สมชัย ศรีสุทธิยากร : จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร ? ไปโฟกัสที่ “กรรมการ”

สมชัย ศรีสุทธิยากร

จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร (2)

ใน ตอนที่ผ่านมา [คลิกอ่าน] ผมได้กล่าวนำให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการที่จะช่วยส่งเสริมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คือ 1) กติกา 2) กรรมการ 3) ผู้เล่น และ 4) คนดู

โดยได้แจกแจงให้เห็นว่า กติกาที่ดี ย่อมช่วยให้การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม

แต่หากกติกาเขียนมาโดยมีอคติ มุ่งสร้างความได้เปรียบให้คนบางกลุ่ม หรือสร้างกติกาที่ยุ่งยากซับซ้อนจนเป็นเหตุให้ผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าสามารถลงสนามแข่งขัน แต่พรรคเล็กพรรคใหม่ถูกกีดกันออกจากสนามนั้น ก็เป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น

ยากที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ดีได้

สําหรับในองค์ประกอบประการที่สอง คือ กรรมการ

การเขียนคุณสมบัติของกรรมการการเลือกตั้งที่สูงขึ้น

เช่น ต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

หรือหากทำงานด้านประชาสังคมก็ต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นการมุ่งหวังว่าจะได้มีคนที่มีคุณสมบัติสูงเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการ

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า คุณสมบัติดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการกลั่นกรองคน

คนที่มีคุณสมบัติครบกลับกลายเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเลือกตั้งนัก

ในขณะที่ผู้ที่มีท่าทางจะรู้ดี รู้ทันการเมืองการเลือกตั้งกลับถูกเขี่ยออกในรอบคุณสมบัติ เช่น รอง ผบ.ตร. รองอัยการสูงสุด ผู้ว่าฯ ที่อยู่ไม่ครบ 5 ปี หรืออาจารย์ทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการเลือกตั้ง

หรือแม้เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำมาหลายสมัยก็ยังขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ

จนหลายคนกระแหนะกระแหนว่า ต่อไปเราอาจได้ศาสตราจารย์ด้านดิน หิน แมลง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรืออธิบดีกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้า ฯลฯ มาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง

กติกาที่ถูกออกแบบมาเป็นจุดเริ่มต้นให้กรรมการการเลือกตั้งชุดที่จะมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติตามผู้ออกกติกาปรารถนาให้มาทำหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ที่ดีงามหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่สามารถโทษคนที่มาทำหน้าที่เป็นกรรมการได้ แต่ต้องโทษคนเขียนกติกาเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรดังกล่าว

ทุกอย่างจึงต้องรอดูว่า กรรมการสเป๊กเทพ จะมีฤทธาในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่

กลไกที่สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ยังประกอบด้วยกลไกที่มีและถูกสร้างขึ้นมาใหม่รวมอีก 2 ส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานภายใน ให้เลขาธิการมีบทบาทที่สูงขึ้นกว่ากฎหมายเดิม

และการให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เป็นกลไกใหม่ที่ถูกออกแบบมาทดแทนการทำหน้าที่ของ กกต.จังหวัด ด้วยเหตุครหาว่า กกต.จังหวัดทำงานไม่มีประสิทธิภาพ อิงแอบนักการเมืองในท้องถิ่น

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประกอบด้วยบุคลากรทั้งประเทศประมาณ 2,000 คน มีเลขาธิการและรองเลขาธิการเป็นผู้บริหารระดับสูงในการกำกับการทำงาน

มีจุดแข็งในเรื่องการมีประสบการณ์ตรงที่จัดการเลือกตั้งมานับแต่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ยิ่งบางคนโอนย้ายมาจากกระทรวงมหาดไทย ยิ่งสะสมประสบการณ์ที่ต่อเนื่องก่อนหน้ามาอยู่ที่สำนักงาน กกต.

การได้มีส่วนในการยกร่างกฎหมาย ประกาศ และระเบียบต่างๆ น่าจะเป็นส่วนช่วยให้บทบาทในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล

อย่างไรก็ตาม ความเป็นระบบราชการในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคืออุปสรรคตัวยงของการทำงาน ความล่าช้าก็ดี การทำงานตามระเบียบกฎเกณฑ์ก็ดี การทำงานแบบแค่ตอบสนองความต้องการขั้นต่ำ (minimum requirement) ที่มุ่งเพียงแค่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จ โดยไม่สนใจให้เป็นการเลือกตั้งที่ดีมีคุณภาพ

การทำงานแบบถนอมตัว ไม่เสี่ยง ไม่รุก หรือมุ่งความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองหลังการเมืองเปลี่ยน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากมีอยู่ในสำนักงาน บทบาทของสำนักงานที่จะสนับสนุน กกต. ในการทำงาน จะกลายเป็นเชิงรับ (passive) มากกว่าจะเป็นเชิงรุก (active)

ในส่วนของกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่พยายามจะใช้คนนอกพื้นที่ลงไปตรวจตราการกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้งและดูความเรียบร้อยในการทำงานของพนักงานในสำนักงาน กกต. ของแต่ละจังหวัด

ถือเป็นการทดลองทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ด้วยต้นทุนคือเงินงบประมาณที่ใช้ประมาณ 300 ล้านบาท

ท้าทายด้วยผลการทำงานที่จะช่วยปราบปรามการทุจริตได้ดีขึ้น โดยหวังว่าจะไม่ได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาว่า “เขาซื้อเสียงกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ กกต. ไม่รับรู้ หรือจับไม่ได้แม้แต่รายเดียว”

การออกแบบผู้ตรวจการเลือกตั้งให้มีจำนวนจังหวัดละ 6-8 คน และให้สองคนประจำจังหวัด ที่เหลือถูกจับสลากไปทำหน้าที่ในจังหวัดใกล้เคียง พร้อมสนับสนุนทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ค่ายานพาหนะเหมาจ่าย และยังมีตำแหน่งผู้ช่วย รวมๆ แล้วเป็นต้นทุนประมาณเกือบสองแสนบาทต่อคนต่อเดือน

เทียบกับการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในอดีต ที่ใช้ทั้งปีประมาณ 300 ล้านบาท หากนำไปเทียบบัญญัติไตรยางศ์ การทำงาน 3 เดือนของผู้ตรวจ กับการทำงาน 12 เดือนของ กกต.จังหวัด ในงบเงินงบประมาณที่ใกล้เคียงกัน ก็แปลว่า ค่าใช้จ่ายด้านผู้ตรวจนั้นแพงกว่า 3-4 เท่าทีเดียว

หากได้ผลก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คุ้มค่า

แต่หากยังทำงานเชิงรับ เอาแต่รับค่าตอบแทน มีแต่รายงานว่า “เหตุการณ์ปกติ” คนไหนหน้าไหนจะออกมารับผิดชอบบ้าง

องค์ประกอบประการที่สามในการส่งเสริมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมคือ “ผู้เล่น” ได้แก่ พรรคการเมือง และนักการเมือง แฟร์เพลย์ (fair play) จะเกิดได้ สำคัญที่สุดอยู่ที่ผู้เล่นที่เล่นกันด้วยฝีมือ สู้กันด้วยนโยบาย สู้กันด้วยคุณงามความดี

ในกรณีนี้หากผู้เล่นใช้อำนาจที่สำคัญ 3 อำนาจ คือ อำนาจอิทธิพลเพื่อข่มขู่ อำนาจเงินเพื่อซื้อเสียง และอำนาจรัฐ ในการสร้างความได้เปรียบเหนือผู้อื่น การแข่งขันที่เที่ยงธรรมย่อมเกิดขึ้นยาก

อำนาจอิทธิพลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากในอดีต คำว่า “เจ้าพ่อ” หรือเจ้าของพื้นที่ เป็นผู้มีบารมีกว้างขวาง มีเครือข่าย มีคุ้มมือปืน ดังนั้น คู่แข่งย่อมเกรงกลัว ประชาชนย่อมเกรงใจ หน่วยราชการยิ่งไม่กล้าเข้าไปเกี่ยวข้องขัดขวาง ปรากฏการณ์แบบ “โคตรโกง” ในอดีตจึงมีขึ้นได้

แต่ในปัจจุบัน อำนาจอิทธิพลเริ่มโรยรา เนื่องจากเจ้าพ่อตายไปก็มาก ติดคุกก็ไม่น้อย ที่เสื่อมถอยอิทธิพลไปก็อีกเยอะ เจ้าพ่อยุคใหม่ที่มาทดแทนก็ยังสร้างอิทธิพลไม่ทัน

ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวดูจะเสื่อมถอยลง

อำนาจเงิน การใช้เงินเพื่อสร้างความได้เปรียบ คนรวยย่อมได้เปรียบคนจน แม้ว่ากฎหมายจะมีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ค่าใช้จ่าย “นอกรายการ” ทั้งก่อนวันเลือกตั้งและในช่วงเลือกตั้งก็ยากที่จะตรวจสอบ

ผู้ลงทุนทางการเมืองใช้ “เงิน” เพื่อสร้างระบบอุปถัมภ์ดูแลช่วยเหลือประชาชนภายใต้คำขวัญ “ใจถึงพึ่งได้” ให้การช่วยเหลือทุกที่ทุกงาน ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง หรืองานศพ ของทุกคะแนนเสียงในพื้นที่ก่อนวันเลือกตั้งเป็นเดือนเป็นปี หรือการจ่ายเงินซื้อเสียงผ่านระบบหัวคะแนนในรูปการยิง “กระสุน” ไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งแม้ว่านักวิชาการหลายคนจะวิจัยว่าเงินซื้อเสียงไม่มีผลต่อแพ้-ชนะ แต่ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะยังใช้เงินซื้อเสียง

อำนาจสุดท้ายที่น่ากลัวและมีผลยิ่งต่อการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมคืออำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจรัฐที่มีจิตใจสกปรก จะใช้อำนาจเหล่านี้สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ผ่านกลไกระบบราชการ ผ่านหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชน ผ่านโครงการที่ใช้เงินหลวงแต่กลับไปสร้างคะแนนนิยมส่วนตัว

อำนาจนี้นับวันยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล ไม่เหมือนอำนาจอิทธิพลที่นับวันเสื่อมถอย อำนาจเงินที่ยังต้องจ่ายแต่ไม่มีหลักประกันแห่งชัยชนะ แต่อำนาจรัฐในลักษณะทีใครทีมัน กลับเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่เคยหยุด

การเลือกตั้งคงยากที่จะบริสุทธิ์เที่ยงธรรม ตราบใดที่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ยอมเล่นตามกติกาอย่างเป็นธรรม!!!

(ตอนหน้า จะกล่าวถึงองค์ประกอบสุดท้ายคือประชาชน ว่าจะมีส่วนช่วยให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมได้อย่างไร)