‘ชูศักดิ์’ ชี้ห้ามหาเสียง ตีความได้กว้างมาก เป็นการทำตามอำเภอใจ-จำกัดสิทธิเกินเหตุ

“ชูศักดิ์” ชี้ข้อติดขัดจากคำสั่ง 13/2561 เผย 28 ก.ย.นี้ จะถาม กกต. ในประเด็นการหาสมาชิกเพื่อตั้งสาขาพรรคทำได้มากน้อยเพียงใด

​เมื่อวันที่ 17 กันยายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความติดขัดในทางปฏิบัติจากคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ว่า จากการพิจารณาคำสั่ง ที่ 13/2561 โดยละเอียด พบว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเรื่องทุนประเดิม การชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง การจัดให้มีการประชุมใหญ่โดยไม่ต้องมีตัวแทนสาขาพรรค ที่สำคัญ คือ การลดเงื่อนไขในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา อันเป็นเงื่อนไขสำคัญทีพรรคการเมืองจะต้องมี ตามกฎหมายพรรคการเมือง 2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งกำหนดว่า หากจัดตั้งสาขาได้ไม่ครบถ้วนจะส่งผู้สมัครมิได้ แสดงว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ แม้ยังไม่มีสาขาเลยก็ตาม กรณีจึงเป็นการเอื้อให้แก่พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่เต็มๆ เรื่องสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองยังมีความสับสนอยู่ในการตีความ เพราะคำสั่งที่ 13/2561 ไม่ให้นำมาตรา 47 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาใช้ในการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก คือ เขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครไม่ต้องมีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองในเขตนั้นก็ได้ แต่ในคำสั่งดังกล่าว ให้กรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรครับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย จึงมีความสับสนว่าจะต้องจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้มากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ได้จัดตั้ง ไว้เลยจะได้หรือไม่ เรื่องนี้พรรคจะได้สอบถามความชัดเจนจาก กกต. และน่าจะเป็นประเด็นในการที่พรรคการเมืองจะสอบถามจาก กกต. ในวันที่ 28 กันยายน นี้ด้วย

​นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น พรรค พท.ยังมีความเห็นว่าการที่คำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 อนุญาตให้พรรคการเมือง ประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับสมาชิกผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยการดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียงนั้น จะสร้างความสับสนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกปฏิบัติทำนองเดียวกับการห้ามชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากคำว่าหาเสียงมีความหมายกว้างมาก ไม่มีการให้ความหมายใดๆ ไว้ คำสั่งเช่นนี้นอกจากจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เกินกว่าเหตุแล้ว ดูเหมือนเป็นการทำตามอำเภอใจอีกด้วย