จรัญ พงษ์จีน : มรสุมหลายลูกถาโถมมหาดไทย

จรัญ พงษ์จีน

ช่วงนี้ “กระทรวงมหาดไทย” ของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” งานเข้า สไลด์ไปตกที่นั่ง “หมู่บ้านกระสุนตก” ถี่มากเป็นกรณีพิเศษ ต้องออกโรงเคลียร์กันมือระวิง แกะทีละเปลาะ

ก่อนหน้านี้ เรื่องเซ็นคำสั่งเด้งเงียบ “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” จากผู้ว่าฯ เชียงราย จังหวัดใหญ่ ไปเป็นเจ้าเมืองจังหวัดเล็กพะเยา ซึ่งสิวหัวช้างเกิดแตกดังโพละ ตอนเข้าไปแบกรับภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง

ซึ่งถูกนำพาไปเป็นเครื่องทุ่นแรง ปะติดปะต่อว่าเป็นการถูกลงโทษจาก “ฝ่ายเหนือ” ที่ “ผู้ว่าฯ หนึ่ง” ไปเป็น “ก้างขวางคอ” โครงการอะไรบางอย่าง ก็เลยโดนเช็กบิลสั่งสอนซะ

ตอนนี้ “มหาดไทย” มีประเด็นร้อนมาให้แก้ต่างอีกแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่คนละต้นสังกัด ไม่น่าจะเกี่ยวดองข้องแวะอะไรกัน แต่ถูกนำมาสร้างสถานการณ์ให้เป็นคนละเรื่องเดียวกันจนได้

“ดราม่าใหม่” ข้ามห้วยจากมหาดไทย “ฝ่ายปกครอง” เลียบลำคลองมาเกาะแกะแถวถนนวิภาวดีรังสิต ว่าด้วยเรื่อง “พลังงาน”

ถูกทิ้งบอมบ์ด้วยปมปริศนาว่าด้วย “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” (กกพ.) หรือ “เรกูเลเตอร์”

ห้องเครื่องของเรื่องมีผลสืบเนื่องมาจาก “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” งัดไม้กระบอง “มาตรา 44” ออกประกาศยกเว้นให้ “โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย” ไม่ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ตามด้วยการออกคำสั่ง “งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมือง” เพื่อเปิดทางสะดวกให้ประกอบกิจการบางประเภท ทั้งโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ หรือหลุมฝังกลบขยะ

รวบรัดตัดฉากฉับ ภาพรวมโดยสรุป รัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้ประกาศ “วาระแห่งชาติ” ว่าด้วยการบริหารจัดการขยะ ที่ “คสช.” ให้ความสำคัญมาก และให้จัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เหนือสิ่งอื่นใดคือ กำหนดแผนทั้งระยะสั้น-ระยะยาว จากปี 2560-2564

ที่ “เป็นเรื่อง” คือ วงเงินงบประมาณทั้งระยะสั้นและยาว ตั้งเพดานไว้สูงถึงกว่า 1 แสนล้าน ทั้งงบประมาณของรัฐและงบประมาณของภาคเอกชน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อปท.-จังหวัด ซึ่งกำกับดูแลโดย “กระทรวงมหาดไทย”

เม็ดเงินกระจัดกระจายเรี่ยราดทั้งประเทศ มันล่อตะเข้

แต่ขณะที่หมูกำลังขึ้นหาบ ดันมีคนเอาคานมาสอด “ขยะ” ยังแปรสภาพเป็น “ทองคำ” ในบัดดลมิได้ มีมือดีปล่อยข่าวว่า มารคอหอยสำคัญคือ “เรกูเลเตอร์” หรือ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” เป็น “ตัวแสบ” ไม่ยอมปล่อยของนั่นเอง มีเงื่อนงำ 2-3 ประเด็น ได้แก่

“ประการแรก” โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของกระทรวงคลองหลอด จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 78 เมกะวัตต์ ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้ “เรกูเลเตอร์” พิจารณาไม่ทัน แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะขอขยายเวลาการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า แต่ได้รับการปฏิเสธ กำหนดเส้นตายวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ซึ่งผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

“ประการที่สอง” กระทรวงมหาดไทยขอขยายโควต้าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2559 (AEDP2015) จาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ แต่ “คณะกรรมการ กกพ.” ปฏิเสธอีก ไม่ขยายโควต้าตามที่เสนอมาให้

ไผเป็นไผในมหาดไทยให้มันรู้มั่ง

 

ด้วยปมเงื่อนดังกล่าว เลยเกิดขบวนการ “ลือหึ่ง” ว่า “กกพ.” เจอใบสั่งที่ทรงพลังและขมังเวทมาก เล่นงานเข้าหลายขนาน “ลือ” เป็นตุเป็นตะถึงขนาดว่า “อาจารย์วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เคยส่งเทียบเชิญ “เรกูเลเตอร์” ทั้งชุดไปพบและสะกิดให้ลาออก ชนวนมาจากไม่สนองนโยบายประเด็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาล “บิ๊กตู่”

แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า “ข่าวลือ” ก็คือ “ข่าวลือ” จะเชื่อหรือไม่ โปรดใช้วิจารณญาณ

หมากเกมนี้ จะมีใครหรือขบวนการไหนคิดจะสร้างความชอบธรรมให้ใครแล้วโยนความผิดให้คนอื่นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องน่าคิด

เพราะ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ชุดดังกล่าว แต่งตั้งตามคำสั่ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ตาม “มาตรา 44” ประกาศแต่งตั้งในครั้งนั้นจำนวน 7 คน

ประกอบด้วย 1. “นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย” ประธาน กกพ. 2. “นางดวงมณี โกมารทัต” 3. “นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ” 4. “นางวิไลพร ลิ่วเกษมศานต์” 5. “นางปัจฉิมา ธนสันติ” 6. “นายวีระพล จิระประดิษฐ์กุล” และ 7. “นายไกรสีห์ กรรณสูต”

โดย “นายไกรสีห์” ได้หมดวาระไปแล้ว 1 คน เนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ “กกพ.” เหลืออยู่เพียง 6 คน

เดิมทีการบริหารกิจการพลังงานอยู่ภายใต้ “พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535” เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วย รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ แต่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 เพื่อปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงาน

ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง “กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน”

ตาม “พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550” กำหนดให้ กกพ.อยู่ในตำแหน่งได้ครั้งละ 6 ปี แต่เมื่อครบ 3 ปี ต้องจับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ 6 ปี และให้มีการสรรหาบุคคลอื่นทดแทนบุคคลที่จับสลากออก

“กกพ.ชุดปัจจุบัน” แต่งตั้งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ทำงานมาครบ 4 ปีเต็มแล้ว แต่ไม่มีการจับสลากออกตาม พ.ร.บ. อ้างว่าได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องจับสลากออก

เนื่องจากได้รับแต่งตั้งมาจากคำสั่ง คสช. มาโดย “มาตรา 44”

สรุปว่ามาตามช่องมาตรา 44 ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยมาตรา 44 ใช่หรือไม่