จิตต์สุภา ฉิน : แก่เกินไปสำหรับซิลิคอน แวลลีย์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่ซู่ชิงนั่งอยู่บนรถยนต์ส่วนตัวของพี่คนไทยใจดีคนหนึ่งที่กำลังขับพาซู่ชิงและช่างภาพวนหาร้านอาหารอร่อยในซานฟรานซิสโก

เราก็ได้คุยกันถึงเรื่องสภาพชีวิตและการทำงานของคนในแวดวงเทคโนโลยีในแถบซิลิคอน แวลลีย์ ว่ามันสวยหรูเหมือนภาพที่สื่อต่างๆ มักจะสะท้อนให้เห็นกันอยู่เนืองๆ หรือเปล่า

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือการเป็นคนทำงานในวัย 40 ขึ้นไป ที่ในอุตสาหกรรมอื่นจะมองว่าเป็นทรัพยากรอันมีค่าเนื่องจากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาตลอดชีวิตการทำงาน แต่ในวงการเทคโนโลยีกลับตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะวงการนี้มักจะเลือกคนหนุ่มสาวไฟแรงมากกว่าคนแก่ (กว่า) ที่มีประสบการณ์

ซู่ชิงเก็บบทสนทนานี้ไว้ในหัวและหยิบขึ้นมาครุ่นคิดอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดออกมาบนหน้ากระดาษเสียที

จนกระทั่งมาเจอบทความ “It’s Tough Being Over 40 in Silicon Valley” (การที่มีอายุเกิน 40 และอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ เป็นเรื่องที่หินมาก) บนเว็บไซต์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก บิสซิเนสวีก

ก็ทำให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

บทความนี้พูดถึงอายุเฉลี่ยของคนทำงานในสหรัฐ ว่าอยู่ที่ 42 ปี ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ดูสมเหตุสมผลมาก แต่พอลองหันมามองในซิลิคอน แวลลีย์ อายุเฉลี่ยที่ว่ากลับดิ่งลดลงจนน่าใจหาย

อายุเฉลี่ยของพนักงานบริษัท Apple อยู่ที่ 31 ปี

Google อยู่ที่ 30 ปี

Facebook และ LinkedIn อยู่ที่ 29 ปี หรืออ่อนกว่านั้น

และที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าบริษัทในซิลิคอน แวลลีย์ นั้นถึงขั้นไม่สนใจและไม่ไว้ใจพวกแก่ประสบการณ์เรซูเม่ยาวเหยียดกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอหน้าอ่อนที่เคยพูดออกมาเองเลยว่า “คนอายุน้อยกว่าก็ฉลาดกว่าไงล่ะ”

ซู่ชิงเคยเขียนถึงเรื่องความยากลำบากของการเป็นผู้หญิงในซิลิคอน แวลลีย์ เอาไว้แล้ว ว่าจะต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองหนักกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า

แต่ปัญหาเรื่องเหยียดไม่ได้จำกัดอยู่แค่เหยียดเพศเท่านั้น เพราะการเหยียดวัยก็เป็นสิ่งที่คนทำงานในแวดวงนี้ต้องประสบด้วยเหมือนกัน

สมมติว่าคุณเป็นผู้หญิงในวัย 40 ขึ้นไปที่ทำงานในซิลิคอน แวลลีย์ นอกจากจะมีแนวโน้มที่จะต้องรับมือกับการถูกเหยียดเพศแล้ว ก็น่าจะต้องเจอการถูกเหยียดวัยคูณเพิ่มเข้าไปด้วยอีก

ผู้สื่อข่าวของบลูมเบิร์กที่รายงานเรื่องนี้เล่าให้ฟังว่าคนที่อายุมากหน่อยในวงการนี้ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก

บางคนต้องเปลี่ยนการแต่งตัวใหม่ ถอดสูททิ้ง หันมาสวมเสื้อผ้าสีสดใส

บางคนถึงขั้นต้องไปศัลยกรรมโมหน้าใหม่เพื่อให้ดูเด็กลง

แต่ที่น่าสนใจคือเธอบอกว่ากลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปจะต้องยอม “ลบประสบการณ์ของตัวเองทิ้งไป”

ความหมายก็คือจะต้องไม่พูดถึงงานที่เคยทำมาก่อนในอดีต

อย่างเช่น พูดถึงว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยที่ตัวเองเริ่มทำงานใหม่ๆ เป็นยังไง

ให้ลืมประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเก่าๆ ที่ตัวเองเคยทำมาให้หมด แล้วหันมาเรียนรู้ศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ ดูหนัง ดูกีฬา ดูรายการทีวีฮิปๆ เขียนบล็อก เล่นโซเชียลมีเดียยอดฮิตทั้งหลาย แล้วก็ออกไปสังสรรค์ปาร์ตี้กับวัยรุ่นที่ทำงานบ่อยๆ ถ้าทำได้แบบนี้ถึงจะสามารถหางานใหม่ในซิลิคอน แวลลีย์ หรือรักษางานเดิมที่ตัวเองทำอยู่แล้วต่อไปได้ถึงแม้จะอายุขึ้นเลข 4 แล้ว

ผู้หญิงวัย 50 กว่าในบทความนี้ถึงกับพูดเอาไว้ว่า อย่าเผลอหลุดชื่อ จูลี่ แอนดรูวส์ ใน The Sound of Music ออกมาเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะถูกกันออกไปเป็นคนนอกทันที

โหดร้ายกันขนาดนั้น

ความน่าลำบากใจไม่ได้จบแค่นั้น สำหรับคนที่ปรับตัวไม่ได้และต้องรับผลกระทบจากการเหยียดวัยในซิลิคอน แวลลีย์ ไปเต็มๆ บางคนก็ไม่ได้เลือกที่จะเดินจากไปอย่างเงียบๆ แต่เลือกต่อสู้คดีกันทางชั้นศาล

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา มีบริษัทในซิลิคอน แวลลีย์ กว่า 150 แห่งที่ต้องเจอคดีความเรื่องการเลือกปฏิบัติทางอายุ โดยมีมากถึง 226 คำร้อง

ซึ่งมากกว่าข้อร้องเรียนเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์หรือการเหยียดเพศเสียอีก

แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะไม่ต่อสู้ทางกฎหมายเพราะหากสิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติ นายจ้างใหม่ที่ไหนจะอยากจ้างงานต่อ จะกลับตัวก็ไม่ได้ เดินต่อไปก็ไม่ถึงจริงๆ

ดังนั้น ออปชั่นของการทำตัวให้เด็กลงเพื่อให้ทำงานกับคนรุ่นลูกได้จึงเป็นออปชั่นที่ดูโอเคที่สุด

คนวัยเกิน 40 หลายคนเลือกที่จะไม่ใส่ปีจบการศึกษาหรืองานแรกๆ ที่เริ่มทำลงไปในเรซูเม่ แต่เลือกที่จะบิดนั่นนิด บิดนี่หน่อย เพื่อให้เรซูเม่ดูไม่สูงวัยเกินไป อย่างการเลือกระบุแค่งานที่ทำผ่านมาไม่นานไม่กี่งานก็พอ เปลี่ยนภาพโปรไฟล์ให้ดูแจ่ม ดูสาว ดูหนุ่ม

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าภาพรวมดูผ่าน บริษัทก็จะไม่ตะบี้ตะบันขุดคุ้ยข้อมูลเก่าๆ ออกมาสักเท่าไหร่

แน่นอนว่าปัญหาเรื่องเหยียดวัยไม่ได้อยู่แค่ในซิลิคอน แวลลีย์ อย่างเดียวแน่ๆ แต่ดูเหมือนกับว่าคนในอุตสาหกรรมนี้จะเจอหนักที่สุด การทำงานในบริษัทเทคโนโลยีนานๆ หมายความว่าคุณจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในรูปแบบนั้นๆ เพียงอย่างเดียว จนเรียนรู้ของใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาทุกวันไม่ทัน รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในโลกสมัยใหม่ไปเสียแล้ว

เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับคนวัย 40 อัพในวงการเทคโนโลยีก็คือการถูกปลดหรือเลย์ออฟจากงาน

เพราะถ้าหากทำงานในบริษัทใหญ่ๆ มานานสักสิบปี แล้วจู่ๆ ถูกปลด มีแนวโน้มสูงมากที่ทักษะที่คุณหยิบติดตัวมาพร้อมๆ กับกล่องใบใหญ่ใส่ข้าวของที่ต้องเก็บกวาดมาจากบนโต๊ะทำงานนั้นจะเป็นทักษะที่ล้าหลังไกลถึง 5-6 เจเนอเรชั่นไปแล้ว

และทางเลือกที่จะทำได้หลังจากถูกเลย์ออฟมีอยู่ 2 ทาง คือ รีบเทรนตัวเองให้มีทักษะด้านการเขียนโค้ด เขียนแอพ บิ๊กดาต้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นสกิลสำคัญในวงการขณะนั้นๆ หรืออีกทางหนึ่งก็คือเปลี่ยนอาชีพไปเลยโดยสิ้นเชิง

อ่านบทความนี้จบก็รู้สึกโหวงเหวงข้างในชอบกล

ซู่ชิงคิดว่าในอนาคตอีกไม่นานเทรนด์การเลือกวัยรุ่นเหนือผู้ใหญ่ก็น่าจะแผ่ขยายไปสู่วงการอื่นๆ มากขึ้น

ดูเหมือนกับว่านอกเหนือจากการพยายามลดอายุตัวเองให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการปรับเปลี่ยนลุคและพฤติกรรมแล้ว

อีกทางหนึ่งก็คือการต้องคอยฝึกฝนลับคมทักษะที่มีอยู่ไม่ให้ขาด และหาทักษะใหม่ๆ นอกวงการมาเติมไว้อยู่เสมอ

อาจจะเป็นการทำบัญชี ทำอาหาร ฝึกฝีมือช่าง เล่นหุ้น ลงทุน ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า อะไรก็ได้ที่พอจะเก็บเกี่ยวได้ในระหว่างทางก็กอบโกยเอาไว้ให้หมดค่ะ

เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสักวันหนึ่งทักษะไหนจะถูกหยิบมากลายเป็นอาชีพหลักทดแทนสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนคนที่ยังอยู่ในวัยรุ่นก็อย่าชะล่าใจ เวลามันเดินไปข้างหน้ารวดเร็วจริงๆ รู้ตัวอีกทีก็อาจจะย่างเข้าเลข 4 ไปแล้วโดยไม่ทันตั้งตัว