คำ ผกา : อาหาร นายทุน คนจน และรัฐ

คำ ผกา

เราควรเก็บภาษีน้ำตาลแค่ไหน?

เราควรแบนไขมันทรานส์ไหม?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ใดๆ ในโลกล้วนเป็นภัยต่อร่างกาย หากมีการบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

และมันน่าสนใจมากว่า “รัฐ” ได้เข้ามากำกับการบริโภค และเข้ามาดูสุขภาพของพลเมืองของตนอย่างไร

เพราะการเข้ามากำกับดูแลของรัฐนั้น มันไม่ได้มีแต่มิติสุขภาพ แต่มีมิติทาง “เศรษฐกิจ”

และเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับรายได้และรายจ่ายของรัฐด้วย เช่น รัฐมีรายได้จากภาษี เหล้า บุหรี่ ขณะเดียวกันก็มีรายจ่ายจากการสร้างโรงพยาบาล ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาโรคภัยของพลเมือง

น่าสนใจไปกว่านั้นคือ สิ่งที่เป็น “ภัย” ต่อสุขภาพของพลเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกันเสียด้วย

ในยุคหนึ่ง ภาพคนสูบบุหรี่เป็นภาพแฟชั่น หญิง-ชายเก๋ๆ สูบบุหรี่ เป็นภาพโปสเตอร์ติดตามฝาผนังบ้าน ร้านขายของชำ เป็นเรื่องปกติ

ตัวฉันเองเกิดมาในยุคที่ในสังฆทานถวายพระนั้นต้องมีทั้งบุหรี่และไม้ขีดไฟ

สุรานั้นซับซ้อนกว่าบุหรี่ เพราะมีสุราพื้นบ้านโฮมเมด เหล้าโรง วิสกี้ บรั่นดี ไวน์

อ่านวรรณกรรมไทยย้อนหลังไปสักห้าสิบปี จะเห็นว่า เหล้าโรง เหล้ากลั่นนั้นเป็นสมบัติของกรรมาชีพที่ยากจน

ส่วน “สุรานอก” นั้นเป็นสัญลักษณ์ของความโอ่อ่า ร่ำรวย และรสนิยมที่ละเมียดละไม พระเอกของ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่วนมากก็ปากคาบบุหรี่ มือถือแก้ววิสกี้

โฆษณาที่ทำออกมาสวยๆ เก๋ๆ ดูหรูหรา มีรสนิยม ก็ต้องเป็นโฆษณาเหล้านอก ปฏิทินที่อยากสะสมก็เป็นปฏิทินเหล้านอก

บ้านชนชั้นกลางที่เริ่มมีอันจะกิน ก็ต้องมีตู้โชว์เหล้า หรือตู้โชว์ขวดเหล้า นัยว่าเป็นการแสดงสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สสส. ประสบความสำเร็จในการทำให้เหล้าและบุหรี่กลายเป็นปีศาจร้ายในสังคมไทย (สอดคล้องกับเทรนด์ทางสุขภาพของหลายประเทศ ที่บุหรี่กลายเป็นของน่ารังเกียจหนักกว่าเหล้าและเบียร์เสียอีก อันเนื่องมาจากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร)

เรื่องเหล้ากลับเข้าใจง่ายขึ้น ว่าการดื่มอย่างมีรสนิยมของชนชั้นกลางเรื่อยไปจนถึงการดื่มไวน์และสุราราคาแพงลิบของชนชั้นสูงนั้น ไม่เป็นปัญหาทางจริยธรรม แถมยังดูดี มีรสนิยม

แต่ภาพลักษณ์ของการดื่มเหล้าที่มีปัญหานั้นเป็นการดื่มของคนจน คนใช้แรงงาน และเด็กวัยรุ่น

ด้วยเหตุผลว่า สุราเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรงในครอบครัว การตบตีลูกเมีย และเป็นสาเหตุหลักของความยากจน

สสส.และรัฐไทยประสบความสำเร็จระดับหนึ่งทั้งการทำให้เหล้าและบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความผิดบาป

ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จในการใช้กลไกทางภาษี และการกำหนดเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการไม่สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการทำเหล้า ไวน์พื้นบ้าน

คงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำซากว่าในหลายประเทศที่แบนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงนั้น ทำให้คนเลิกกินเหล้ากินยาได้จริงหรือไม่

เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ในประเทศที่การบริโภคเหล้ายาปลาปิ้งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เหล้ายาปลาปิ้งทั้งหลายก็แค่ย้ายจากการขายบนดินไปขายในตลาดมืด

ทำให้เหล้ายิ่งมีราคาแพง พร้อมๆ กับที่เหล้ามีราคาแพง ต้องลักลอบขาย สิ่งที่ตามมาคือ มีแต่คนที่มี “อภิสิทธิ์” มีเส้น มีสาย คอร์รัปชั่นทางใดทางหนึ่ง จ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐบ้างอะไรบ้าง เป็นคนที่สามารถซื้อ-ขายเหล้าได้

อีกทั้งยังมีการทำเหล้าเถื่อน เหล้าปลอม เหล้าด้อยคุณภาพเพื่อเอามาลักลอบขายคนจนอีก

ดังนั้น การทำให้สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมาย นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดช่องทางแห่งการคอร์รัปชั่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ มากขึ้นไปอีก

และคงไม่ต้องพูดซ้ำซากว่า วิธีที่จะไม่ให้คนเป็นทาสของสุราหรือยาเสพติดอื่นใดอย่างยั่งยืนที่สุดคือ ต้องให้คนมีความสุข!

การสร้างพื้นที่สาธารณะ และการจัดการให้คนมีสิทธิในการเข้าถึงกิจกรรมสันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ และสุนทรียศาสตร์ในทุกมิติ

อีกทั้งการสร้างความกินดีอยู่ดี การสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่พลเมือง คือหัวใจที่จะทำให้คนไม่จำเป็นต้องไปพึ่งเหล้ายาที่ไหน

ไม่เพียงเท่านั้น หากประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข มีการใช้เวลาของชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ การบริโภคเหล้ายาปลาปิ้งจะเป็นการบริโภคเพื่อสุนทรียะ บริโภคเพื่อความรื่นรมย์ สวยงามของชีวิต ไม่ใช่บริโภคเพื่อ “ดับทุกข์”

แต่ในสังคมไทย อย่าว่าแต่สิทธิที่จะเข้าถึงกิจกรรมสันทนาการ คนจนบ้านเราลงไปงมหอยในคูเมืองยังถูกจับ เพราะเป็นเขตอภัยทาน!

คิดดู ชีวิตหอยในคู ยังได้รับการอภัยทาน

แต่ชีวิตคนทั้งคน แค่ไปจับหอยมากินกลับผิดกฎหมาย

ชีวิตที่ไร้ตัวตน ไร้ค่าเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจะหันไปหาเหล้าคุณภาพต่ำ ราคาถูก เป็นที่พึ่ง

หลังจากจัดการกับเหล้าและบุหรี่แล้ว เทรนด์ต่อมาของโลกคือการจัดการกับน้ำตาล

อ้อยและน้ำตาลเคยเป็นสินค้าที่มีค่าถึงขั้นเป็นตัวแปรสำคัญของการบริหารประเทศอาณานิคม ในยุคหนึ่งการบริโภคน้ำตาลหมายถึงการเป็นผู้มีอันจะกิน

และในประเทศไทยเอง น้ำตาลเป็นหนึ่งในอาหารห้าหมู่ที่ต้องกินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

และอย่าลืมว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของไทยเลยทีเดียว

อนิจจัง สังขารไม่เที่ยง ในยุคหนึ่ง น้ำตาลทรายขาวคือของดี และน้ำอ้อย น้ำตาลมะพร้าว คือของ “บ้านนอก”

แต่มาวันนี้ น้ำตาลขาวๆ กลายเป็นสิ่งอันตรายต่อสุขภาพ วิญญูชนพึงบริโภคน้ำตาลไม่ฟอกขาว น้ำตาลโตนดแท้ๆ หรือน้ำอ้อยแท้ๆ น้ำผึ้งแท้ๆ กันเถอะ

สูตรขนมต่างๆ ก็มีอันต้องปรับสูตรกันจ้าละหวั่น ทั้งปรับลดน้ำตาลลงกว่าครึ่ง

ทั้งทดแทนน้ำตาลทรายขาวด้วยน้ำตาลธรรมชาติ

เว้นแต่ขนมหลายย่างที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลอื่นใดได้นอกจากน้ำตาลทรายขาว

แต่ในท่ามกลางลางความพยายามจะจัดการกับ “น้ำตาล” ในฐานะที่เป็นผู้ร้ายทางสุขภาพ สิ่งที่หายไปคือความรู้เกี่ยวกับน้ำตาลนั่นเอง เช่น เราแทบไม่รู้เลยว่า ในโลกนี้มีน้ำตาลทั้งหมดกี่ชนิด น้ำตาลชนิดไหนเหมาะสำหรับทำอาหาร ขนมชนิดใด ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เคมีของอาหารอย่างไร?

ผลที่เกิดขึ้นคือ มีคนเอาน้ำตาลปึกไปใช้กับอาหารที่ควรใช้น้ำตาลทราย เอาน้ำตาลทรายไปใช้กับอาหารที่ควรเป็นน้ำตาลปึก

เราไม่รู้ว่าน้ำเชื่อมข้าวโพดต่างจากน้ำเชื่อมจากน้ำตาลอย่างไร

สารทดแทนความหวานมีประโยชน์และโทษอย่างไร น้ำผึ้งต่างจากน้ำเชื่อมเมเปิลอย่างไร น้ำผึ้งป่าต่างจากน้ำผึ้งอุตสาหกรรมอย่างไร

และในความไม่รู้ทั้งหมดนี้ สิ่งที่ควรหวานกลับไม่หวาน สิ่งที่ไม่ควรหวานก็กลับหวาน

เช่น เวลากินขนมขอหวานน้อยๆ แต่เวลากินอาหาร ไม่ได้รู้เลยว่าอาหารไทยทุกวันนี้ หวานนำหน้าขนมไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาษีน้ำตาลดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่น้ำอัดลม ขนม น้ำชาบรรจุขวด และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ โดยเชื่อว่า ราคาของเครื่องดื่มและขนมหวานๆ ที่แพงขึ้น จะทำให้คนกินหวานน้อยลง

ฟังดูก็เข้าท่า และจากข้อมูลของหลายๆ ประเทศก็บอกว่า หลังจากเก็บภาษีน้ำตาล โรคอ้วนในประชากรลดลง การบริโภคน้ำตาลของประชากรลดลง

แต่ฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยการมองสุขภาพเชิงเดี่ยวแบบนี้ เช่น คนอ้วน คนป่วย เพราะ “น้ำตาล” ดังนั้น เราควรเก็บภาษีน้ำตาล

อาหารไทยที่ทุกวันนี้หวานจนแทบอ้วก – อยากรู้ว่าแทบอ้วกอย่างไร ลองทำอาหารกินเอง แล้วเลิกกินอาหารนอกบ้านสักสองอาทิตย์ แล้วอาหารที่ทำกินเองให้งดการใส่น้ำตาล หรือใส่เพียงน้อยนิดเพื่อตัดรสให้กลมกล่อมเท่านั้น

กินอย่างนี้ไปต่อเนื่องสองอาทิตย์ แล้วลองไปกินอาหารนอกบ้าน จะพบว่า ตักแกง หรือผัด หรือต้มใดๆ จากร้านตามสั่ง หรือร้านข้าวแกง หรือร้านอาหารไทยที่ว่ากันว่าอร่อยเหลือเกินในเกือบทุกร้านนี่แทบจะต้องบ้วนออกมาเพราะตกใจในความหวาน

แถมยังเป็นความหวานที่แปลกมาก คือหวานแหลม หวานตรงไปตรงมา บางทีมีหวานเจือขม

เหตุที่อาหารไทยหวานขึ้นเรื่อยเพราะความถดถอยของคุณภาพวัตถุดิบที่สดน้อยลง หรือการเพาะปลูกที่เร่งปุ๋ย เร่งยา จนหารสชาติผักไม่เจอ

วิธีที่ง่ายที่สุดทำรสให้จัดและให้หวานเข้าไว้

ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทุกวันนี้ แต่ละชามประเคนน้ำตาลลงไปหนึ่งช้อนโต๊ะพูนๆ ทุกร้าน

อีกสาเหตุหนึ่งของความล่มสลายของอาหารไทยคือ ความพยายามใช้ผงปรุงรสและน้ำตาล แทนการใช้ผงชูรส – เนื่องจากผู้บริโภคเกลียดกลัวผงชูรส

คนทำอาหารขายจึงเลี่ยงบาลีด้วยการใช้ผงปรุงรสสังเคราะห์ต่างๆ ที่เหม็นอย่างน่าสะอิดสะเอียน และใช้น้ำตาลแทนเสียเลย

ตัวฉันเองเวลากินอาหารตามสั่ง เลยต้องบอกว่า ผัดกะเพราไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่ผงปรุงรส แต่ใส่ผงชูรสได้

โห ชีวิตดีขึ้นเยอะ

พล่ามๆ มายาวๆ นี้เพื่อจะบอกว่า การเก็บภาษีน้ำตาลไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองเท่ากับจัดการระบบเศรษฐกิจของประเทศให้คนสามารถเข้าถึงอาหาร วัตถุดิบการทำอาหาร ที่มีคุณภาพ ที่สด สะอาด ปลอดภัย

ถ้าคนสามารถเข้าถึงน้ำผลไม้สด คุณภาพดี สะอาด ราคาถูก การบริโภคน้ำอัดลมหรือน้ำชาบรรจุขวดหวานเจี๊ยบจะลดน้อยลงเอง

และหากคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรู้เรื่องอาหาร มีเวลาทำอาหารกินเองที่บ้าน (ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะเดี๋ยวจะหาเงินได้ไม่พอกิน และใช้เวลาวันละสามชั่วโมงไปบนท้องถนน) คนจะสามารถจัดการกับภาวะโภชนาการของตนเองและครอบครัวได้

โดยไม่จำเป็นต้องมีภาษีน้ำตาลมากำกับให้ดูเหมือนเป็นรัฐฟาสซิสต์ที่พยายามจะเข้ามาสอดส่องไปให้ถึงกระเพาะอาหารและลำไส้ของพลเมือง

ปัญหา “อันตราย” ของอาหารนั้นเป็นปัญหาของ “คนจน” โดยแท้

คนจนคือคน “ไม่มีเวลา” เพราะหากไม่ใช้เวลาไปกับโหนรถเมล์ เบียดรถตู้ ระหกระเหินกับรถติดเป็นบ้าเป็นหลังในเมืองใหญ่

คนจนคือคนที่ต้องทำงานมากกว่า 1 กะต่อวัน คนจนคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีชีวิตเสี่ยงกับการกินอาหารไม่สะอาด ของทอดน้ำมันดำๆ ซ้ำไปซ้ำมา ไม่ได้ออกกำลังกาย ต้องการคลายเครียดด้วยการกินกาแฟเย็นหวานๆ ใส่นมข้นเยอะๆ หรือน้ำแดง น้ำเขียวผสมโซดา แช่ในกระติกน้ำแข็งใบโตๆ

การเก็บภาษีน้ำตาลไม่ได้ทำให้คนจนกินน้ำตาลลดลง แต่พวกเขาก็แค่มาชงน้ำหวานกินเองที่บ้าน ชงกาแฟทรีอินวันกินเองที่บ้าน จะเอาหวานเท่าไหร่ก็ได้

วันทั้งวันมาทำงานก็เหนื่อยจะตาย เครียดจะตาย

ถ้าเครื่องดื่มสำเร็จรูปบรรจุขวด น้ำอัดลมมันแพงนักก็ชงกินเองนี่แหละ สะใจดี

กลับมาที่จุดเดิม – ถ้าทำให้คนมีความสุข พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องทดแทนความหอมหวานในชีวิตด้วย “น้ำตาล” แรงๆ หรอก

คนมีสตังค์ ร่ำรวย ไม่เครียด มีเวลาไปโยคะ พิลาทิส เข้ายิม ตระเวนไปตามฟาร์มเมอร์มาร์เก็ตต่างๆ ซื้อผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ สั่งผลไม้พรีเมียม ออร์แกนิกจากสวน กินน้ำผึ้งจากนิวซีแลนด์ กินเกลือจากหิมาลัย กินเนยฝรั่งเศส เดนมาร์ก กินเนื้อวัวที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าธรรมชาติ กินเนื้อกวางนำเข้า กินไก่ป่า – คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตไปข้องแวะกับน้ำตาลในอาหารกะหลั่วๆ หรือทรานส์แฟตในโดนัทกากๆ

(เว้นแต่นานๆ จะกินสักครั้งเพื่อป่าวประกาศว่าชั้นก็ติดดินนะจ๊ะ) เพราะมีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารดี มีคุณภาพ จะดื่มเหล้าดื่มไวน์ ยังเป็นไวน์ออร์แกนิก

แต่คนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนในเมือง ที่ต้องพ่วงเอาความจนทางเวลาไปด้วย พวกเขากินขนมปัง คุกกี้ ในราคาถูกแสนถูก มันถูกอยู่ได้เพราะใช้ไขมันทรานส์ล้วน และนอกจากน้ำตาล ยังเต็มไปด้วยสารเสริมคุณภาพ อันไม่มีคุณประโยชน์ใดๆ ต่อร่างกาย

ชีวิตของพวกเขาต้องกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง กินปาท่องโก๋ทอด กินหมูเจียงฮายที่แผงลอยหน้าแคมป์ก่อสร้าง กินแซนด์วิชหมูหยอง ที่อยู่ในร้านชำได้สามเดือนไม่เน่าไม่เสีย ลูกเต้าพวกเขาอยากกินขนมปัง ขนมเค้ก ก็ล้วนแต่ทำจากเนยขาว เนยเทียม มาร์การีน ในคุณภาพต่ำที่สุด

ใช่ – สิ่งเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพเลย แต่ถ้าแบนสินค้าเหล่านี้ เรามีอะไรไปทดแทนให้เขา และเรามีแผนจะให้พวกเขาเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยได้อย่างไร?

ฉันเคยเขียนหลายครั้ง เอาแค่ถั่วงอกที่ไม่ปนเปื้อนในท้องตลาด หรือจะเอาชีวิตเราให้รอดจาก “มะนาวปลอม” ชนชั้นกลางอย่างไร ยังไม่รอด แล้ว “คนจน” จะเข้าถึงภาวะโภชนาการที่ดีและปลอดภัยได้อย่างไร หากมาตรการของเรามีแค่การแบนและการขึ้นภาษี

ย้ำว่าตัวฉันเองรู้ว่า ไขมันทรานส์ไม่ดี น้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เราคือคนที่มีอภิสิทธิ์ในสังคม มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอจะไม่กินของเหล่านี้ มีปัญญาซื้อเนยดีกิน มีเวลามาตะบอยเจียวกากหมูทำน้ำมันหมูใหม่ใช้เองตลอดเวลา และมีความสุขในชีวิตมากพอจะกินแต่กาแฟดำ ไม่ต้องพึ่งความหวานจากขนม และกระแดะพอจะไม่สามารถทนรสชาติครีมเทียม หรือครีมที่ตีจากเนยขาวบนหน้าเค้กกะหลั่วๆ

แต่คำถามคือ คนร้อยละแปดสิบของประเทศไม่ได้มีความฟุ่มเฟือยแบบนี้ และร้อยละสิบของประเทศก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารถูกหลอกให้จ่ายแพงเพื่อกินของที่ทำมาจากวัตถุดิบราคาถูก

หรือใจคอจะให้เรากินแค่ข้าวคลุกน้ำพริก – อ้อ ได้ข่าวว่าพริกนี่ตัวดีนะ ยาฆ่าแมลงตกค้างสูงสุด

นี่ยังไม่ได้พูดเรื่องอิทธิพลของนายทุน พ่อค้าในอุตสาหกรรมอาหารและยาจะมากำหนดวาระและนโยบายของรัฐว่าจะให้พลเมืองกินอะไร ไม่กินอะไร?

การแบนไขมันทรานส์ที่กระเทือนอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนมาถึงสินค้าจากร้านสะดวกซื้อน่าจะหายไปจากชั้นกว่าร้อยละแปดสิบหรือไม่?

ฉันคิดว่าไม่ เพราะสุดท้ายจะอยู่ที่การกำหนดตัวเลขว่าจะมีไขมันทรานส์ได้ไม่เกินร้อยละเท่าไหร่? และไม่มีวันที่นายทุนจะไม่สามารถ “จัดการ” ได้กับเงื่อนไขนี้

คนจนยังต้องกินของคุณภาพเลว

นายทุนยังขายของคุณภาพเลว กำไรสูงให้คนจน

รัฐยังได้ความดีความชอบในการอ้างว่าทำไปเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนนะคะ