สมชัย ศรีสุทธิยากร : จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร ?

จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร (1)

ผมกำลังพูดถึงองค์ประกอบ 4 ประการคือ หนึ่ง กติกา สอง กรรมการ สาม ผู้เล่น และสี่ ผู้ชมและกองเชียร์

เปล่าครับ ไม่ได้พูดถึงการแข่งขันบอลโลกหรือการแข่งขันกีฬาใดๆ แต่กำลังพูดถึงการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาของไทยตามคำสัญญาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้คือส่วนสำคัญที่จะตอบว่าการเลือกตั้งของไทยจะเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือที่ต่างประเทศเรียกกันว่า Free&Fair Election หรือไม่

โดยเราหวังกันว่า หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน การเลือกตั้งควรเป็นทางออกของประเทศ ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ได้รัฐบาลที่ดีมาบริหารบ้านเมือง ไม่นำพาประเทศไปสู่จุดอับทางตันเหมือนที่เป็นมาในอดีต

กติกาที่ดี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และสามารถคัดกรอง “คนการเมือง” ที่มีคุณภาพ เป็นหลักประการที่หนึ่ง

เราจึงเห็นความตั้งใจและการทุ่มเทเวลาในร่างกติกาการเมืองใหม่ๆ นับแต่การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560

การเขียนกฎหมายลูกที่สำคัญ 4 ฉบับ คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.กกต. พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.

ออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ ออกแบบกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เป็นสถาบัน ออกแบบกฎหมาย กกต. เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถมาทำงานสำคัญและออกแบบกลไกการจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ ออกแบบกฎหมาย ส.ส. เพื่อให้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส. เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม และออกแบบกฎหมาย ส.ว. เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถหลากหลายมาทำหน้าที่กลั่นกรองและเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ ส.ส. อย่างได้ผล

นี่คือเจตนารมณ์ของการออกแบบกฎหมายที่สำคัญทั้ง 5 ฉบับข้างต้น

มือร่างกฎหมายคือมือดีที่สุดของประเทศ ผู้มีประสบการณ์ในการร่างกฎหมายสำคัญมานับครั้งไม่ถ้วน

ฝ่ายสนับสนุนการร่างกฎหมายคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้เป็นมือกฎหมายแห่งแผ่นดิน ความประณีตในการบรรจงสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อเป็นทางออกของประเทศจึงน่าจะดูสดใส

แต่การณ์กลับเป็นว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเหล่านี้ กลับตกหลุมพรางแห่งการลองผิดลองถูก เอาประเทศชาติเป็นเครื่องทดลองอีกครั้ง

รัฐธรรมนูญถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ให้สามารถแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในจำนวนเกือบทั้งหมด

หนำซ้ำยังกำหนดให้องค์กรวุฒิสภามีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกของการบังคับใช้ กำหนดกลไกในการให้อยู่หรือให้ไปขององค์กรอิสระต่างๆ ตามใจผู้มีอำนาจ โดยให้ไปเขียนในกฎหมายลูกของแต่ละหน่วยงานที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ที่แต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจเอง

กำหนดคุณสมบัติที่มากมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระโดยหวังว่าจะเป็น “คนชั้นเทพ” ที่มาดูแลบ้านเมือง

แต่กลับยกเว้นคุณสมบัติแก่พวกพ้องตนเอง เช่น ไม่บังคับกับ ครม. สนช.ชุดปัจจุบัน หรือแม้คนขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจในการตีความ

กฎหมายพรรคการเมืองที่หลักการดูดีในการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็งเป็นสถาบันและมีรากฐานการสนับสนุนจากประชาชน ไม่ถูกครอบงำจากเจ้าของพรรคเพียงไม่กี่คน

เมื่อพินิจการออกแบบกฎหมายดังกล่าวจะเห็นคราบรอยของการเลียนแบบวิธีการคิดของประเทศตะวันตกในลักษณะ “เห็นของเขาและอยากเอามาใช้กับของเรา” ไม่ใช่น้อย

นับแต่การเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองรายปี

การบังคับให้มีเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองถึง 1 ล้านบาท

การกำหนดจำนวนสมาชิกที่พึงจะมีถึงอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคนในสี่ปี

การให้มีสาขาของพรรคทั้งในระดับภาคไปจนถึงระดับจังหวัดและเขต

และการให้มีการคัดผู้สมัครขั้นต้นจากสมาชิกพรรคที่เรียกกันว่าไพรมารีโหวต เป็นต้น

แต่การณ์กลับเป็นว่า สิ่งที่เขียนในกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ กลับไม่ถูกส่งเสริมให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง โดยแม้ว่ากฎหมายพรรคการเมืองจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2560

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่สามารถขยับได้ ด้วยอุปสรรคที่สำคัญคือ “การไม่ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้

กติกาเพื่อความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมือง จึงกลายเป็นกติกาที่อ่อนล้าและกลายเป็นอุปสรรคของพรรคการเมืองใหม่ในการเข้าแข่งขันทางการเมือง หรืออาจเป็นกติกาที่สร้างผลได้แค่สิ่งที่เป็นพิธีกรรมเนื่องจากต้องรีบเร่งดำเนินการในกรอบเวลาที่จำกัด ทำได้เสร็จ แต่ไม่ใช่ทำได้ดี

หันไปดูกฎหมาย กกต. แม้ว่าหลักใหญ่เรื่องอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งจะแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลและ กกต. ได้ดีและชัดเจนขึ้น การกำหนดให้ใบเหลือง ใบแดง หรือใบส้ม จะเป็นกลไกที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น แต่การตัดสินใจยุบ กกต.จังหวัด และไปสร้างนวัตกรรมผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องที่ยังหวั่นว่าจะดีจริงหรือไม่ แต่แน่ๆ ในเรื่องการกำหนดสเป๊กเทพ กลายเป็นเรื่องตลกอ่อนด้อยปัญญาไปแล้ว เมื่อการหา กกต.ใหม่ได้ตรงสเป๊ก แต่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ กกต. หากยังปากแข็งว่าวิธีนี้ดี วันหน้าคงมีศาสตราจารย์ด้านแมลง ด้านพันธุ์พืช ด้านนาโนเทคโนโลยี ไปจนถึงด้านวิศวกรรมอวกาศ มาจัดการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ กระบวนการเทกระจาดเซ็ตซีโร่ กกต.ชุดที่ 4 ยกชุด ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กลับใช้หลักการที่แตกต่าง ก็เป็นที่ตั้งข้อสังเกตจากสื่อโดยทั่วไปว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจประสงค์จะหาคนที่สั่งได้มากำกับดูแลการเลือกตั้ง เป็นที่ครหาและเคลือบแคลงสงสัย

สำหรับกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านกระบวนการร่างที่ยาวนาน ก็กลับมีกติกาที่พิกลพิการหาเหตุผลอธิบายได้ยาก

เช่น การให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองพรรคเดียวกันมีหมายเลขแตกต่างกันไปในแต่ละเขต

ด้วยเหตุผลคือไม่อยากให้ประชาชนเลือกผู้สมัครจากพรรค แต่ขอให้พินิจพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครและจดจำเบอร์ผู้สมัครให้แม่น

มีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อประสงค์ให้ทุกคะแนนมีความหมาย คะแนนของผู้แพ้ภายในเขตสามารถนำมารวมเพื่อคำนวณ ส.ส. ที่พึงจะมีและทอนเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะนำไปสู่การแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งทุกคะแนนเสียง อาจเป็นเหตุแห่งการทุจริตการเลือกตั้งที่ยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาหรือไม่

ในประเด็นกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมาก เนื่องจากไม่ว่าจะมีผู้สมัครที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ มากน้อยเพียงไร จะมีกระบวนการคัดเลือกกันเองในแต่ละขั้นละเอียดพิสดารเพียงไร หรือกระบวนการจัดการของ กกต. จะทำได้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพียงใด

แต่พอถึงขั้นสุดท้าย ชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 200 ชื่อก็จะถูกนำไปให้ คสช. เป็นผู้ชี้ในขั้นสุดท้ายว่า 50 คนจะเป็นใคร ก่อนที่จะไปรวมกับที่มาจากการแต่งตั้งอีก 194 คน และโดยตำแหน่งอีก 6 คน ซึ่งเป็นการยึดครองแบบเบ็ดเสร็จจากผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่มีต่อวุฒิสภาในช่วงห้าปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และยังให้ ส.ว. มีบทบาทร่วมกับ ส.ส. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ถือเป็นการสร้างแต้มต่อทางการเมืองตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งขัน

มองเพียงแค่ประเด็นแรกคือกติกา ก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในระดับกฎหมายใหญ่และกฎหมายย่อย ความสำเร็จในการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมอันเนื่องมาจากกติกา จึงเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ว่า จะเป็นตัวช่วยหรือเป็นตัวฉุด

ยังไปไม่ถึงประเด็นที่สองเรื่องกรรมการ ประเด็นที่สาม เรื่องผู้สมัครและพรรคการเมือง และประเด็นที่สี่ ในส่วนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า ทั้งสี่ส่วนนี้จะมีส่วนช่วยทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอย่างไร

นี่แค่ประเด็นแรก รออ่านประเด็นที่เหลือในตอนถัดไป อย่าเพิ่งถอดใจ