มุกดา สุวรรณชาติ : ประชาธิปัตย์…ต้องตัดสินใจ ‘ชวน หลีกภัย’ ต้องออกโรงเอง

มุกดา สุวรรณชาติ

ทุกสายตาของผู้สนใจการเมืองวันนี้จับจ้องไปที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเอายังไงกันแน่

นอกจากมองไปที่ภาพรวมของพรรค ก็ยังมองไปที่แกนนำของ ปชป. คนสำคัญเพราะคนเหล่านี้ผ่านโลกมาไม่น้อย รู้ดีรู้ชั่ว มีประสบการณ์ เล่ห์เหลี่ยมการเมือง เหลือแต่เพียงจะตัดสินใจทำอย่างไรเท่านั้น

แต่เดิมผู้คนจ้องมองไปที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นอดีตนายกฯ และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

แต่หลายเดือนที่ผ่านมายังไม่มีปฏิกิริยาอะไรที่ชัดเจน

วันนี้สายตาทุกคู่จึงเลื่อนผ่านไปจับจ้องที่ผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่นับถือของสมาชิกพรรคและบุคคลทั่วไป

นั่นคือ คุณชวน หลีกภัย ผู้ยืนยันว่ายึดมั่นในระบบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตย

วิเคราะห์เส้นทางเดินของประชาธิปัตย์ (ปชป.)

การวิเคราะห์ครั้งนี้ เป็นความเห็นของผู้อยู่วงการเมืองมาไม่น้อยกว่า 45 ปี ซึ่งมองว่าในเกมสามก๊กคนฉลาดต้องเดินงานแนวร่วมเป็นหลัก…

ถ้ามองภาพของ ปชป. 10 ปีหลังนี้ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่โดดเด่น มีเรื่องเสมอตัวกับเรื่องที่ติดลบ วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่ ปชป. จะพิสูจน์จุดยืนของพรรคว่าจะเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยแค่ไหน

จะกล้าสู้ กลัวจนถอย ฉวยโอกาส หรือยืนหยัดหลักการประชาธิปไตย

ในแง่ตัวบุคคล ปชป. ยังมีอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ซึ่งเคยอยู่ในฐานะสูงสุดระดับเทพของพรรค แม้มีพื้นฐานมาจากชาวบ้านธรรมดาแต่ก็ร่ำเรียนจบจาก ม.ธรรมศาสตร์ รู้กฎหมาย รู้การเมือง ผ่านการต่อสู้ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานและช่วงเผด็จการครองเมืองมาหลายยุค อีกไม่กี่วันคุณชวนก็จะอายุครบ 78 ปีแล้ว

มองในแง่อาวุโส ซึ่งในที่นี้หมายถึงอาวุโสทางการเมือง คุณชวน ได้เป็น ส.ส. ตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งสมัยแรกก็มีชื่อเสียงแล้ว ขณะนั้นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเรียนไม่จบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพิ่งเรียนจบเป็นผู้หมวด อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังเรียนชั้นอนุบาล

ความสามารถในการแยกแยะ อธิบายเหตุผล ต่อกลุ่มต่างๆ ของคุณชวนย่อมทำได้อย่างไม่น่าเกลียด โดยมองการเมืองในอนาคตและยึดถือผลประโยชน์ความสุขและความเดือดร้อนของประชาชน

คุณชวนรู้ดีว่าการตัดสินใจของ ปชป. ครั้งนี้จะมีผลต่อการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่จะให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเลือกนายกฯ ได้

ถ้าทั้งสองอย่างผ่านด่านนี้ไปได้จะมีผลทางการเมืองต่อเนื่องไปอีกหลายปีข้างหน้า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแก้ไขง่ายๆ ถึงขนาดบางคนบอกว่าไม่ชอบก็ไม่มีโอกาสแก้ไขได้เลยเพราะทั้งนักการเมืองและ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะต้องพร้อมใจกันแก้ไขจึงจะสำเร็จ

แต่จะมี ส.ว. ที่ไหนแก้ไขให้ตัวเองหลุดจากวงจรอำนาจ

ยังมีปัญหารายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายซึ่งจะส่งผลต่อการเมืองการปกครอง การบริหาร การใช้อำนาจตุลาการอย่างยุติธรรม แม้แต่การดำเนินงานในรัฐสภา ทั้งหมดนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้เหลือแต่เพียงว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่

แต่ประชาชนเองก็ยังงงอยู่ว่าประเด็นที่ขัดแย้งต่างๆ มีอะไรบ้าง มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร หลายคนจึงมองกลับไปหาผู้นำที่พวกเขาเชื่อถือว่าจะรู้เรื่องและอธิบายเหตุผลให้ฟังอย่างไร

ปัญหาของ ปชป.

แต่การตัดสินใจของ ปชป. ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2550 จะพบว่า ปชป. ติดอยู่บนรถด่วนขบวนนี้นานแล้ว แม้มีตู้นอน ตู้เสบียง มีคนบริการ แต่ก็ยังวิ่งวนอยู่ในวงจรเก่าไปไม่ถึงเป้าหมาย เมื่อมาถึงวันนี้คนขับรถเปลี่ยนใหม่ ทิศทางที่รถวิ่งไปดูแล้วจะเกิดอันตราย ก็ควรลงจากขบวนรถ ที่สถานีประชามติ

ท่าทีล่าสุด…แกนนำ ปชป. วิจารณ์จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญออกมาหลายเรื่องแต่ก็ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะพูดชัดก็คือประเด็นคำถามพ่วงในบทเฉพาะกาลที่จะให้ ส.ว. 250 คนนี้มีสิทธิ์ลงมติเลือกนายกฯ ได้มีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจและให้ลงมติได้เช่นเดียวกับ ส.ส. ซึ่งเรื่องนี้ ปชป. มีจุดยืนว่าจะไม่รับมาตั้งแต่ต้น

แต่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งแยกตัวออกจากประชาธิปัตย์และเป็นแกนนำ กปปส. กลับยืนยันว่าทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และคำถามพ่วง สามารถรับได้เป็นสิ่งที่ดี

เรื่องนี้จึงทำให้มวลชนทั่วไปไม่แน่ใจว่าสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไรกันแน่สำหรับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญออกมาบ้างแต่ดูแล้วก็ยังลังเลรีรอ คงมีความอึดอัดหลายเรื่องเพราะอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ไปผูกพันกับคุณสุเทพและกลุ่มนำ คสช. ตั้งแต่ปี 2552 และ 2553 ทั้งเรื่องการบริหารและเรื่องการสลายการชุมนุมซึ่งมีผู้บาดเจ็บหลายพัน เสียชีวิตร่วมร้อยคน

ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองหลายคนมองว่าในขณะที่อภิสิทธิ์พูดไม่ออกบอกไม่ได้ พรรคก็ไม่สามารถเปิดประชุมเป็นทางการ และมีมติได้ แต่แกนนำปรึกษากันได้ และแสดงความเห็นได้ คุณชวนซึ่งมีคนเชื่อถือมากมายควรจะกล้าแสดงความเห็นที่ชัดเจนให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้

ประวัติศาสตร์จะต้องบันทึกการเมืองในช่วงนี้ไว้ เพราะมีความสำคัญมาก และจะบอกว่าใครเดินถูกทางผิดทาง ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญการเมืองมองว่าวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่เกิดขึ้น ก็จะมาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติหรือฉบับใหม่ถ้าฉบับนี้ไม่ผ่าน

แต่ขณะนี้มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้โหดพอสมควร

ถ้าได้ของใหม่มาถึงอย่างไรก็ไม่โหดไปกว่านี้ คำกล่าวของ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ฟังแล้วหลายคนบอกว่าที่โหดกว่าอาจจะอยู่ในกฎหมายลูกเพราะเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ผ่านก็เท่ากับเป็นการอนุมัติให้พวกเขาร่างกฎหมายลูกเพื่อมาสนับสนุนเป้าหมายการเมืองการปกครองซึ่งประกาศอย่างแจ่มชัดแล้วว่าจะขอปกครอง 5 ปีและอาจต่อเนื่องถึง 20 ปี

ถ้า ปชป. ยึดหลักการก็จะต้องทะเลาะกับมิตรเก่า
ถ้า ปชป. รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
จะมีผลดีผลเสียอย่างไร

1.ถ้าคุณชวนแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามหลักประชาธิปไตย ก็จะมีผลผลักดันให้คนส่วนที่เชื่อมั่นใน ปชป. พิจารณาเหตุผลที่เหมาะสมไปลงประชามติ ตามแนวทางประชาธิปไตย เสียงที่สนับสนุนสองพรรคใหญ่เมื่อรวมกันคงมากกว่า 60%

2. ถ้าร่าง รธน. ไม่ผ่าน ปชป. จะต้องผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าร่างเดิมร่วมกับพรรคการเมืองและกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอื่น กู้ภาพการเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมาให้ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ก็น่าจะอยู่ในรูปแบบที่ ปชป. ไม่เสียเปรียบ

ถ้าการเมืองสามารถเดินไปได้อย่างต่อเนื่อง ปชป. จะได้เกียรติภูมิว่าได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยช่วงชิงคนกลางให้กลับมาสนับสนุน ชื่อเสียงของพรรคและตัวบุคคลก็จะดีขึ้นกว่าเดิม ย้อนหลังไปในการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535 และก่อนหน้านั้น ปชป. ก็ได้ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับแรงกดดันที่มาจากคณะรัฐประหาร รสช. และก็ทำได้สำเร็จ

3. ถ้า ปชป. หันไปรับร่าง รธน.ฉบับนี้ให้ผ่าน แบบคุณสุเทพ แต่ผลออกมาคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ผ่านประชามติ จะเกิดผลเสียหายทางการเมืองกับ ปชป. และฝ่ายนำอย่างมาก ชื่อเสียงที่สะสมมาในอดีตก็จะพังลงในครั้งนี้ เช่นเดียวกันข้อมูลที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์จะไม่น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง

หรือถ้าสนับสนุนแล้วผ่าน ก็จะต้องยอมรับแรงกดดันทางการเมืองที่ไปเปิดช่องว่างของอำนาจ และถ้าไปมีปัญหาขัดแย้งจนเกิดเรื่องราวใหญ่โตไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้งมันก็จะเป็นผลเสียเหมือนเมื่อผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล รสช. ในปี 2535 ทำให้เสียอำนาจและเสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน

4. ปชป. สามารถวางเฉยได้หรือไม่? ท่าทีแบบนี้เป็นท่าทีของพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก บางพรรคที่จะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมรัฐบาล แต่พวกเขาทำเป็นวางเฉย ไม่แสดงการสนับสนุนออกนอกหน้า เพราะพวกเขาก็รู้เรื่องประชาธิปไตย และอ่านรัฐธรรมนูญเป็น จึงรู้จุดมุ่งหมาย แม้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่รับแบบเงียบๆ ดีกว่า จะสังเกตได้ว่า มีน้อยคนมาก ที่แสดงออกว่า รธน. นี้ดี และประกาศเปิดเผย นอกจากนี้ ยังไม่มีใครที่จะออกมารับคำท้าดีเบต ข้อดีข้อเสีย กับฝ่ายไม่รับ แม้แต่รายเดียว

ถ้า ปชป. นิ่งเฉยจนถึงวันลงประชามติก็คือการยอมรับเหมือนพรรคเล็ก

นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่ทั้งพรรคและแกนนำต้องตัดสินใจ ว่าจะให้อำนาจแก่ประชาชน หรือคณะบุคคล

สถานการณ์จริงที่ทำให้ทุกฝ่ายดิ้นรน

ที่จริงแล้วหลายฝ่ายก็แอบทำแบบสอบถามในระดับทั่วประเทศ และประเมินผลมาแล้ว แต่ปิดบังไว้ มีตัวเลขอยู่ในมือซึ่งผลก็คือสูสีกันมากใกล้เคียงจนเป็นที่วิตกทั้ง 2 ฝ่าย ตัวเลขคล้ายกับ Brexit จะเห็นได้จากปฏิกิริยาที่ฝ่ายค้านก็รีบออกมาเคลื่อนไหว ฝ่ายที่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านก็พยายามสกัดการเคลื่อนไหวทุกวิถีทาง แต่ตัวเลขนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกวันจนถึง 7 สิงหาคม

หัวข้อที่ถกเถียงยังไม่เข้าประเด็นหลัก แต่กลายเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งๆ ที่ควรจะถกกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอย่างไรทำไมถึงรับหรือไม่รับ ตอนนี้ก็กลับมาเถียงกันว่าสิทธิการรณรงค์ไม่ผิดกฎหมาย ผู้มีอำนาจไม่ควรมาห้ามเพราะนี่เป็นวิถีทางในการทำประชามติทั่วโลกอะไรทำนองนี้

กกต.ไทย คงจะได้รับการบันทึกว่าเป็นประเทศเดียวที่ก่อนการลงประชามติ รธน. ต้องเถียงกันเรื่องสิทธิการรณรงค์ และจับผู้ที่ออกความเห็น ถึงขนาดล่าสุดมีการจับนักข่าวแล้ว ที่ยังไม่ถูกจับคือ ส.ส. ประเทศเยอรมนี ที่มาวิจารณ์ร่าง รธน. ถ้าเป็นอย่างนี้ไปจนหมดเวลา ถามว่า เป้าหมายการลงประชามติที่แท้จริงคืออยากให้คนมาออกเสียงกี่เปอร์เซ็นต์

ไม่ต้องกังวลเรื่อง รธน. ที่จะมาทดแทน คสช. ยืนยันแล้ว ถ้าร่าง รธน. ไม่ผ่าน ก็สามารถจัด รธน.ใหม่และเลือกตั้งได้ทันตามโรดแม็ป

ทีมวิเคราะห์มองว่า รธน.ใหม่จะปรับเนื้อหาตามสถานการณ์การเมือง ตามที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ บอกแล้วว่าจะร่างใหม่แบบที่ประชาชนพอใจ ถึงอย่างไรกลุ่มอำนาจใหม่ก็จะไม่มีทางไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว โอกาสของ ปชป. จึงมีมากกว่าทุกพรรค

ปี 2534 ผู้อาวุโสที่วิเคราะห์เรื่องนี้ ไปฟัง ชวน หลีกภัย (เจ้าเก่า) ปราศรัยที่สนามหลวง ซึ่งมีคนกว่า 50,000 รวมตัวกันต้าน รธน. ของ รสช. คุณชวนสามารถพูดจนคนลุกขึ้นยืนชูมือชูกำปั้นทั้งสนามหลวง

ด้วยระบบสื่อสารยุคใหม่ คราวนี้ไม่มีการชุมนุมเกิน 5 คน ชาวบ้านที่ยังไม่เห็นรัฐธรรมนูญ และไม่ค่อยรู้เรื่อง ขอเพียงช่วยสรุปเหตุผลว่าทำไมควรรับหรือไม่ควรรับ แล้วพวกเขาจะใช้สมอง และใช้ปากกาตัดสินเอง