คำ ผกา : อยู่ทำไมตายดีกว่า?

คำ ผกา

มีปัญหาที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับ “สังคม” และยิ่งในยามที่บ้านเมืองของเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สาระของข่าวนั้นหนีไม่พ้นเรื่อง “การเมือง” และการเมืองของเรายามนี้ก็มีเรื่องให้ต้องพูดถึงมากเสียจน ปัญหาอื่นๆ ในสังคมกลายเป็น “เรื่องเล็ก”

หนึ่งในเรื่องเล็กที่ว่านั้นคือเรื่องการ “ฆ่าตัวตาย”

จากสถิติ ประเทศไทยยังถือว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายไม่มากนัก นั่นคือ อยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก

สามอันดับแรกคือ 1. กายอานา (Guyana) อัตราการฆ่าตัวตาย 44.2 ต่อประชากรแสนคน

2. เกาหลีใต้ (Republic of Korea) อัตราการฆ่าตัวตาย 28.9 ต่อประชากรแสนคน

3. ศรีลังกา (Sri Lanka) อัตราการตัวตาย 28.8 ต่อประชากรแสนคน (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 16 ต่อ 100,000 คน)

คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน อัตราเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 รายต่อประชากร 1 แสนคน อยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก

กรณีของกายอานา กลุ่มอาชีพที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ เกษตรกร และแน่นอนเครื่องมือที่ใช้ในการฆ่าตัวตายคือยาฆ่าแมลงอันเป็นของใกล้มือผู้ทำอาชีพเกษตรนั่นเอง

ถามว่าทำไมเกษตรกรจึงฆ่าตัวตายสูง คำตอบคงเป็นสิ่งที่คนไทยเข้าใจได้ทันที นั่นคือ ปัญหาความยากจน จากนั้นคือการติดสุราเรื้อรัง ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงจิตแพทย์ เพราะทั้งประเทศมีจิตแพทย์ทำงานเต็มเวลาไม่ถึง 10 คน ไม่มีสายด่วนฮ็อตไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต

มิหนำซ้ำผู้ที่มีปัญหาทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า จะถูกอธิบายว่าเป็น “แม่มด”

เมื่อกลายเป็นแม่มดเสียแล้วก็จะถูกซ้ำเติม กีดกันจากชุมชน และนั่นยิ่งซ้ำเติมผู้มีปัญหาทางจิตให้เลวร้ายลงไปอีก และแน่นอนว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายง่ายขึ้น

และอยากตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากเกาหลีแล้ว สิบอันดับแรกของประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ล้วนแต่เป็นประเทศยากจน มีความเป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างต่ำ

หลายประเทศมีความขัดแย้งและสงครามภายในประเทศดำเนินต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ลิทัวเนีย, ซูรินาเม, เนปาล, แทนซาเนีย, คาซัคสถาน และบุรุนดี

เพราะฉะนั้น จึงอยากตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ความยากจนในระดับปัจเจก มีส่วนในการทำให้ชีวิตมีความเครียด และตัดสินใจฆ่าตัวตาย

(ในกรณีของไทย เรามักได้ยินข่าว ชาวสวนยาง เกษตรกร ชาวนา ฆ่าตัวตายมากในปีที่ราคาผลผลิตตกต่ำ)

ความเป็นประชาธิปไตยนั้นเกี่ยวพันกับความสุขของประชากรโดยตรงอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุดประเทศประชาธิปไตยมีสิ่งที่เรียกว่า social security คือความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม ความมั่นใจว่า สิทธิ เสรีภาพของตน ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ประเทศประชาธิปไตยมีแนวโน้มในการวางผังเมือง และการจัดการบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข แก่ประชากรโดยรวมได้ดี

เมื่อหันกลับมาดูประเทศอย่างประเทศไทย ตามสถิติของไทย ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายมากคือ ปัญหาเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยที่รักษาไม่หาย

แต่เราลองมาสมมุติสถานการณ์ว่า หากคนที่เจ็บป่วย แม้รักษาไม่หาย แต่ระหว่างนั้นเขาได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ต้องเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย สมาชิกในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร

เช่น ไม่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่รถติดมาก ทำงานหนัก รายได้น้อย สมาชิกในครอบครัวก็ย่อมมีพลังเหลือมาดูคนป่วยได้มากกว่าคนที่ต้องปากกัดตีนถีบในเมืองที่เละตุ้มเป๊ะ และมีแนวโน้มจะทำให้ชีวิตเรายากขึ้น เหนื่อยขึ้นกว่าที่เคยเป็นเสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยากจน แถมยังมีความคิดก้าวหน้า เสรีนิยม คนป่วยยังอาจเลือกจบชีวิตของตนเองที่เรียกว่าการุณยฆาต

เป็นการตายที่ผ่านการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะจากโลกใบนี้ไปอย่างสง่างาม

นอกจากปัญหาความเครียด ปัญหาชีวิต ปัญหาการเรียน ความรัก ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ทำให้คนฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางจิตใจอารมณ์ หรือที่เรียกว่า mental illness ที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ ในชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม

และก็อีกนั่นแหละ หากปัญหา mental illness นี้เกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยังล้าหลัง ไม่พัฒนา เชื่อถือในผีสางนางไม้ คนที่ป่วยไข้เหล่านี้ก็จะถูกจับพรมน้ำมนต์แทนการไปหาจิตแพทย์

ความยากจน และความล้าหลังของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศด้อยพัฒนาก็จะซ้ำเติมเราด้วยการที่มีจิตแพทย์น้อยเกินไป ผู้คนรอบข้างขาดความรู้เกี่ยวกับความป่วยไข้แบบนี้

แถมยังอาจเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยการที่ทำให้จิตแพทย์ในประเทศ mix and match ความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยา และค่านิยมอนุรักษนิยมของสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

การรักษาโรคทางจิตใจในประเทศอนุรักษนิยมจึงมีการผสานการรักษาแบบวิทยาศาสตร์ไปกับการแก้กรรม นั่งสมาธิ หรือไม่ก็ถูกคนรอบข้างกดดันว่า “เครียดแบบนี้หัดเข้าวัดเข้าวาเสียบ้าง”

เมื่อไม่นานมานี้เอง เพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศเล่าให้ฟังว่า ลูกศิษย์เพิ่งฆ่าตัวตาย

ที่ช็อกคือ เป็นลูกศิษย์ที่เรียนดี กิจกรรมเด่น มนุษยสัมพันธ์ดี เพื่อนดี ครอบครัวดี ไปแข่งขันงานเกี่ยวกับวิชาการระดับโลกก็ไม่เคยพลาดรางวัล

เรียกได้ว่า หาเหตุผลที่จะฆ่าตัวตายไม่ได้เลย ทั้งไม่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า

แม้เราจะเคารพการตัดสินใจที่จะยุติชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมองว่า หากความปรารถนาจะยุติชีวิตนั้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ มันควรมีกลไกป้องกัน ช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรบ้าง

อันดับแรกที่ทุกมหาวิทยาลัยและทุกโรงเรียนควรมีคือ “ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา” ที่ไม่ใช่ครูแนะแนว แต่เป็น “จิตแพทย์” ที่เก่งจริงๆ เก่งในที่นี้หมายรวมถึงเป็นคนที่ใจกว้าง เข้าใจชีวิต มีความเป็นคนสมัยใหม่ เข้าใจโลก เพราะอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ ถ้าไปเจอจิตแพทย์แนวอนุรักษนิยมพวกศาสนานิยม มันจะเป็นอะไรที่น่ากลัวไปอีกแบบ ฉันไม่แน่ใจว่า ในระบบการศึกษาของเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แค่ไหน

อีกประเด็นหนึ่งที่ฉันเองก็คิดไม่ถึง นั่นคือเพื่อนอาจารย์บอกว่า แคมปัสของมหาวิทยาลัยที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองออกไป ทำให้นักเรียนโดดเดี่ยวและ “ไม่มีอะไรทำ”

เราบ่นกันมากเรื่องนักศึกษาชอบออกไปกินเหล้า รอบๆ มหาวิทยาลัยก็มีแต่ร้านเหล้า

แต่คำถามคือ แคมปัสที่มีเนื้อที่นับร้อยไร่ มหาวิทยาลัยได้ลงทุนสร้าง หรือออกแบบแคมปัสให้กลายเป็นสถานที่ที่จะให้นักศึกษาได้มีชีวิตในแคมปัสอย่างมีคุณภาพแค่ไหนอย่างไร

อย่างน้อยที่สุด มหาวิทยาลัยควรมีสวนสาธารณะ มีต้นไม้เยอะๆ มีหนองน้ำสวยๆ มีสนามกีฬา มีการออกแบบที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่รื่นรมย์ มีความสุข ไม่ใช่แคมปัสแดดร้อน เปรี้ยง เปรี้ยง เปรี้ยง ต่อให้ไม่มีความทุกข์อะไร เจอความร้อนแบบนี้ก็คงอยากฆ่าตัวตายเหมือนกัน

มหาวิทยาลัยไทยควรเป็นต้นแบบของการจัดการพื้นที่สาธารณะ ใช้บุคลากร องค์ความรู้ในหมาวิทยาลัย ทั้งวิศวะ สถาปัตย์ เกษตร และอื่นๆ เนรมิตแคมปัสให้เป็นโมเดลของการออกแบบเมืองขนาดย่อมที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิต

มีต้นไม้สวย ดอกไม้สวย มีอาหารอร่อย มีสถานที่ออกกำลังกายดีๆ มีโรงละคร คอนเสิร์ต ร้านกาแฟ มีหอศิลป์ มีร้านหนังสือ มีร้านขายของหัตถกรรม หัตถศิลป์ มีลานให้ปูเสื่อ นอนอ่านหนังสือใต้ต้นไม้

แต่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ นอกจากจะมีการออกแบบแลนด์สเคปที่อัปลักษณ์จนน่ายุบคณะสถาปัตย์ทิ้ง ยังมีต้นไม้น้อยอย่างน่าใจหาย ไม่นับประเพณีเน้นการทำป้ายใหญ่โต และวัตถุเพื่อเชิดชูอะไรที่มันเช้ย เชย เสมอมา

ก็นั่นล่ะ ฉันคิดว่า ปัญหาที่จะใหญ่มากของสังคมไทยในอนาคตคือ อัตราการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้น แปรผันตามความสุขที่ลดลง เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ความเป็นประชาธิปไตยที่ดับสูญ ผังเมืองที่พังพินาศ – ถามจริงๆ ว่าเราจะหาความสุขจากไหนในบ้านเมืองแบบนี้

อนาคตแบบประเทศกายอานา น่าจะอยู่แค่เอื้อมกระมัง