังของหลายคน ผมตอบได้แค่นี้ ขอให้สบายใจ ไม่ได้ดื้อหรือดึงดัน ส่วนสิ่งที่กังวลว่าผมจะใช้ตำแหน่งเพื่อประโยชน์ต่อการหาเสียง ก็ขอให้ตามไปดูการทำงานของผม”

นอกจากโยนไปให้ “อดีตการเมือง” ที่รัฐบาลนี้แสดงอาการรังเกียจแล้ว

คำสัญญาเพียงแค่นี้ จะเชื่อถือได้อย่างไร

 

แม้ “กุนซือใหญ่” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาช่วย 4 รัฐมนตรีอย่างเต็มตัวว่าเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ มีกฎหมายรองรับ หากทำอะไรไม่ถูกต้องก็เป็นความเสี่ยง แต่ถ้ากฎหมายไม่ห้ามแสดงว่าไม่ผิด ขอให้ติดตามดู และขอให้รอเวลาที่เหมาะสมแล้วทั้ง 4 คนจะลาออก”

“ช่วงนี้เขาต้องทำงานเต็มที่ จะให้ลาออกตอนนี้ ผมคิดว่าหลายโครงการที่เราวางไว้สำคัญมากต่อประเทศในอนาคต จะละทิ้งได้ยังไง”

“นี่เป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยที่มีคนคุณภาพอย่างนี้เข้ามา ไม่ใช่แค่อายุน้อยๆ เข้ามาแล้วเฮฮากัน เขาเข้ามาทำงานจริงจัง เมื่อไม่ได้ทำอะไรผิด กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็น่าต้องติดตามตรวจสอบเขาดู”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปกป้องว่า การที่รัฐมนตรีไปทำงานการเมืองนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล พูดมาหลายครั้งแล้ว และได้ย้ำเตือนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย รวมถึงช่วงที่เขามาขออนุญาต โดยได้บอกไปว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน

อย่าทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเสียหาย

“คงไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์อย่างเช่นที่ผ่านมาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะหลายคนออกมาพูดว่าจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเคยเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า แล้วใครเป็นคนทำ ถ้าไม่มีก็แล้วไป แต่ขอร้องอย่ามาอ้างว่าวันนี้จะมีการทำอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว เราจะดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป สานต่องาน รักษาความสงบเรียบร้อย”

“อะไรผิดกฎหมายก็ถือว่าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ดูเหมือนทุกอย่างจะถูกตัดตอนให้จบแค่เรื่องผิด-ไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น

ทั้งที่หากถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็น่าจะรู้แล้วว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องการอะไร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

แต่ดูเหมือนว่า ฝั่งฟากรัฐบาลจะยืนกรานหัวชนฝา เรื่องไม่ผิดกฎหมาย

แต่กระนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูจะชี้ตรงเป้ามากที่สุด

นั่นก็คือ ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรค พปชร. คือกำลังหลบเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

“ซึ่งความเสื่อมทางการเมืองและปัญหาวิกฤตในอดีต ก็เป็นเพราะการหาช่องโหว่ของกฎหมาย”

“เราไม่ดูเจตนารมณ์”

“ไม่ยึดถือเรื่องของมารยาท”

“และธรรมาภิบาล”

“ดังนั้น วันนี้คนที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปบริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งโดยตรง ก็ต้องแสดงให้เห็นว่ายังเชื่อในหลักธรรมาภิบาล หรือเคารพในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มากกว่าที่จะบอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้หรือไม่ผิดกฎหมาย”

“เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง แต่งานของรัฐบาลมีงานการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้ถูกจำกัดด้วย”

“ดังนั้น ผมว่าตอบยากจริงๆ ว่าบุคคลเหล่านี้ต้องการมีส่วนได้เสียในการแข่งขัน เหตุใดจึงไม่ทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แล้วสวมหมวกสองใบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

4 รัฐมนตรี กุนซือ และผู้ถือธง จะได้ยินเสียงและเข้าใจสิ่งที่สะท้อนจากนายอภิสิทธิ์หรือไม่ ไม่ทราบ

แต่คำว่า “มารยาท” ทางการเมือง

แม้ไม่มีโทษเหมือนการทำผิดกฎหมาย

แต่ก็เป็นจริยธรรม ศีลธรรม ที่ไม่ใช่คำยากสักเท่าไหร่ในการทำความเข้าใจ